xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกผีโครงการทวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นหนึ่งในหัวข้อการเจรจาระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์ หรือพม่า กับประเทศไทย ระหว่างการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคมนี้

นับเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของทางการไทยที่จะ “ปลุกผี” โครงการขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาทนี้ ที่อยู่ในภาวะลูกผีลูกคน ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น นับตั้งแต่การลงนามเซ็นสัญญญาระหว่างรัฐบาลพม่ากับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเม้นท์ หรือ ไอทีดี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 จนถึงวันนี้ จะครบ 4 ปีเต็มแล้ว

เนื่องจาก โครงการทวายมีขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูงมาก เกินกำลังของไอทีดี หรือแม้แต่รัฐบาลไทย จำเป็นต้องชักชวนต่างชาติเป็นผู้ร่วมลงทุนด้วย โดยไอทีดี และรัฐบาลชุดที่แล้ว รวมทั้งรัฐบาลพม่า ต้องการให้รัฐบาลญี่ปุ่น เข้ามาร่วมทุนในโครงการนี้ แต่ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นแสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่สนใจที่จะลงทุนในโครงการทวาย เพราะญี่ปุ่นกำลังพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ติละวา” ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งเพียง 25 กิโลเมตรเท่านั้น และมีขนาดเล็กกว่า โครงการทวงายถึง 10 เท่า โดยตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาดำเนินโครงการ มีฝ่ายพม่าถือหุ้นใหญ่ 51 % ฝ่ายญี่ปุ่นถือหุ้นโดยเอกชนคือ บริษัทมิตซูบิชิ มารูเบนี และสุมิโตโม


ต้นปีนี้ นายฮิเดอากิ มัตซูโอะ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจประจำพม่า เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะรอให้การพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดในปี 2558 เสียก่อน หลังจากนั้น จึงค่อยพิจารณาว่า จะลงทุนในโครงการทวายหรือไม่อย่างไร

นั่นคือ การปฏิเสธอย่างนิ่มนวล ของทางาการญี่ปุ่น

ไปพม่าเที่ยวนี้ เป้าหมายสำคัญในเรื่องโครงการทวายคงไม่พ้นไปขอให้รัฐบาลพม่าช่วยเจรากับญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในโครงการนี้อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลพม่าซึ่งเห็นว่า ไอทีดี ไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ได้ขอให้ไอทีดี ลดขนาดโครงการลง และต้องการหานักลงทุนรายใหม่มาทำโครงการแทนไอทีดี

รัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าลงนามในเอ็มโอยู ข้อตกลงร่วมมือในการพัฒนาโครงการนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ซึ่งเรียกกันว่า เอ็มโอยู 51 รัฐบาลไทยจะสนับสนุนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรมและเส้นทางคมนาคม ได้แก่ ถนน รถไฟ สายส่งไฟฟ้า ท่อก๊าซและท่อน้ำมัน เชื่อมต่อระหว่างเมืองทวายกับชายแดนไทย-พม่าที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลพม่า ให้เป็นผู้พัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า โดย ไอทีดี ลงนามร่วมกับการท่าเรือพม่า ในฐานะคู่สัญญา เมื่อวันที 2 พฤศจิกายน 2553

หลังจากนั้นอีก 2 เดือน รัฐบาลพม่าได้ออกฎหมายกำหนดให้ท่าเรือทวาย และนิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่พิเศษหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนี้

ภายใต้ข้อตกลงระหว่าง ไอทีดี กับการท่าเรือพม่า ไอทีดี จะได้สิทธิในการบริหารจัดการโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย บนพื้นที่ประมาณ 2 แสนไร่ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสหภาพพม่า ห่างจากเมืองทวาย ประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในมาบตาพุดถึง 10 เท่า เป็นเวลา 75 ปี ประกอบด้วย โครงการหลักๆ 4 โครงการ คือ 1. ท่าเรือน้ำลึก 2.นิคมอุตสาหกรรม 3. เส้นทางการคมนาคม ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เชื่อมระหว่างเมืองทวาย สหภาพพม่า กับประเทศไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี และ 4.ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์การท่องเที่ยว รีสอร์ท และศูนย์พักผ่อน

การทำเอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ตลอดจนการได้รับสัปทานบริหารโครงการทวายของ ไอทีดี เกิดขึ้นในยุคที่พม่ายังอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ถูกบอยคอตทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ อียูและประเทศอื่นๆ รวมทั้งญี่ป่น แต่หลังจากนั้นไม่นาน การเปลี่ยนแปลงในพม่าก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก เมื่อปลายปี 2553 มีประธานาธิบดี คือ นายเต็ง เส่ง ถึงแม้จะรู้กันว่า กองทัพยังมีบทบาทในทางการเมืองอยู่เหมือเดิม แต่ก็เป็นสัญญาของการปฏิรูปทางการเมือง มาจนถึงการที่นางอองซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพ และลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้โลกตะวันตกยอมผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการบอยคอต ทำให้พม่าซึ่งปิดประเทศมานานถึง 50 ปี กลายเป็นประเทศเกิดใหม่ที่เนื้อหอมที่สุดในสายตานักลงทุนทั่วโลก

การที่ทั้งรัฐบาลพม่าและนักลงทุนญี่ปุ่น เกาหลี มีทางเลือกใหม่ๆ ให้เลือก หลังจากพม่าเปิดรับการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ไม่มีความหมายต่อพม่าเลย เพราะผู้ที่จะรับประโยชน์จากจากโครงการนี้มากที่สุดคือประเทศไทย

รอดูว่า เที่ยวนี้ พลเอกประยุทธ์จะได้คำตอบเกี่ยวกับโครงการทวายจากรัฐบาลพม่าอย่างไร

กำลังโหลดความคิดเห็น