xs
xsm
sm
md
lg

โครงการทวาย ยังไม่มีคำตอบจากญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก่อนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตตี จะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ มีความคาดหวังกันว่า การเดินทางไปครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนนสำคัญของโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่หยุดชะงักมานานกว่า 4 ปีแล้ว

จุดเปลี่ยนที่ว่านี้ก็คือ คำมั่นสัญญาจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่า จะเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการทวายนี้

โครงการทวายมีขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูงมาก เกินกำลังของบริษัทอิตาเลียน ไทย หรือ ไอทีดี ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่า ให้เป็นผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งมีพื้นที่ถึง 2 แสนไร่ หรือแม้แต่รัฐบาลไทย จำเป็นต้องชักชวนต่างชาติเป็นผู้ร่วมลงทุนด้วย

ต่างชาติที่ว่านี้ก็คือ ญี่ปุ่น แต่ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นแสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่สนใจที่จะลงทุนในโครงการทวาย เพราะญี่ปุ่นกำลังพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ติละวา” ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งเพียง 25 กิโลเมตรเท่านั้น และมีขนาดเล็กกว่า โครงการทวายถึง 10 เท่า โดยตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาดำเนินโครงการ มีฝ่ายพม่าถือหุ้นใหญ่ 51 % ฝ่ายญี่ปุ่นถือหุ้นโดยเอกชนคือ บริษัทมิตซูบิชิ มารูเบนี และสุมิโตโม

ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจประจำพม่า ของญี่ปุ่นบอกว่า ญี่ปุ่นจะรอให้การพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดในปี 2558 เสียก่อน หลังจากนั้น จึงค่อยพิจารณาว่า จะลงทุนในโครงการทวายหรือไม่อย่างไร

นั่นคือ การปฏิเสธอย่างนิ่มนวล

รัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าลงนามในเอ็มโอยู ข้อตกลงร่วมมือในการพัฒนาโครงการนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ซึ่งเรียกกันว่า เอ็มโอยู 51 รัฐบาลไทยจะสนับสนุนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรมและเส้นทางคมนาคม ได้แก่ ถนน รถไฟ สายส่งไฟฟ้า ท่อก๊าซและท่อน้ำมัน เชื่อมต่อระหว่างเมืองทวายกับชายแดนไทย-พม่าที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลพม่า ให้เป็นผู้พัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า โดย ไอทีดี ลงนามร่วมกับการท่าเรือพม่า ในฐานะคู่สัญญา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553

หลังจากนั้นอีก 2 เดือน รัฐบาลพม่าได้ออกฎหมายกำหนดให้ท่าเรือทวาย และนิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่พิเศษหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนี้

ภายใต้ข้อตกลงระหว่าง ไอทีดี กับการท่าเรือพม่า ไอทีดี จะได้สิทธิในการบริหารจัดการโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย บนพื้นที่ประมาณ 2 แสนไร่ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสหภาพพม่า ห่างจากเมืองทวาย ประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในมาบตาพุดถึง 10 เท่า เป็นเวลา 75 ปี ประกอบด้วย โครงการหลักๆ 4 โครงการ คือ 1. ท่าเรือน้ำลึก 2.นิคมอุตสาหกรรม 3. เส้นทางการคมนาคม ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เชื่อมระหว่างเมืองทวาย สหภาพพม่า กับประเทศไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี และ 4.ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์การท่องเที่ยว รีสอร์ท และศูนย์พักผ่อน

เวลาผ่านไปหลายปี โครงการทวายไม่สามารถแจ้งเกิดได้เสียที จนรัฐบาลพม่าตัดสินใจลดขนาดโครงการลง เหลือเพียง 30,000 ไร่ แต่จนแล้วจนรอด โครงการทวายก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

เดือนตุลาคมปีที่แล้ว พลเอกประยุทธ์ ไปเยือนพม่า หัวข้อหนึ่งในการเจรจาคือ โครงการทวาย แต่ก็ไม่ปรากฏความคืบหน้า หรือผลการเจรจาแต่อย่างใด

การไปเยือนญี่ปุ่นเที่ยวนี้ สิ่งที่ได้ติดไม้ติดมือกลับมาคือ บันทึกแสดงเจตจำนง (เอ็มโอไอ) ความร่วมมือในการพัฒนาระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย–ญี่ปุ่น และ บันทึกความร่วมมือ ในการส่งเสริมการทำธุรกิจและการลงทุนของไทยในญี่ปุ่น เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้มีความมั่นคงยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักการกว้างๆ ว่าจะร่วมมือกันในเรื่องอะไรบ้าง

โครงการทวาย ถูกยกเป็นตัวอย่าง ในเรื่องบันทึกความร่วมมือ ในการส่งเสริมการทำธุรกิจและการลงทุนของไทยในญี่ปุ่น ในขณะที่ ความร่วมมือเรื่องระบบราง ทางรถไฟจากสระแก้ว ไปบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเชื่อมต่อกับทวาย เป็นเพียง ตัวเลือก 1 ใน 3 เส้นทางที่ญี่ปุ่นยังไม่ตัดสินใจว่า จะลงทุนในเส้นทางไหน

สรุปแล้ว หลังการเยือนญี่ปุ่นของ พลเอกประยุทธ์ ท่าทีของญี่ปุ่นต่อโครงการทวาย ยังเหมือนเดิมคือ Wait and see .




กำลังโหลดความคิดเห็น