ตรัง - คณะกรรมการจัดการยางพาราทั้งระบบ กระทรวงเกษตรฯ อัดข้าราชการบางส่วนยังใส่เกียร์ว่างในเรื่องราคายาง เหตุเชื่อ “พรรคเพื่อไทย” หวนกลับสู่อำนาจหลังเลือกตั้ง ทำให้การแก้ปัญหาราคายางตกต่ำล้มเหลว ชี้ราคายางในแต่ละจังหวัดของภาคใต้ยังต่างกันมาก และไม่มีแรงกระตุ้นพอจะทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด
วันนี้ (21 ม.ค.) นายสุวิทย์ ทองหอม คณะกรรมการจัดการยางพาราทั้งระบบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง กล่าวหลังจากนำปัญหาราคายางพาราตกต่ำไปปรึกษากับ นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การแก้ปัญหาจะต้องแก้กันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นคนกรีดยาง หรือลูกจ้าง เจ้าของสวนยาง พ่อค้ารับซื้อยาง และเจ้าของโรงงาน นอกจากนั้น ราคายางในแต่ละจังหวัดของภาคใต้บางครั้งก็แตกต่างกันมาก ทั้งๆ ที่มีระยะทางไม่ห่างไกลกันเท่าไหร่
ปัจจุบัน ราคายางพาราแตกต่างกันมาก แม้แต่จังหวัดตรัง กับจังหวัดสงขลา โดยราคายางพาราชั้น 3 กับราคาน้ำยางสด แตกต่างกันมาก ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะต่างกันเกินไปกว่ากิโลกรัมละ 3 บาท จึงทำให้พ่อค้าสามารถค้ากำไรได้เกินควร โดยที่ชาวสวนยางไม่มีทางเลือก ส่วนการที่จะให้กลับไปทำยางแผ่นเหมือนในอดีตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าเพราะเกษตรกรต้องลงทุนใหม่ โดยเฉพาะการซื้ออุปกรณ์การผลิตยางแผ่น ซึ่งค่อนข้างจะมีราคาแพงในปัจจุบัน
นอกจากนั้น สาเหตุที่ราคายางไม่เป็นไปตามกลไกของตลาด เนื่องจากราคายางในท้องถิ่นไม่มีแรงกระตุ้นที่เพียงพอ โดยเฉพาะกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และหน่วยงานสหกรณ์ ซึ่งมีหน้าที่แทรกแซงราคายางในท้องถิ่นเพื่อให้มีราคาสูงกว่าในท้องตลาด หรือมีราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท แต่หน่วยงานเหล่านี้กลับนิ่งเฉย ไม่มีการเคลื่อนไหว หรือใส่เกียร์ว่าง ซึ่งตนเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่ข้าราชการไม่อยากออกมาเคลื่อนไหวก็เพราะยังไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล และอาจคิดว่ายังไงรัฐบาลนี้ก็คงอยู่ไม่นาน
ทั้งนี้ ข้าราชการส่วนหนึ่งยังเชื่อว่า หลังจากรัฐบาลนี้หมดอำนาจ ซึ่งเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ก็คงได้รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย หรือเป็นบุคคลที่อยู่ใต้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ข้าราชการเหล่านั้นจึงเห็นว่าไม่ควรจะทำอะไรที่เป็นผลลบต่อรัฐบาลที่จะมาจากพรรคเพื่อไทย เพราะหากมีการเข้าไปผลักดันราคายางในท้องถิ่นให้สูงกว่าราคาของพ่อค้า เชื่อว่าเมื่อยางขาดตลาดพ่อค้าก็จะได้รับผลกระทบ และต้องมารับซื้อยางจาก สกย. หรือสหกรณ์ ซึ่งมีราคาสูงกว่าในท้องตลาด