พิษณุโลก - ชาวสวนยางพิษณุโลก ชง 4 ข้อเรียกร้องร่วมเวทีเกษตรกรเหนือล่างวันที่ 22 ธ.ค. กำหนดแนวทางเคลื่อนไหว หลังราคายาดิ่งเหว แต่จังหวัด รัฐยังไม่ยอมเหลียวแล เหมือนเป็นลูกเมียน้อย
วันนี้ (20 ธ.ค.) นายฉลอง อุ่นวงศ์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า เครือข่ายสวนยางพาราจังหวัดพิษณุโลก 11 คน ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนพนักงานสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) พิษณุโลก ณ ห้องประชุม สกย. ต.วังดินสอ อ.วังทอง เมื่อค่ำวานนี้ ซึ่งได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ 4 ข้อ คือ
1.แก้ระเบียบการขอกู้เงินโครงการยางพาราของรัฐบาล เนื่องจากสถาบันเกษตรกรพิษณุโลก ไม่สามารถกู้ได้ หรือกู้ได้ก็ไม่เพียงพอต่อการทำกิจการ เพราะเป็นกลุ่มใหม่ มีทุนเรือนหุ้นน้อย แม้รัฐให้กู้ถึง 5 เท่าก็ตาม
2.ขอเงินอุดหนุนสร้างโรงงานผลิตยางแผ่นดิบในท้องถิ่น เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนมาซื้อน้ำยางสด เพื่อผลิตเป็นแผ่นดิบ หรือแผ่นดิบรมควัน หวังดึงราคายางให้สูงขึ้น เพราะปัจจุบันชาวสวนยางในภาคเหนือนิยมทำยางก้อนถ้วยจำนวนมาก ผลผลิตออกสู่ตลาดเพียบ ทำให้ราคาดิ่งเหวทุกวันนี้
3.ขอสนับสนุนจากจังหวัด และ อบจ.พิษณุโลก ในเรื่องพัฒนาอาชีพชาวสวนยาง ให้มีส่วนสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
4.ให้แก้ไขปัญหาพื้นที่ป่า และพื้นที่ สทก. โดยให้กรมป่าไม้ระบุพื้นที่ให้ชัดเจน อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาบุกรุกทำลายป่า โดยแยกพื้นที่ป่าออกจาก สทก. และนำการจัดพื้นที่ สทก. ที่ได้ยกเลิกการต่ออายุกลับมาใช้อีก
ซึ่งทางเครือข่ายจะนำข้อสรุปที่ได้ไปหารือร่วมกลุ่มเกษตรกรในสายอาชีพต่างๆ เช่น มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด ที่จัดประชุมขึ้นที่โรงแรมไพลิน วันที่ 22 ธันวาคม เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนระดับจังหวัด และนำเสนอปัญหาในระดับภาคเหนือตอนล่างต่อไป
“หากจังหวัดพิษณุโลกยังไม่ดูแลเกษตรกรชาวสวนยาง สภาเกษตรกรชาวสวนยางพิษณุโลก ก็คงต้องรวมตัวกันออกมาเรียกร้องแน่ เพียงแต่ขั้นแรกจะต้องหารือแนวทางกับสภาเกษตรกรภาคเหนือตอนล่างอีกครั้งก่อนจะเคลื่อนไหว”
นายฉลอง กล่าวว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากจังหวัด และ อปท. เมื่อเทียบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กลายเป็นลูกเมียน้อย ส่วนการช่วยเหลือของรัฐบาลกรณีเงินชดเชยรายแก่ชาวสวนยางพาราไร่ละ 1,000 บาท ยังจ่ายล่าช้า แม้รัฐมีข้อมูลเดิมอยู่แล้ว