xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายสตรี ชี้ร่าง รธน.ใหม่ต้องกำหนดความเสมอภาคระหว่างเพศให้ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้หญิง ชงบรรจุมิติความเสมอภาคระหว่างเพศลงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ชัด เน้นครอบคลุมคุ้มครองสิทธิผู้หญิงทุกด้าน พร้อมรวมกลุ่ม WeMove ปลุกพลังสตรีเกาะติด-ตรวจสอบ-วิจารณ์ การร่าง ระบุต้องไม่จำกัดแค่นักกฎหมายแต่ต้องให้ภาคประชาชนมามีส่วนร่วมด้วย ด้าน“สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ” ระบุควรใช้โอกาสนี้ผลักดัน และเพิ่มเนื้อหากลุ่มคนหลากหลายทางเพศหวังเกิดความเสมอภาคเท่าเทียม

วันนี้ (23ต.ค.) เมื่อเวลา09.00น. ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย UN Women International Republican Institute ( IRI) ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove) และศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาค จัดงานสัมมนา “การรณรงค์ผลักดันให้เกิดมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการสร้างพื้นที่ปฏิรูปของผู้หญิง” เพื่อระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายผู้หญิงจากทั่วประเทศ เกี่ยวกับกรอบเนื้อหาสำคัญสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อผลักดันการคุ้มครองสิทธิผู้หญิง และขับเคลื่อนเครือข่ายผู้หญิงทั่วประเทศให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้หญิงหลายภาคส่วนรวมตัวกันผลักดันเนื้อหารัฐธรรมนูญปี 2540และปี 2550ให้ มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับผู้หญิง อาทิ ความเสมอภาคระหว่างเพศ กระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมกับผู้หญิงในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ การมีส่วนของประชาชนที่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงและชายที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้เข้ามาบริหารประเทศ และประกาศยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม และเตรียมร่างฉบับใหม่ เราจึงต้องการให้มี 3ฐานในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ1.หญิงและชายต้องมีความเท่าเทียมกัน 2.ห้ามเลือกปฏิบัติ 3.มาตรการพิเศษเพื่อเอื้อโอกาสให้ประชาชน เนื่องจากเกรงว่าจะมีกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจหาทางยกร่างเหล่านี้ออกไปอีก ขณะเดียวกัน ยังคงขอให้ยึดหลักการเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2540และปี 2550คือต้องดูแลความรุนแรงในครอบครัว

การร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรตีกรอบแค่นักกฎหมาย หรือจำเป็นต้องเป็นนักกฎหมายเท่านั้น แต่ควรเป็นบุคคลจากหลากหลายกลุ่ม ที่สำคัญบทบัญญัติต้องครอบคลุมสิทธิความเสมอภาค ต้องมีส่วนร่วมจาก ผู้หญิงที่มีมากกว่าครึ่งประเทศ ให้มีสิทธิลุกขึ้นมาส่งเสียง เกาะติด ตรวจสอบ วิจารณ์ และเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะให้สังคมได้เข้าใจ อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญมีผลต่อกฎหมาย ต่อทัศนคติ ต่อการส่งเสริมมิติต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปต่อไป ที่น่าหนักใจอยู่ในขณะนี้คือกระบวนการต่างๆยังไม่ชัดเจน เช่น ผู้หญิงถูกผลักออก กลไกไม่เปิดช่องรับฟังความคิดเห็นเท่าที่ควร และการพิจารณาที่เร็วจนเกินไป”นางสุนี  กล่าวและว่า ที่ผ่านมาเรามีคำขวัญที่ใช้มาตลอด คือ “รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีสตรีร่วมร่าง” ในสัดส่วนที่จำเป็นซึ่งภาครัฐกำลังตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างอาจจะไม่มีผู้หญิงหรือมีไม่มาก แต่เวลานี้ได้มีการรวมตัวของเครือข่ายผู้หญิงจากหลากหลายอาชีพเป็น “ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย”(WeMove) คอยติดตามตรวจสอบและขยายเครือข่ายร่วมรณรงค์ผลักดันเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม หวังว่าคสช. คณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะให้ความสำคัญบัญญัติมิติความเสมอภาคระหว่างเพศไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย

ด้าน นางทิชา ณ นคร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการศึกษา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ทุกฝ่ายย่อมต้องการผลักดันแก้วิกฤติที่กระทบต่อสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น รัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่แก้ปัญหาโครงสร้างที่เป็นอุปสรรค เช่น ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงทรัพยากร ความเสมอภาคระหว่างเพศหรือกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แม้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมจะเขียนเอาไว้แล้ว แต่แนวทางปฏิบัติยังไม่ชัดเจน ที่ผ่านมาหากย้อนดูรัฐธรรมนูญปี 2540ได้ใส่เนื้อหาความเสมอภาคเข้าไป เมื่อไม่ชัดเจนจึงเกิดความพยายามรณรงค์เคลื่อนไหว โดยเฉพาะผู้หญิงระดับรากหญ้า ท้องถิ่น ได้กระโดดเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น เพื่อช่วยตัดสินใจในประเด็นที่สำคัญต่อชีวิตของผู้หญิงและเด็ก อย่างไรก็ตาม ควรใช้โอกาสนี้นำไปสู่การปรับโครงสร้างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากไม่ผลักดันเท่ากับเสียโอกาสทางสังคมและมีผลกระทบเป็นวงกว้างตามมา ซึ่งผู้หญิงมีความละเอียดอ่อน อยู่กับปัญหามาเยอะมาก คงไม่มีใครถอดประเด็นนี้ออกไป

ขณะที่ น.ส.สุเพ็ญศรี  พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาค และที่ปรึกษาโครงการศูนย์ช่วยเหลือสังคมโอเอสซีซี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าไทยยังไม่มีกฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างเป็นรูปธรรม จึงทำให้เหตุการณ์ความรุนแรง ปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย และกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหากจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นและคุ้มครองสิทธิผู้หญิงและกลุ่มหลากหลายทางเพศบัญญัติเข้าไปด้วย ขณะเดียวกันต้องมีกฎหมายลูกที่ระบุถึงความเสมอภาค รวมถึงการจัดระบบใหม่เพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง

“เดือนหน้าเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี เราต้องกลับมาทบทวนสิ่งที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบหรือความลำบาก เพื่อช่วยลดข้อจำกัด สร้างบรรทัดฐาน เวทีครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เครือข่ายผู้หญิงและภาคส่วนต่างๆได้มาพูดคุยเพื่อหาทางออก นำปัญหาไปสู่การแก้ไขและบรรจุพิมพ์เขียวไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งประเด็นผู้หญิง การมีส่วนร่วม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม มีการนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต้องถูกนำไปปฏิบัติ จากนี้ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทยจะรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และขอความร่วมมือจากเครือข่ายทั่วประเทศลุกขึ้นมามีส่วนร่วมรณรงค์ในโอกาสปฏิรูปประเทศและยกร่างรัฐธรรมนูญ”น.ส.สุเพ็ญศรี  กล่าว
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

อย.ทลายแหล่งผลิต-ร้านขายเครื่องสำอางปลอม

ดูบน Instagram



กำลังโหลดความคิดเห็น