xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ถก ปธ.สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ยันเร่งรัดปฏิรูป ขอให้เชื่อมั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายซาดายูกิ ซาคากิบาระ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีและนายฮิโรมิจิ อิวาสะ Chairman of the Board of Councillors ในฐานะผู้แทนของสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวัน
ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น พบนายกฯ คุยลงทุน “ประยุทธ์” ยันรัฐบาลเร่งรัดปฏิรูปขอให้เชื่อมั่นโรดแมป คาดเศรษฐกิจไทยดีขึ้น หวังแสวงการความร่วมมือให้แน่นแฟ้นขึ้น ขอสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การวิจัยและการพัฒนา ก่อนถกบิ๊กมิตซูบิชิ-ฮอนด้า

วันนี้ (9 ก.พ.) ที่สำนักงานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเวลา 11.00 น. นายซะดะยุกิ ซะคะกิบะระ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น และนายฮิโระมิชิ อิวะซะ ประธานกรรมการที่ปรึกษาของสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่มีโอกาสพบปะกับประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น และผู้บริหารบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นกว่า 40 ราย ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการดำเนินธุรกิจจากภาคเอกชนญี่ปุ่นโดยตรง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมขอบคุณที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นยังคงลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะประสบปัญหามากมาย ทั้งน้ำท่วม และการเมือง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะมีปัญหาทางการเมืองที่สะสมมานาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเร่งรัดผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ขอให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปเป็นไปตาม Roadmap ที่วางไว้ และประเทศไทยเดินหน้าได้อีกครั้ง ทั้งสองฝ่ายหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรี คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยภาคเอกชนญี่ปุ่นแสดงความสนใจเพิ่มมูลค่าการลงทุนในประเทศไทย โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต และการลงทุนเพื่อขยายต่อไปในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอาเซียน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเร่งสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเพื่อดึงดูดนักลงทุน และช่วยขยายการลงทุนระหว่างกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี หวังให้คนไทยได้รับตำแหน่งระดับสูงในด้านอุตสากรรมยานยนต์ และเชิญชวนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นใช้วัตถุดิบจากประเทศไทย

จากนั้น นายฮิโรมิ อิวาสะ ในฐานะผู้แทนของสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อคณะนักธุรกิจจากสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรี แสดงความขอบคุณประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นที่ให้การต้อนรับ และเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันนี้อย่างอบอุ่น แสดงถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ไทย และญี่ปุ่นมีต่อกัน และขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติสละเวลามาร่วมงานในวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเหตุผลการเดินทางเยือนครั้งนี้ ว่ามีสิ่งที่คาดหวัง 2 ประการ ประการแรกคือ การแสวงหาความร่วมมือเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และแก้ไขปัญหาติดขัดให้หมดไปโดยเร็ว

ส่วนการเป็นประชาธิปไตยของไทย ยืนยันว่า เดินหน้าตามแผน Roadmap ที่วางไว้ และจะไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อไปในอนาคต โดยยึดหลักมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งญี่ปุ่นได้เคยผ่านประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ และสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การวิจัยและการพัฒนา ซึ่งญี่ปุ่นมีความรู้และเทคโนโลยีสูง จึงอยากให้ถ่ายทอดให้แก่ไทยด้วย นายกรัฐมนตรีหวังให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยให้มากขึ้น การจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย หรือ IHQ และเร่งให้มีการเจรจา FTA ระหว่างกัน รวมถึงการผลักดันส่งเสริม SMEs ของไทยและญี่ปุ่น เพื่อให้ SMEs ญี่ปุ่น ขยายการลงทุนในไทยให้มากขึ้น

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณภาคเอกชนญี่ปุ่นที่สนับสนุนให้ไทยได้เดินหน้าประเทศ ทั้งนี้ สมาชิกสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นได้สอบถามการแก้ไขปัญหายกระดับรายได้เกษตรกร โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบว่า สามารถทำได้โดยลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เช่น เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ การพัฒนาพันธุ์ข้าว การรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้ความช่วยเหลือที่ตรงเป้าหมาย แก้ไขปัญหาพ่อค้าคนกลาง ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้าใจทำการตลาด และพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งญี่ปุ่นสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ รวมถึงสามารถตั้งโรงงานรับซื้อเพื่อแปรรูปได้ ญี่ปุ่นจะให้ความร่วมมือในเรื่องของการพัฒนาระบบชลประทานและการแปรรูป

ต่อมา เวลา 13.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้แทนระดับสูงของภาคเอกชนบริษัทต่างๆ คือ นายโอะสะมุ มะสุโคะ ประธานและ CEO บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส, นาย Fumihiko Ike ประธานบริษัทฮอนดา มอเตอร์, นายมะซะมิ อีจิมะ ประธานและ CEO บริษัทมิซุยแอนด์ โค, นายฟุมิยะ โคะคุโบะ ประธานและ CEO บริษัทมะรุเบะนิ โดยภาคเอกชนญี่ปุ่นแสดงความเชื่อมั่น และยืนยันการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และแสดงความสนใจลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานระบบราง รวมถึงการลงทุนด้านรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยขอให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับระบบศุลกากร

โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้ภาคเอกชนทำแผนมาให้ชัดเจน และประสานกับภาครัฐของญี่ปุ่นในการพัฒนา และหวังให้ภาคเอกชนจัดตั้งสถาบันวิจัยในไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิการลดหย่อนภาษีการค้า และต้องการเพิ่มมูลค่าการลงทุน พร้อมทั้งได้เชิญชวนให้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งภาคเอกชนให้ความสนใจเขตเศรษฐกิจชายแดนของไทย และเขตเศรษฐกิจทวายด้วย







นาย Masami Iijimaในฐานะผู้แทนผู้​อำนวยการประธานและ CEO บริษัทมิตซุย คอร์ปอเรชั่น



นาย Fumiya Kobuki ประธานและ CEOบริษัท Marubeni



นาย Fumihiko Ike ประธานกรรมการ บริษัทฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น)



กำลังโหลดความคิดเห็น