คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ พบตกเป็นเหยื่อนานกว่า 10 ปี มีหญิงหม้าย เด็กกำพร้าหลายพันคน เสนอรัฐบาลสร้างมาตรฐานการคุ้มครอง เยียวยาทุกรูปแบบ ด้าน ศปก.ทบ.ประชุมติดตามสถานการณ์ภาคใต้ สัปดาห์ที่ผ่านมาพบก่อเหตุ 7 เป็นเรื่องส่วนตัว 2 ขณะที่ “ทุ่งยางแดงโมเดล” คืบหน้า ระดับตำบล หมู่บ้าน ซ้อมทำความเข้าใจประชาชนแผนเผชิญเหตุ
วันนี้ (26 พ.ย.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเห็นว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ และการล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาที่พบทั่วไปในสังคมไทยและนับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานับเป็นเวลากว่า 10 ปี นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวางทั้งด้านร่างกายและจิตใจแล้วยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยผู้หญิงเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ปัจจุบันมีหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าหลายพันคนจากสถานการณ์ความไม่สงบและยังมีผู้หญิงและเด็กหญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยตรงจนถึงขั้นเสียชีวิตอีกจำนวนไม่น้อย ผู้หญิงที่เสียชีวิตเหล่านี้รวมถึงผู้หญิงที่เป็นบุคลากรทางสาธารณสุข หญิงมีครรภ์ หญิงพิการ หญิงสูงอายุและเด็กหญิง
นอกจากนี้ ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับความรุนแรงซ้ำซ้อนจากปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น ความรุนแรงทางเพศในครอบครัว เนื่องจากสังคมยังมองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว และสาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากผู้หญิงเอง จึงไม่มีมาตรการชัดเจนในการแก้ปัญหาเพื่อยุติความรุนแรงและการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง อีกทั้ง คณะกรรมการสิทธิฯ ยังพบว่า ผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎชุมชนซึ่งผู้นำชุมชนเป็นผู้ออกกฎระเบียบ เช่น มีการบังคับให้ผู้หญิงหรือเด็กหญิงแต่งงานโดยไม่สมัครใจ มีการลงโทษผู้หญิงหรือเด็กหญิงที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดขึ้น
ดังนั้น ในโอกาสวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี คณะกรรมการสิทธิฯ และคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างมาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้หญิง เพื่อป้องกันหรือลดระดับความรุนแรงที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ ความรุนแรงในครอบครัว หรือความรุนแรงทางเพศ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม ดังนี้
1. รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและสร้างมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงจากความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงให้มีการฟื้นฟู เยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ได้รับความรุนแรง 2. กลไกการทำงานในทุกภาคส่วนของสังคมต้องขจัดอุปสรรคต่างๆ ในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง ตามหลักกฎหมาย และหลักการศาสนาอิสลาม รวมถึงให้มีกระบวนการให้คำปรึกษาในทันทีที่ผู้หญิงและเด็กหญิงได้รับความรุนแรงทุกรูปแบบ
3. ให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของสตรีในการดำรงชีวิตและให้ความสำคัญกับการจัดตั้งครอบครัวเพื่อดำเนินชีวิตให้เป็นไปด้วยความอิสระปราศจากการบังคับ หรือ การคุกคามในทุกรูปแบบ 4. รัฐควรสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน โดยการปลูกฝังให้แก่เด็กและเยาวชนให้รู้จักการเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเสมอเป็นของตนเอง ทุกคนทุกเพศทุกวัยควรมองเห็นปัญหาร่วมกันและมีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหา
5. รัฐต้องจัดให้มีกลไกการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง สร้างความไว้ใจและความเชื่อมั่นให้กับสตรีในทุกพื้นที่ โดยต้องนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติมาปฏิบัติในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง และ 6. เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งเลิกใช้การต่อสู้ทางอาวุธและเคารพสิทธิของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กโดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชนในอิสลาม เพื่อให้ความคุ้มครองผู้หญิงและเด็กมีความปลอดภัย
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) วันนี้ (26 พ.ย.) มีการประชุมประชุมติดตามสถาการณ์ของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) หลังการประชุม พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงผลการประชุม ศปก.ทบ.ที่มี พล.ท.วิวรรธน์ สุชาติ รองเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.5) เป็นประธาน ในช่วงแรกของการประชุม กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้บรรยายสรุปผ่านระบบวิดีโอ (VTC) มีผลการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ จชต. ใน ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเกิดเหตุ 7 เหตุการณ์ แยกเป็นคดีความมั่นคง 4 เหตุ เรื่องส่วนตัว 2 เหตุ และอยู่ระหว่างตรวจสอบ 1 เหตุ การติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุ ตามหมายจับ ป.วิฯ อาญา 1 ราย ตามหมาย พ.ร.ก.ฯ 1 ราย และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 ราย สามารถตรวจพบแหล่งหลบซ่อนพักพิงของผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส จำนวน 6 หลัง พร้อมอุปกรณ์อื่นๆ หลายรายการ ส่วนกลุ่มงานพัฒนาชีวิตประชาชน จัดโครงการ “ติวเตอร์ขยับฝันแบ่งปันชายแดนใต้จังหวัดนราธิวาส”
พ.อ.บรรพตกล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มงานพัฒนาศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน ได้ซ่อมแซมบ้าน วัด มัสยิด รวม 9 แห่ง ให้บริการทางการแพทย์และทันตกรรมเคลื่อนที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 3,964 ราย ด้านการศึกษา ได้ร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอและส่วนงานการศึกษาจัดโครงการ “ติวเตอร์ขยับฝันแบ่งปันชายแดนใต้จังหวัดนราธิวาส” มีนักเรียนเข้าร่วม 132 คน กลุ่มงานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ ให้การต้อนรับเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและคณะพร้อมชี้แจงการดำเนินงานของหน่วย กลุ่มงานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย ได้ประชุมกำหนดมาตรการการรักษาความปลอดภัยครู บุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษาในพื้นที่ จ.ปัตตานี ร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษา หน่วยงานด้านความมั่นคง นายอำเภอ และสมาพันธ์ครู 3 จชต.
พ.อ.บรรพตกล่าวต่อว่า ความคืบหน้าการดำเนินการ “ทุ่งยางแดงโมเดล” ได้ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุในระดับตำบลและหมู่บ้านตามโครงการ “หมู่บ้านต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง” เพื่อให้ภาคประชาชนได้ร่วมคิด ร่วมทำในการรักษาความปลอดภัยชุมชนของตนเองและมีความเข้าใจตามแผนเมื่อเกิดเหตุการณ์ ในส่วนของ ศอ.บต.ได้จัดกิจกรรม “รวมพลังผู้หญิง เด็ก เยาวชนชายแดนใต้ ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ” ปีที่ 5 และมอบทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การดำเนินการซ่อมปรับปรุงถนนที่ชำรุดในพื้นที่ จชต.จำนวน 37 เส้นทาง ใน 37 อำเภอ โดยหน่วยทหารช่าง ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 24 พ.ย. 2557 โดยกรมการทหารช่างดำเนินการที่ อ.จะนะ จ.สงขลา กองทัพภาคที่ 1 ดำเนินการที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส กองทัพภาคที่ 2 ดำเนินการที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการที่ อ.เมือง และ อ.รามัน จ.ยะลา และกองทัพภาคที่ 4 ดำเนินการที่ อ.ศรีสาคร, อ.จะแนะ, อ.สุไหงโก-ลก และ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินการก่อสร้างทั้งโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2558