xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ทางแก้ราคายางไทยดิ่งเหว ต้องจับมือมาเลย์-อินโดฯ เพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ที่ปรึกษา สกย.ระบุยางพาราดิ่งเหวเพราะมีแต่ผู้ขาย ชี้ทางแก้ต้องจับมือมาเลย์-อินโดฯ เพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดโลก แต่เฉพาะหน้าชาวสวนควรหาอาชีพเสริมระหว่างราคายางตกต่ำ

วันนี้ (28 ส.ค.) นายทรงธรรม จั่นทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เป็นประธานในการสัมมนาครูยาง โดยมีนายชัยวุติ มากสังข์ ผอ.สกย.พิษณุโลก และ นายถวิล คงเคว็จ ผู้ช่วย สกย.พิษณุโลก ให้การต้อนรับ พร้อมกับผู้เข้าร่วมรับการอบรม เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งในมิติการผลิต การแปรรูป การตลาด และการบริหารจัดการ

นายทรงธรรมเปิดเผยว่า นโยบาย สกย. คือ สร้างองค์ความรู้ อบรมครูยางที่มีทั่วประเทศ 12,000 คน สร้างเครือข่ายให้เป็นนิติบุคคล ตั้งเป็นสถาบันเกษตรกรแล้วกว่า 3,000 กลุ่ม เพื่อไปเผยแพร่แก่เกษตรกรรายใหม่ต่อไป

ส่วนปัญหาราคายางตกต่ำมีหลายปัจจัย ประการแรก หากมองผิวเผินดูเหมือนว่า ปริมาณยางจะมีมากกว่าความต้องการ แต่ความเป็นจริงแล้วคือมีแต่ผู้จะขายยาง ทำให้ราคาตกต่ำ ยิ่งราคาตกก็ยิ่งให้ขาย ถ้าผู้ผลิตไม่อยากขาย ราคายางก็ขึ้น แต่ความเป็นจริงวันนี้เหมือนคนอยากขาย ราคายางดิ่งฮวบ

“ไทยคือผู้ผลิตยางพารา แต่ทำไมไทยไม่เป็นศูนย์กลาง ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ กับญี่ปุ่นไม่มีวัตถุดิบ แต่กลับมีตลาดซื้อขายใหญ่ ที่จริงไทยน่าจะรวมกับมาเลย์-อินโดฯ เป็น 3 ประเทศผู้ผลิต เพื่อต่อรองเจรจากับประเทศอุตสาหกรรมผู้ใช้ยางพารามากกว่า และขยายไป 7 ประเทศกลุ่ม AEC ต่อไป”

นายทรงธรรมกล่าวอีกว่า แนวคิดและความมุ่งมั่นของ สกย. คือ ต้องการรวบรวมสต๊อกยางพาราไว้ โดยที่ไม่ให้ใครรู้ว่ามีปริมาณยางในมือเกษตรกรจำนวนเท่าใด เพื่อที่มีโอกาสกำหนดราคาตลาดเองได้

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาเร่งด่วนขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังหามาตรการช่วยเหลือ แต่ทางเกษตรกรก็ต้องช่วยเหลือตนเองด้วย เนื่องจากปัญหาราคายางตกต่ำจะเกิดประจำทุกปี ซึ่งทาง สกย.ได้เปิดให้เกษตรกรที่สนใจต้องการหาอาชีพเสริมระหว่างรอผลผลิตสามารถกู้ยืมกองทุนได้

ล่าสุด คสช.อนุมัติเงินเพื่อให้สถาบันเกษตรกรกู้ยืมในวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3,500 ล้านบาทกู้ไปทำโรงงานยางแท่ง ยางรมควัน ฯลฯ อีก 1,500 ล้านบาทกู้ไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน ทำระบบแปรรูปโรงงาน นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินอีก 10,000 ล้านบาทใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรดูแลราคายางพารา โดยที่เม็ดเงินทั้ง 2 ก้อนจะเน้นเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มสถาบันเกษตรกรยางพารา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ราคายางพาราจะลงไปกว่านี้หรือไม่ นายทรงธรรมกล่าวทิ้งท้ายว่า นโยบาย คสช.อัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการข้างต้น เพื่อต้องการพยุงราคายางแผ่นดิบไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ฉะนั้นราคายางไม่ควรลงถึง 50 บาทต่อกิโลกรัม


กำลังโหลดความคิดเห็น