นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยรับเอกชนสนใจลงทุนนิคมฯ ในเขต ศก.พิเศษชายแดนน้อยเพราะขาดระบบสาธารณูปโภค เสนอ 10 รูปแบบปฏิรูปการใช้พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ
นางอัญชลี ชวนิชย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านเศรษฐกิจ และนายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร เปิดเผยว่า แนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 แห่งของรัฐบาลแม้จะเป็นแนวทางที่ดีแต่ในแง่ของผู้ประกอบการนิคมฯ ยังไม่มีแรงดึงดูดเพียงพอให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าไปลงทุนตั้งนิคมฯ ในพื้นที่เหล่านี้ เนื่องจากยังขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งยังไม่มั่นใจว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าไปตั้งโรงงานมากน้อยเพียงใด
“แม้ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจะไม่มีแรงดึงดูดให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าไปลงทุน แต่ก็เป็นโอกาสให้นักลงทุนท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่เข้าไปลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรม หรือร่วมทุนกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้” นางอัญชลีกล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมารองรับ แทนการใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างที่ใช้ในขณะนี้ และกำหนดเขตเป้าหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่งอย่างชัดเจน โดยในความเห็นส่วนตัวที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สปช. มองว่าควรจะแบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 10 รูปแบบ ได้แก่ 1. พัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยะที่ 2 ใน จ.ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในทุกด้าน และยังเหลือพื้นที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก 2. เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 แห่ง มีเป้าหมายในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น ชุมชน อุตสาหกรรม ธุรกิจบริหารลอจิสติกส์ การท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
3. การใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งควรจะมีการจัดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้คุ้มค่าและเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ 4. เซาเทิร์นซีบอร์ด ใน จ.สุราษฎร์ธานี หรือสตูล, สงขลา เพื่อใช้ประโยชน์สร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และฟื้นฟูกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภาคใต้ 5. กรุงเทพฯ ควรจะพัฒนาไปสู่การเป็นฮับของอาเซียน เช่น ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาค และศูนย์กลางทางการบิน เป็นต้น
6. ตั้งเมืองราชการใหม่ เพื่อการบริหารราชการบ้านเมือง 7. นิคมอุตสาหกรรมรายคลัสเตอร์ 8. พัฒนาเกษตร-อุตสาหกรรมครบวงจร เช่น ยาง ข้าว พืชพลังงาน เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร 9. เขตท่องเที่ยวพิเศษใน จ.กระบี่ และพังงา และ 10. พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเป้าหมายพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและปลอดภัยเจริญรุ่งเรืองอย่างมีเอกลักษณ์ท้องถิ่น