"อุทัย" เรียกร้องรัฐบาลเร่งช่วยชาวสวนยางด่วน หวั่งเกิดปัญหาอื่นตามมา แฉ 16 มาตรการรัฐบาลไม่ขยับ เหตุหน่วยงานราชการไม่สนอง แนะแก้ปัญหา 8 ข้อ
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพยายามทวงถามให้ สปช.ช่วยเหลือจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เราจึงจำเป็นต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยด่วนเพราะอีกไม่นานยางจะผลัดใบ หากราคายางยังตกต่ำอยู่อย่างนี้เกษตรกรจะดำรงชีพด้วยความยากลำบาก และจะก่อให้เกิดปัญหาด้านอื่นตามมาเช่น ปล้น ขโมย หรือค้ายาเสพติด ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ถ้ารัฐบาลไม่เร่งให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ตนคิดว่าในอนาคตและต่อเนื่องไปเกษตรกรจะเลิกกรีดยางและหันไปทำงานโรงงานกันหมด เพราะได้รับค่าแรงวันละ300 บาท ขณะที่กรีดยางได้ไม่ถึงวันละ200 บาท
นายอุทัย กล่าวว่า ส่วน 16 มาตรการที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีออกมา ก็ยังไม่ขยับเท่าที่ควร บางมาตรการไม่ดำเนินการเลย มีการเรียกประชุม 20 ครั้งจนผู้ประกอบการและเกษตรกรเบื่อหน่ายหมดแล้วแต่ก็ไม่ขยับเขยื้อน เช่นมาตรการให้กู้เงินกับผู้ประกอบการหมื่นล้านบาทไปซื้อน้ำยางข้นเพื่อไปช่วยเหลือเกษตรกรในราคา 50 บาท แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ตอบรับและติดระเบียบต่างๆ ดังนั้นตนขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา 8 ข้อ คือ
1. รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สหกรณ์รับซื้อน้ำยางสดในราคาไม่ต่ำหว่ากิโลกรัมละ50 บาท 2. สนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ สมาคมรับซื้อน้ำยางข้นดำเนินการรับซื้อน้ำยางสดราคาสูงขึ้น ภายใต้ 16 มาตรการที่รัฐบาลกำหนดไว้ 3.ขอให้รัฐบาลเร่งขายยางดีให้แก่ต่างประเทศ เช่น จีน ในราคายางดีกิโลกรัมละ65 บาท 4.เร่งสนับสนุนเพิ่มมูลค่ายางพารา โดยนำปริมาณยางพาราไปทำถนน สนามฟุตซอล สนามเด็กเล่น ยางรถยนต์ให้หน่วยราชการของรัฐใช้
5.งบประมาณที่ภาครัฐช่วยเหลือต้องให้ถึงมอเกษตรกรอย่างแท้จริง อย่าให้กลุ่มผลประโยชน์ที่หากินกับยางพารามารับผลประโยชน์ในส่วนนี้ 6.ต้องเร่งรัดมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่องจนกว่าระดับราคายางพารามีเสถียรภาพและเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือและมีความเข้มแข็ง 7.เร่งเปิดช่องทางให้ 108 ตลาดของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเข้ามารับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรง และ8.รัฐบาลต้องเข้าควบคุมและดูแล ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่แอบทำยางพาราไปเสนอขายแก่ต่างประเทศ ขายตัดราคาและขายต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น ทำให้กลไกลราคายางพาราบิดเบือนจากความเป็นจริง มีความผิดพ.ร.บ.ควบคุมยางพารา พ.ศ. 2542 โดยรมช.เกษตรฯ ต้องสอบสวนหาความจริงและเอาผิดลงโทษ