รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา “36 อรหันต์” คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี “ดร.ปื๊ด’ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นหัวโจก ยกโขยงพากันไปเปลี่ยนบรรยากาศจากห้องสี่เหลี่ยมแคบๆที่รัฐสภา ปักหลักกันอยู่ที่พัทยา จ.ชลบุรี หวังอาศัยชายหาด แสงแดด และคลื่นลม สุมหัวกันเขียน “กติกาประเทศ” หวังให้ไอเดียบรรเจิด สาระพุ่งพรวด
แม้จะอยู่ไกล แต่อัพเดตความเคลื่อนไหวกันอยู่ตลอด ขยันขันแข็งพิจารณากันค่ำมืดดึกดื่น ตามไทม์ไลน์ล่าสุดมีนาคมนี้เนื้อสำคัญๆ จะเสร็จ ฉบับแรกจะโผล่ออกมาตามปฏิทิน 120 วันในเดือนเมษายนเป๊ะ ไม่มีวืด
ขณะที่บางเนื้อหาเคาะแล้วเคาะอีก ต้องปรับแก้หลังจากโดนท้วงติง โดยเฉพาะเรื่องนักการเมืองไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค ที่“ประชาธิปัตย์” พร้อมพรรคการเมืองอื่นๆ สามัคคีกันกระทุ้งโดยไม่ได้นัดหมาย
ตามปรากฎการณ์กลับลำไปกลับลำมา ในภาพบวกได้คะแนนเรื่องรับฟังเสียงท้วงติง อะลุ่มอล่วย ในภาพลบ กมธ.ยกร่างฯ ดูไม่เป็นตัวของตัวเอง ยังเกรงอกเกรงใจพรรคการเมือง จนอาจทำเสียขบวนได้
รัฐธรรมนูญฉบับที่ใครคาดหมายว่า เขี้ยวลากดิน แข็งโป๊กที่สุดเคยมีมา เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนล็อกเอาไว้ให้ยกร่างให้ตึงเปี๊ยะห้ามหย่อน โดยเฉพาะกลไกลป้องกันการทุจริต กลไกป้องกันนักการเมืองขี้ฉ้อมาเดินเพ่นพล่านในสนามเลือกตั้งอีก กลไกป้องกันเผด็จการพรรคการเมือง
ไปๆ มาๆ อาจกลายเป็นร่างฉบับวิน - วิน ระหว่างความถูกต้องกับความพอดีของนักการเมืองเสียแล้ว
ตามคิวที่ “อ.แก้ว” แก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ในหมวกแกนนำกลุ่มไทยสปริง โพล่งออกมากระแทกพุ่งตรงไปที่ “ดร.ปื๊ด” แบบจำเพาะเจาะจงว่า ก่อวิกฤตแล้วยังเสนอหน้ามาแก้ไขปัญหาชาติ กลายเป็นรายการ “คนกันเอง” ชกออกอากาศแบบได้เนื้อได้หนัง
ถอดรหัสเนื้อหาที่ “อ.แก้ว” สะกิด แม้จะตรงไปตรงมาแบบขวานผ่าซาก ออกรสดุ เด็ด เผ็ด มัน เหมือนไม่เกรงอกเกรงใจกันราวกับเป็นขั้วตรงข้าม แต่จุดมุ่งหมายน่าจะตั้งใจสื่อความหมายถึงความห่วงใยกับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ที่อาจออกอ่าวออกทะเลกันได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่อยู่ในห้วงโค้งสุดท้ายแล้ว
ไม่มองโลกในแง่ร้ายถือว่า เป็นการเตือนระหว่างที่ยังแก้ได้ ดีกว่าเตือนตอนร่างกันเสร็จสิ้นแล้ว หากใจกว้าง ไม่ถืออัตตาเป็นใหญ่ “ดร.ปื๊ด” และ “35 อรหันต์” น่าจะเงี่ยหูฟัง ใส่บ่าแบกหามเอาไว้สักหน่อย
เพราะมีบทเรียนมาแล้วตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ฉบับที่นักการเมืองเสพติด ยกเครดิตให้สุดยอดตลอดกาล ซึ่ง “ดร.ปื๊ด” ตอนนั้นในฐานะเลขานุการกมธ.ยกร่างฯ เป็นคีย์แมนสำคัญในการเขียนกันขึ้นมา จนสุดท้ายกลายเป็นเพิ่มอำนาจให้แก่พรรคการเมืองใหญ่โตกันคับบ้านคับเมือง
สิ่งที่ “อ.แก้ว” กระตุกล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีการมโน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่ง “ดร.ปื๊ด” และทีมงานตั้งใจเอาไว้ดิบดีว่า จะเป็นฉบับที่ส่งเสริมประชาธิปไตยจนสุดลิ่ม แต่สุดท้ายกลายเป็นประชาธิปไตยในคราบเผด็จการรัฐสภาแบบสุดซอย
พรรคการเมืองเข้มแข็งเหนือ ส.ส. รัฐบาลเข้มแข็งเหนือฝ่ายค้าน กลายเป็นการไปสร้างหลักประกันการลงทุนทางการเมืองของนายทุน จนกลายเป็นทรราชจากหีบเลือกตั้งที่แข็งขืนต่อกฎหมายตลอดเวลาด้วยยันต์กันผีว่า มาจากการเลือกตั้ง
แล้วหากจะนับว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลายเป็นต้นกำเนิดของระบอบทักษิณก็ไม่ผิด เพราะพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นหลังจากนั้น เกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมือง “รัฐบาลทักษิณ” ใช้อำนาจเสียงข้างมากเสาะแสวงหาประโยชน์ทุกช่องทางที่เปิดอ้า โดยที่ฝ่ายตรวจสอบอ่อนแอ ไม่อาจแตะต้องอะไรได้เลย
มีการลุแก่อำนาจ จนสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอีกกลุ่มลุกฮือขึ้นมาประท้วงบนท้องถนน เกิดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทั่งจบด้วยการรัฐประหาร กงล้อความขัดแย้งทางการเมืองหมุนมาซ้ำๆ ห้วงเวลาไม่ถึง 10 ปี มีการรัฐประหารไปแล้ว 2 ครั้ง แล้วยังไม่รู้ว่า จะหยุดยั้งวงเวียนนี้ได้อย่างไร
หากรอบนี้จะเขียนแบบรอมชอม วิน - วิน หวังเพียงปรองดองที่ไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่ จนลืมหลักการสำคัญ ไม่ทำให้นักการเมืองเกรงกลัวกฎหมาย และละอายแก่การทำชั่ว การรัฐประหารและเขียนกติกากันใหม่จะเป็นเพียงการบรรเทาอาการไข้ ไม่ได้รักษาให้หายขาด
ดังที่ อดีตกรรมการ คตส. เหวี่ยงไว้ตรงประเด็น “คสช.ควรต้องยืนให้ชัดว่ากำลังจะไล่เผด็จการออกจากประชาธิปไตย ซึ่งหนึ่งมาตรการสำคัญในนั้น ก็คือการใช้กฎมายอย่างเฉียบขาด ทั่วถึง และฉับพลัน ไม่ใช่เอาแต่อ้าปากบอกผู้คนให้ยึดถือกฎหมายกันเท่านั้น ยิ่งคดีคอร์รัปชั่นต้องสปีดสูงสุดเลย”
แม้ในมุมหนึ่ง การกระตุกของ “อ.แก้ว” จะออกมาในลักษณะพวกสุดโต่งที่อยากจะถอนรากถอนโคน “ระบอบทักษิณ” ให้สิ้นซากใจแทบขาด แต่หากตัดเรื่องตัวบุคคลออกไป เหลือไว้แต่หลักการ มันก็เป็นไอเดียที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการล้างกระดานการเมืองให้สะอาดจากทีแรกอยู่แล้วมิใช่หรือ ก็ขึ้นอยู่กับ “ดร.ปื๊ด” และทีมงานที่ต้องทบทวนว่า ทุกวันนี้ยังเดินไปเป้าหมายที่วางเอาไว้หรือไม่
ยังมีโอกาสจะล้างความผิดพลาดของตัวเองในอดีตอยู่!!!
อย่างกรณีตั้งคณะกรรมการปรองดองบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญถาวรก็เช่นเดียวกัน แม้ความตั้งใจดีหวังให้เกิดความสงบสุข แต่วิธีการที่สุดจะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ โดยเฉพาะการหันมาใช้คำว่า “อภัยโทษ” แทน “นิรโทษกรรม” คำอาถรรพ์ที่ทำบ้านเมืองพินาศมาหลายรอบ จะได้รับความไว้วางใจจริงหรือเปล่า
ต่อให้การอภัยโทษบังคับว่า จะต้องรับโทษก่อนจึงจะได้รับอภัยโทษได้ แต่ยังมีเสียงอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยการกรณีของการทุจริต หรือคดีอาญาร้ายแรง ที่สุดมันอาจต้องล้มครืนไม่เป็นท่าอีกครั้งหรือไม่
ปรองดองจะเป็นเพียงนโยบายลมปากที่ยากจะเกิดขึ้นในสังคม!!!
อีกจุดที่น่าสนใจคือ การตั้งใจบรรจุคณะกรรมการปรองดองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ชักถูกมองว่า เป็นการวางกลไกสืบทอดอำนาจในอนาคต ผ่านตัวละครกรรมการคนอื่นๆ ที่จะมานั่ง ไว้ค้ำยันกับนักการเมืองในยุคเลือกตั้งหลังจากนี้
สาระสำคัญต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่จึงน่าเป็นห่วงไม่เป็นน้อยว่า ที่สุดแล้วอาจจะโดนคัดค้านและโดนรื้อในหลายจุดในขั้นตอนเสนอญัตติขอแก้ไขหรือไม่ ยิ่งหากสังคมในช่วงจังหวะนั้นเกิดอาการแอนตี้เนื้อหา
ดังนั้น การออกมาของ “อ.แก้ว” จึงน่าสนใจไม่น้อย และบางทีอาจเป็นตัวแทนของอีกหลายๆ เสียงที่กำลังไม่พอใจอยู่ก็เป็นได้ โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองที่เป็นคนกันเอง
แน่นอนการออกมาด่า “ดร.ปื๊ด” ฉาดใหญ่ ไม่ได้ทำให้เก้าอี้สั่นคลอนได้ ซึ่งตรงนั้น “อ.แก้ว” รู้อยู่เต็มอกแน่ แต่น่าจะหวังเพียงสะกิดให้มีการทบทวนหลักคิดกันเสียใหม่ โดยเฉพาะกมธ.ยกร่างฯ ในฐานะผู้เขียน กับ คสช.ในฐานะผู้มีอำนาจตัดสินใจคุมหางเสือของประเทศอยู่ อย่าหลงลืมหลักการใหญ่ขจัดเผด็จการในคราบประชาธิปไตย
เตือนในขณะที่ยังทัน ไม่ฟังก็ตามใจ!!!