xs
xsm
sm
md
lg

แกนนำชาวสวนยางแฉพิรุธโครงการแก้ปัญหาราคายางพาราเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย (ชส.ยท.) แฉพิรุธโครงการมูลภัณฑ์กันชน พบกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้กำไรอื้อ เผยยางพาราที่เข้าร่วมโครงการไม่มีที่มาชัดเจน พบเริ่มโครงการเพียง 1 สัปดาห์ มียางทะลักเข้าตลาดวันละเกือบ 1,000 ตัน

นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) และหัวหน้าพรรคยางพาราไทย (พยท.) เปิดเผยว่า โครงการมูลภัณฑ์กันชนที่รัฐบาลใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยชี้นำให้ราคายางพาราขยับขึ้น แต่กลับไม่ได้เอื้อประโยชน์ชาวสวนยางพาราอย่างแท้จริง แต่กลับไปอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เพราะตอนนี้ชาวสวนยางพาราไม่มียางแต่อย่างใด และราคาขณะนี้ก็ไม่ต่างกับ 3 กิโลกรัม 100 บาท เพราะราคาหน้าสวนขายกันราคายังไม่ถึง 50 บาท แต่ราคา 60 บาท/กก.ที่รัฐลงทุนชี้นำกลับอยู่ที่กลุ่มค้ายางพาราขนาดใหญ่ของประเทศจำนวนหนึ่ง

“สภาพยางพาราที่เข้าตลาดกลางโดยเฉลี่ยวันละ 800-1,000 ตัน และถึง 2,000 ตัน นั้นมาจากกลุ่มไหน รัฐบาลสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าเป็นของเกษตรกรชาวสวนยางพาราหรือไม่ ตอนนี้ส่วนต่างของราคาที่กลุ่มการค้าได้ประมาณ 15,000 บาท/ตัน มูลค่าเฉลี่ยส่วนต่างมหาศาลต่อวัน” นายเพิก กล่าวและว่า

บางรายที่นำยางพาราเข้าไปขายยังตลาดกลางกลับมีข้ออ้างว่ายางพาราไม่ได้ระดับมาตรฐานตามที่กำหนด โดนตีกลับ แต่ในความเป็นจริงโรงงานผลิตยางพารารมควันดังกล่าวมีการรับรองไอเอสโอ และสหกรณ์เป็นเจ้าของ และยังผลิตยางรมควันรับจ้างให้แก่โครงการของรัฐบาลเมื่อสมัยที่แล้ว ดังนั้น สามารถตั้งข้อกล่าวหาโครงการนี้ได้ว่า มีลักษณะการกีดกัน

และโครงการนี้ไม่ตอบโจทย์ แต่กลุ่มที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงคือ กลุ่มพ่อค้ากลุ่มหนึ่งกับกลุ่มข้าราชการกลุ่มหนึ่ง เป็นการรับซื้อยางพาราในกลุ่มตัวเอง แต่ชาวสวนยางพาราที่แท้จริงกลับไม่ได้ประโยชน์
 
เพิก เลิศวังพงศ์ อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
 
แหล่งข่าวจากวงการยางพารา กล่าวว่า โครงการมูลภัณฑ์กันชน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2557 แต่เพียงแค่สัปดาห์เดียว ยางพาราเริ่มทะลักเข้าสู่ตลาดกลางเป็นจำนวนมากแต่ละวันจนถึงขณะนี้โดยเฉลี่ยตั้งแต่ 800-1,000 ตัน และบางวันทะลุถึง 2,000 ตัน ทั้งที่ทางภาคใต้ยางพาราขาดแคลน เนื่องจากเป็นฤดูฝนไม่สามารถกรีดได้ จึงไม่ทราบแหล่งที่มาว่าเป็นของเกษตรกรรายใด

เนื่องจากการดำเนินการโครงการมูลภัณฑ์กันชนไม่ได้กำหนดคุณสมบัติผู้นำยางพารามาขายให้แก่ตลาดกลางว่าเป็นของรายใด ซึ่งผิดกับปี 2537 ผู้ที่จะนำยางเข้าสู่ตลาดกลางยางพาราจะต้องมีรหัสหมายเลขเจ้าของ ที่จะต้องตีตราปั๊มลงในแผ่นยางพาราว่าเป็นของรายใดจึงจะรับซื้อ

“แต่โครงการมูลภัณฑ์กันชน ไม่มีการเขียนกำหนดกฎเกณฑ์รับซื้อยางพารา ถือว่าเป็นการบกพร่อง เพราะโครงการนี้เป็นเงินของรัฐ เรื่องนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มีข้อมูลเรื่องยางพารา และมีคนบางกลุ่มนั่งทับเรื่องนี้อยู่” แหล่งข่าวกล่าว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น