ประเด็นข่าวเจนี่เหมือนๆ จะกลายเป็นวิกฤตชาติไปแล้วในยุคประกาศ คสช. 97/2557
ข่าวคราวของดาราสาวที่เป็นประเด็น Talk of the town มาทั้งสัปดาห์เนื่องจากมีรูปคล้ายเธอถูกเผยแพร่ออกมาเสมือนเป็นการฟ้องร้องต่อสังคมว่าเธอถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งก็แน่นอนว่าคนที่ถูกสงสัยมากที่สุด ก็คือ สามีคนดังทายาทนักการเมืองใหญ่แห่งเมืองปากน้ำ จนกระทั่งนำมาสู่การหย่าขาดจากกันในที่สุด
หากกรณีนี้เกิดขึ้นกับชาวบ้านไร้ชื่อเสียงเรียงนามก็คงไม่กระไรนัก แต่นี่ดันไปเกิดขึ้นกับดาราสาวภรรยาคนดังทายาทนักการเมือง เรียกว่าดังทั้งคู่ จึงทำให้ข่าวชิ้นนี้กลายเป็นข่าวใหญ่และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแทบจะรายวันทีเดียว !
ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลจาก UN Women ในหัวข้อ “2011-2012 Progress of the World's Women: in Pursuit of Justice” พบว่า ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเฉพาะในครอบครัวช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2544 - 2553) โดยประเด็นความรุนแรงทางเพศต่อคู่สมรสของตนเอง จาก 71 ประเทศ ไทยอยู่ลำดับที่ 7 หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ที่ผู้หญิงถูกทำร้ายจากคนรัก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นความรุนแรงทางเพศมากที่สุด
ที่น่าตกใจก็คือ ความเชื่อที่ว่าสามีตีภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ปรากฏว่าประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นอันดับ 2 จาก 49 ประเทศ
และ..ความเชื่อที่ว่าสามีตีภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ติดอันดับโลกที่ว่านั้น ก็เป็นอีกหนึ่งความเชื่อและทัศนคติที่เป็นอุปสรรคอย่างมากในการแก้ปัญหาความรุนแรงในบ้านเรา ทั้งยังเป็นทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อความรุนแรงด้วย
แล้วทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อความรุนแรงมีอะไรบ้าง
หนึ่ง - ทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมที่ฝังรากลึกว่าภรรยาเป็นสมบัติของสามี ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ สามารถกระทำความรุนแรงได้ เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว
สอง - ทัศนคติที่ว่าไม่ใช่เรื่องของตน ด้วยความที่ปัจจุบันเป็นสังคมตัวใครตัวมัน หลายครั้งที่ผู้คนเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งในที่ปิดและที่สาธารณะ แต่ด้วยทัศนคติที่ว่าไม่อยากยุ่ง ไม่ใช่เรื่องของตน ธุระไม่ใช่ หรือเกรงว่าตัวเองจะเดือดร้อน ก็เลยเพิกเฉยดีกว่า
สาม - ทัศนคติที่ยอมจำนน เพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กให้เชื่อฟังพ่อแม่ เชื่อฟังคุณครู เชื่อฟังผู้นำ เชื่อฟังเจ้านาย ฉะนั้น เมื่อผู้นำเหล่านั้นไม่ดีหรือกระทำความรุนแรงต่อเด็กๆ ที่เติบโตมาเช่นนี้ เด็กเหล่านี้ก็มักจะไม่ตอบโต้ มีแนวโน้มยอมจำนนต่อสถานการณ์ จนกว่าจะมีผู้พบว่าถูกกระทำ เราจึงมักพบเห็นข่าวคราวในท่วงทำนองลูกศิษย์ถูกกระทำความรุนแรงจากคุณครู หรือลูกน้องถูกทำร้ายจากเจ้านาย
สี่ - ทัศนคติและเจตคติของผู้คนในสังคมมีแนวโน้มประณามผู้หญิงและเด็กว่าเป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง จนผู้เสียหายไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเพราะรู้สึกอับอาย ต้องทนรับสภาพปัญหาเพียงลำพัง และถูกกระทำซ้ำๆ แบบหาทางออกไม่ได้ จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมก็มีให้เห็น
ห้า - ทัศนคติต่อการสร้างสังคมที่ดีที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้คนยังขาดความตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในสังคม มองไม่เห็นว่าเป็นปัญหา และการเพิกเฉยนั่นแหละสุดท้ายก็กลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาไปในที่สุด
และเมื่อทัศนคติเหล่านี้ยังคงมีอยู่ นั่นหมายความว่านอกจากคู่กรณีที่กระทำความรุนแรงต่อกันแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบที่ตามมาก็คือ เด็ก หรือลูกของตนเอง เพราะต้องเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความรุนแรงในครอบครัว เห็นพฤติกรรมของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้าน เท่ากับเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางตรงอีกต่างหาก
ในที่นี้ขอใช้กรณีที่เกิดขึ้นกับดาราสาวเจนี่ เพื่อนำมาเป็นบทเรียนพูดคุยกับลูก แล้วชวนปลูกฝังให้ลูกปลอดความรุนแรงได้อย่างไร
ประการแรกแบบอย่างที่ดี
พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา แต่ควรใช้การพูดคุยด้วยท่าทีที่ต้องการแก้ไขปัญหาแบบไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ควรใช้การหันหน้าเข้าหากันเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก และเป็นการป้องกันมิให้เด็กใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาของเขาด้วย
ประการที่สองรู้ทันอารมณ์ตัวเอง
ฝึกให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง ดีใจ เสียใจ โกรธ ฯลฯ เมื่อรู้จักอารมณ์ของตัวเอง ก็ค่อยๆสอนให้ลูกจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง เช่น เสียใจ ก็ร้องไห้และระบายความรู้สึกให้ผู้อื่นฟัง เมื่อโกรธก็ฝึกให้สงบสติอารมณ์แล้วค่อยพูดคุยกัน แต่ถ้าลูกโกรธแล้วก้าวร้าว หรือปาข้าวของ ก็จะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ จนกว่าจะสงบและพูดคุยกันด้วยเหตุผล โดยต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเป็นวัยเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ ควรฝึกฝนให้เด็กรู้จักควบคุมตนเองตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ให้เด็กได้รู้ถึงคุณค่าของตนเอง
ประการที่สามเวลาคุณภาพ
เรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก ในที่นี้ขอเน้นว่าต้องเป็นเวลาคุณภาพด้วย เพราะจะทำให้ครอบครัวได้ใกล้ชิดและรู้จักพื้นนิสัยของกันและกัน ลูกอาจมีพื้นนิสัยใจร้อน ก็จะได้มีเวลาพูดคุยและพยายามหาทางปรับพฤติกรรม มีเวลาพูดคุยปรึกษาหารือกันได้เมื่อเกิดปัญหา หรือความคับข้องใจ และพ่อแม่ก็พร้อมที่จะให้คำชี้แนะที่เหมาะสมด้วยเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์แก้ปัญหา
ประการที่สี่ไม่เสพสื่อโดยลำพัง
ปัจจุบันสื่อสารมวลชนบ้านเราก็มีปัญหาในการนำเสนอข่าวสาร หรือละครที่มีฉากความรุนแรง ก้าวร้าวมากมาย ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าเด็กที่ภูมิต้านทานชีวิตต่ำ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้น ซึ่งก็มีข่าวคราวที่เด็กตกเป็นเหยื่อของการเลียนแบบสื่อที่ไม่เหมาะสมมากมาย
ประการที่ห้าสังเกตพฤติกรรมลูก
การสังเกตพฤติกรรมลูกมีความจำเป็น แต่มีความแตกต่างจากการจับผิดนะคะ การสังเกตต้องเป็นไปด้วยความเมตตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลูกเข้าสู่วัยก่อนวัยรุ่นหรือวัยรุ่น ต้องหมั่นพูดคุย สอบถาม และเป็นเพื่อนลูก
นำเรื่องเจนี่มาเป็นประโยชน์ในการพูดคุยกับลูกตามแนวนี้ก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะไหน ๆ เราก็หนีข่าวไม่พ้นแล้วนี่นา แปรวิกฤตเป็นโอกาสเสียเลยดีกว่า !
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่