ที่ประชุม สนช.185 เสียงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สวนยางฉบับใหม่ ตัดรายชื่อต้นไม้ในบัญชี 8 รายการ ทั้งยางพารา โกงกาง ยูคาลิปตัส และไม้เศรษฐกิจอื่นๆ ปรับโทษอาญา เป็นโทษทางปกครองแทน พร้อมกำหนดชนิดของสวนป่ามี 64 ชนิด กมธ. แจงให้ประชาชนลงทะเบียนสวนป่าตามสมัครใจ จะได้ไม่เสียค่าทะเบียน ยันไม่กระทบรายย่อย
วันนี้ (5 ก.พ.) ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ พ.ร.บ.สวนป่า (ฉบับที่....) พ.ศ.... (แก้ไข พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535) ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 โดยมีสาระที่สำคัญ เรื่อง การนิยามคำว่า “สวนป่า” ซึ่งหมายความว่าที่ดินที่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อทำการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม่ตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มและถอนรายชื่อต้นออกจากบัญชีแนบท้ายได้ โดยให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา จากเดิมที่นำเข้าไปแต่ไม่สามารถนำออกได้ ทั้งนี้ ได้มีการตัดรายชื่อต้นไม้ที่อยู่ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.จำนวน 8 รายการ จากที่ ครม.เสนอเข้ามาจำนวน 66 รายการ เช่น ยางพารา มะฮอกกานี โกงกาง ยูคาลิปตัส กระถิน สนประดิพัทธ์ เสม็ด เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรและเพื่อความเหมาะสม ส่วนผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.สวนป่า เป็นไปตามด้วยความสมัครใจ โดยหากขึ้นทะเบียนแล้วก็จะได้รับสิทธิ์ต่างๆ โดยไม่ต้องเสียค่าทะเบียน
สำหรับโทษผู้ที่ฝ่าฝืนจากเดิมมีทั้งโทษอาญา ทั้งจำคุกและปรับ กรรมาธิการฯ เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการส่งเสริม ดังนั้นควรจะให้มีบทลงโทษทางปกครองแทน โดยดูเรื่องเจตนาเป็นหลัก หากมีการละเมิดก็ใช้วิธีการตักเตือน และที่สุดคือการถอนการขึ้นทะเบียนสวนป่า โดยผู้ทำสวนป่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่จัดทำบัญชีแสดงชนิดจำนวนไม้ที่ปลูกตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด กรรมาธิการได้ตัดโทษจำคุกออก เหลือเพียงโทษปรับ 10,000 บาท หรือหากทำบัญชีเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนกรณีความผิดจากการค้า มีไว้ในครอบครอง หรือนำไม้มาสวมตอ จะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขมาจาก พ.ร.บ.สวนป่า ปี 2535 ที่มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม และเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่า รวมทั้งเป็นปัญหาอุปสรรคในการแปรรูปไม้ และการออกใบรับรองไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า และความไม่ชัดเจนของสถานะของสัตว์ป่าหรือของป่าในสวนป่า ดังนั้นสมควรต้องแก้ไขหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสวนป่า และปรับปรุงมาตรการในการกำกับดูแลและแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นมาตรการในการส่งเสริมและจูงใจให้มีการปลูกสร้างสวนป่า ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกำหนดบทนิยามของป่า จากเดิมที่สวนป่ามีแค่ 2 ชนิด แต่ของใหม่ได้เพิ่มขึ้นมาอีก 62 ชนิด เป็น 64 ชนิด และที่ผ่านมาความต้องการไม้เพิ่มมากขึ้น หลังจาก 25 ปีที่ปิดป่า และตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มพื้นป่าเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2567 จากเดิมที่มี 32 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการส่งเสริมการค้าไม้ต่างประเทศ ให้นำไม้ซึ่งมีที่มาที่ไปแปรรูปขายไปยังต่างประเทศ และสอดรับกับการจัดสรรที่ดินให้เอกชน ซึ่งบางพื้นที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ก็ให้ทำเป็นรูปแบบสหกรณ์เพราะบางแปลงเหมาะกับการทำสวนป่า ทั้งนี้ยังมีข้อที่น่าเป็นห่วงและได้พยายามแก้ไขทั้งเรื่อง การจัดสรรที่ดิน การเปิดให้สามารถเคลื่อนย้ายไม้ได้ง่ายขึ้น หรือการอนุญาตให้ตั้งโรงเรื่อยไม้ในพื้นที่รายแปลงตามที่กำหนดเพื่ออำนวยความสะดวก
โดยหลังจากสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นสมควรให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.สวนป่าเป็นกฎหมายต่อไป ด้วยคะแนน 185 ต่อ 2 เสียง และ งดออกเสียง 5 เสียง
ด้าน พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สวนป่า กล่าวว่า ตนอยากทำความเข้าใจกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กล่าวคือ ให้ประชาชนลงทะเบียนสวนป่าตามสมัครใจ โดยจะได้รับสิทธิ์ครอบคลุมไม่เสียค่าขึ้นทะเบียน จะทำการตัด ทำไม้ หรือขอใบรับรองจากกรมป่าไม้แบบยั่งยืนได้ การแปรรูปไม้ นำไม้เคลื่อนที่ การหาของป่าโดยไม่เสียค่าบำรุงหรือค่าภาคหลวง ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับคนทั่วไปหรือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ที่ทำสวนป่ารายย่อยที่ตัดต้นยางพาราไปส่งแค่โรงงาน หรือถ้านำออกไปในประเทศจีนไม่ต้องใช้ใบรับรองต้นกำเนิด แต่ถ้านำออกไปยุโรปต้องใช้ ฉะนั้นจะกระทบแต่กับผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายเท่านั้น
“โดยภาพรวมเราได้ทำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีความอ่อนตัวในทางปฏิบัติ เช่น บางคนทำบัญชีจำนวนไม้ผิดพลาด เดิมโทษมีทั้งทางอาญาจำคุก และโทษปรับ แต่เราเห็นว่าแก้ไข พ.ร.บ.นี้เพื่อส่งเสริม จึงต้องดูระดับว่าควรทำอย่างไร จึงได้ใช้โทษทางปกครอง คือหากทำบัญชีผิดจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม จะถูกเจ้าหน้าที่ตักเตือนก่อน แต่ถ้ายังแสดงเจตนาไม่แก้ไข ก็จะมีโทษทางปกครองคือถอนทะเบียนออกไปและไม่ให้ขึ้นทะเบียนสวนป่า ซึ่งจะต้องกลับไปเข้า พ.ร.บ.ป่าไม้ ป่าสงวนเช่นเดิมจะไม่ได้รับสิทธิในการเคลื่อนที่ไม้ การตั้งสถานที่แปรรูปไม้ การเก็บของป่าจะต้องมีการเสียภาคหลวง โดยจะเป็นการปรับดีกรีบทลงโทษให้ลดลง เว้นเรื่องโทษเกี่ยวกับการแปรรูปไม้ที่ไปเอาไม้จากที่อื่นมาสวมตอ หรือแปรรูปก็ยังคงโทษไว้ตาม พ.ร.บ.เดิม หากในอนาคตทุกคนพร้อมและอยากจะเข้าร่วมก็จะมีการปรับปรุงกฎหมาย เพราะมีการเปิดทางให้เพิ่มเติมชื่อไม้ โดยเสนอความต้องการมาตามขั้นตอนเช่นทำประชาพิจารณ์เสนอผ่านกรมป่าไม้เพ่อส่งมายัง ครม. และพิจารณาให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา รวมถึงหากเห็นควรให้ถอนชื่อต้นไม้ออกจากบัญชีท้ายได้ด้วยเช่นกัน” พล.อ.ดนัยกล่าว