สุราษฎร์ธานี - ชาวสวนยางย้ำเตรียมยกระดับความเคลื่อนไหว เรียกร้องราคายางตกต่ำต่อจนกว่าจะได้รับการแก้ไข ย้ำรัฐบาลแก้ไขได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ครอบคลุมถึงเกษตรกรระดับรากหญ้า
นายไพโรจน์ ฤกษ์ดี ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ในนามแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาล คสช.กระจุกตัวอยู่ต่อกลุ่มทุน และผู้ประกอบการยางแผ่นรมควันเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงเกษตรกรรายย่อยที่เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายน้ำยางสด หรือเศษยาง ซึ่งการแก้ไขปัญหาระยะสั้น รัฐบาลควรเข้ามาควบคุมดูแลราคายางพาราทั้งระบบ คือ ยางแผ่นดิบ น้ำยางสด และเศษยาง โดยให้กำหนดราคาขั้นต่ำของยางพาราทุกชนิด และให้รัฐบาลตั้งจุดรับซื้อยางพาราทั้งระบบประจำตำบล อย่างน้อยตำบลละ 2 ครั้งต่อหนึ่งเดือน หากรัฐบาลไม่สามารถทำได้เองให้ดึงเอกชนมาร่วมมือ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว รัฐบาลควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่ม และสนับสนุนให้มีการผลิตยางคุณภาพ ขยายตลาดเพิ่มเติม และส่งเสริมอาชีพทางเลือกใหม่ และอาชีพเสริมอย่างจริงจัง
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ราคาน้ำยางสดที่กิโลกรัมละประมาณ 45-48 บาท เป็นราคาที่รับเฉพาะสมาชิกสังกัดกลุ่มสหกรณ์ ไม่ครอบคลุมถึงเกษตรกรที่ไม่มีสังกัดกลุ่มสหกรณ์ ที่ต้องจำหน่ายน้ำยางสดให้แก่พ่อค้ารายย่อย และเอกชนที่ไม่สามารถควบคุมราคาได้เอง ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรจำเป็นต้องขายให้แก่พ่อค้ารายย่อย และพ่อค้ารายย่อยจำเป็นต้องรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 33-35 บาท เพราะไม่สามารถควบคุมราคาได้เอง ขณะที่ราคาเศษยางยังไม่ได้รับการดูแล เกษตรกรขายได้ไม่ถึงกิโลกรัมละ 20 บาท และที่สำคัญ ลูกจ้างกรีดยางไม่สามารถยึดอาชีพรับจ้างกรีดยางได้อีกต่อไป ทำให้ขาดแคลนแรงงานสวนยาง และหลายพื้นที่ได้โค่นต้นยางเพื่อหนีราคายางตกต่ำ หันไปปลูกพืชอื่นแทน
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยังนิ่งเฉย ทางเครือข่าย และแนวร่วมจะยกระดับการเคลื่อนไหวไปยังทำเนียบรัฐบาลโดยตรง ส่วนรูปแบบยังไม่ขอเปิดเผยในขณะนี้ โดยการทำอะไรต้องรัดกุม เพราะรัฐบาลยังปกครองภายใต้กฎอัยการศึก และจะทวงถามรัฐบาลเป็นระยะ หากไม่เป็นผลยืนยันว่าเคลื่อนไหวไปทำเนียบรัฐบาล เข้าพบนายกรัฐมนตรีทันที