xs
xsm
sm
md
lg

ทูตไทยเผยพม่าพร้อมรับ “บิ๊กตู่” คาดเยือนต้น ต.ค.พบ “เต็ง เส่ง” - ชุมชนธุรกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทูตไทยประจำย่างกุ้ง เผยยังไม่ทราบ “นายกฯ ตู่” มาพม่าช่วงใด คาดต้น ต.ค.หลังประชุม คสช. แจงประเดิมเยือนชาติแรกเหตุเป็น ปธ.อาเซียน รับพม่ากระตือรือร้นต้อนรับ เล็งพบ “เต็ง เส่ง” และชุมชนไทยที่ย่างกุ้ง พร้อมถกเศรษฐกิจร่วมสองชาติ ชี้พม่ามั่นใจโครงการทวายเพิ่มขึ้น และเชื่อมั่น รบ.ไทย หาข้อสรุปปมยาเสพติด-แรงงาน-โรฮิงญา คาดไม่ว่างดูหมดดูอีที ไม่ชัวร์พบ “ซูจี”

วันนี้ (25 ก.ย.) ที่โรงแรมติงกาฮา เนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) นายพิษณุ สุวรรณะชฏ เอกอัครราชทูตไทยประจำย่างกุ้ง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) จะเดินทางมาเยือนพม่าว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าจะมาเมื่อไหร่ ทางทีมงานนายกรัฐมนตรียังไม่ได้แจ้งกรอบเวลาที่แน่นอน แต่คงไม่ใช่วันที่ 1-2 ตุลาคมนี้ตามที่เป็นข่าวเพราะทราบว่าช่วงเวลานั้นท่านติดภารกิจที่ประเทศไทย แต่คาดว่าน่าจะเป็นต้นเดือนตุลาคมนี้ เพราะตามธรรมเนียมการเยือนประเทศเพื่อนบ้านนั้นเมื่อได้เป็นรัฐบาลหลังเเถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จก็ต้องเดินทางเยือนทันที

เมื่อถามว่าได้วางตารางการจัดลำดับการเยือนพม่าของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไรบ้าง นายพิษณุกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมากำหนดการของนายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางเยือนต่างประเทศเป็นเรื่องที่ทางสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายในการเยือนจะได้วางกรอบคร่าวๆ ว่าเป็นความประสงค์ของนายกรัฐมนตรีที่จะเยือนประเทศต่างๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธไมตรี ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีความชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีจะมาเยือนพม่าเป็นประเทศเเรก ด้วยเหตุผลที่ว่าพม่าเป็นประธานอาเซียนในปัจจุบัน และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมเเดนติดกับประเทศไทย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของประเทศพม่าเองก็มีความกระตือรือร้นที่จะต้อนรับนายกรัฐมนตรีของไทย

นายพิษณุกล่าวอีกว่า ส่วนโปรแกรมของรัฐมนตรีนั้น โดยเบื้องต้นการเยือนต่างประเทศของผู้นำรัฐบาลที่เพิ่งได้รับตำแหน่งจะมีแบบเเผนกำหนดทั้งที่เป็นสากล และวิธีการของประเทศไทยเอง เช่น กรณีประเทศพม่าต้องเดินทางมาที่เมืองหลวง คือที่เนปิดอว์ พร้อมกับเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ผู้นำสูงสุดของประเทศ รวมถึงการหารือข้อราชการที่เป็นเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งจัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อสัมพันธไมตรี

นอกจากนี้ ตนได้เตรียมการให้ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปพบปะกับชุมชนไทยที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพราะมีชุมชนไทยอาศัยอยู่ประมาน 2 พันคน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีและอยู่ประจำ และนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรือนักธุรกิจในบริษัทใหญ่ที่ขยายกิจการมาจากประเทศไทยซึ่งกลุ่มนี้จะไม่อยู่ประจำ

“ผมเชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปพบปะและให้กำลังใจผู้ประกอบการไทย ในฐานะที่เป็นรัฐบาลที่ต้องเข้าหาประชาชน อย่างน้อยเพื่อใช้จังหวะเเละโอกาสในการชี้เเจงนโยบายการพัฒนา และการส่งเสริมต่างๆ เพราะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมีความสนใจในเรื่องนี ส่วนจะเดินทางไปพบหมอดูอีทีหรือไม่นั้น ท่านนายกฯ ไม่น่าจะมีเวลา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำหนดการของท่านนายกฯ ด้วย” นายพิษณุกล่าว และว่า ทั้งนี้ ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยในย่างกุ้ง ได้ร่วมมือกับนักธุรไทย ตั้งเป็นสมาคมธุรกิจไทยในย่างกุ้งซึ่งจะมีรูปแบบเป็นองค์การมีประธาน รองประธาน กรรมการ การบริหาร โดยมีธุรกิจ 6 เเบบ เช่น ธุรกิจการบริการ ธุรกิจโทรคมนาคม ธนาคาร การก่อสร้าง การค้าการส่งออก

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดจะเข้าพบนางอองซานซูจี หรือไม่ นายพิษณุกล่าวว่ายังไม่ได้รับการยืนยัน โดยตามหลักการเเล้วการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำรัฐบาลจะเน้นหนักการเเนะนำตัว การสร้างความสัมพันธ์ ตลอดจนการวางพื้นฐานพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องที่เป็นการเมืองของสองประเทศ และเป็นเรื่องภายใน ถือว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ทั้งนี้เชื่อว่าการเดินทางเยือนพม่าของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในเรื่องการวางแนวทางกับกระบวนการดำเนินการความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐบาลในอนาคต

“ขณะนี้พม่าอยู่ในช่วงของการปฏิรูปเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจ บริหารจัดการต่างๆ ไปสู่รูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น หลายเรื่องเป็นโครงการที่มีความร่วมมืออยู่แล้ว เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย เรื่องนี้จะทำให้ประเทศพม่ามีความมั่นใจรัฐบาลมากขึ้น รวมถึงมั่นใจการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าที่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการต่อไป รวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศที่สอดคล้องและเกื้อกูลกัน เช่น การเป็นเศรษฐกิจพิเศษ ตามเเนวชายแดนเป็นแนวทางที่ส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้นโยบายในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพม่า คือ การสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้วให้เจริญงอกงามมากขึ้น การพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ” นายพิษณุกล่าว

นายพิษณุกล่าวยืนยันอีกว่า ประเทศพม่ามีความมั่นใจกับรัฐบาลชุดใหม่ของไทย รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับพม่าทั้งในกรอบทวิภาคี และ บริบทความร่วมมือพหุภาคี ตลอดจนในกรอบของอาเซียนซึ่งในขณะนี้ความสัมพันธ์ไทยกับพม่าถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นมาบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศนโยบายชัดเจนในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยมีความต่อเนื่องด้านนโยบาย รวมถึงโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องระหว่างไทยกับพม่าที่ทางรัฐบาลมีเเนวทางที่จะเดินหน้าต่อ

นายพิษณุกล่าวว่า สำหรับเรื่องความมั่นคงของทั้งสองประเทศ เช่น เรื่องยาเสพติด ที่มีการจับกุมได้มากตามเเนวชายแดน เนื่องจากความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่าในการเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้ เรื่องของเเรงงานต่างชาติที่มีความก้าวหน้าในทุกด้าน เช่น การจดทะเบียนเเรงงาน การพิสูจน์สัญชาติ รวมถึงผลพวงการพัฒนาสถานการณ์ในพม่าเอง รวมถึงการพัฒนความสัมพันธ์ไทย เช่น การส่งผู้หนีภัยจากการสู้รบกลับ ซึ่งอยู่ในกระบวนการเริ่มต้น โดยจะหาเเนวทางเเกัปัญหารวดเร็วชัดเจน ส่วนปัญหาโรฮิงญาถือเป็นเรื่องภายในพม่า เเต่มีผลกระทบเเละถือเป็นภาระของไทย แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องปัญหาโรฮิงญาไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะไทยกับพม่าเท่านั้น แต่ยังมีประเทศอื่นเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นเเก้ปัญหาจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คาดว่านายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาเยือนประเทศพม่าภายหลังจากที่มีการประชุมคณะ คสช.ที่บ้านมนังคสิลา ในวันที่ 7 ตุลาคมเรียบร้อยแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น