xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายชาวสวนยางเตรียมร้องนายกฯ ช่วย ราคาร่วงเดือดร้อนหนักหวั่นล้มทั้งระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - สหกรณ์ยางตรังเดือดร้อนหนักจากราคาร่วง เหตุไม่คุ้มทุนการผลิต จนต้องขนน้ำยางส่งขายชายแดนเพื่อพยุงราคา เตรียมยื่นหนังสือร้องนายกรัฐมนตรี 26 ส.ค.นี้ หวั่นล้มทั้งระบบภายใน 2 เดือน เกษตรกรเริ่มหันพึ่งเงินกู้นอกระบบ

นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมตรัง จำกัด ในฐานะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้สหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมตรัง จำกัด รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะยางพารา ชนิดรมควัน มีราคาเหลือแค่ กก.ละ 54 บาทเท่านั้น และจะรับน้ำยางดิบจากสมาชิกในราคา กก.ละ 50 บาท หรือยอมรับซื้อน้ำยางดิบในราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป กก.ละ 2 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากที่ยางพารามีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมตรัง จำกัด กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ก็คือ ไม่สามารถเอาน้ำยางดิบมาทำยางแผ่นรมควันเพื่อส่งขายให้แก่ชุมนุมสหกรณ์ตรังได้ตามปกติ เนื่องจากสู้ราคาไม่ไหว เพราะบางวันราคาน้ำยางดิบสูงกว่าราคายางแผ่นรมควัน ทางสหกรณ์จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการส่งน้ำยางดิบบางส่วนไปขายยังโรงงานน้ำยางข้นในบริเวณพื้นที่ชายแดนด่านนอก จังหวัดสงขลา แต่บางครั้งก็ต้องประสบกับภาวะขาดทุน เนื่องจากบางวันมีผลผลิตน้อยไม่คุ้มกับค่าขนส่ง

โดยทุกวันนี้สหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมตรัง จำกัด สามารถรับซื้อน้ำยางดิบได้น้อยมาก หรือวันละ 1,500 กก. จากเดิมวันละ 9,000 กก. ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าในสิ้นปีบัญชีนี้จะมีสหกรณ์ประสบกับภาวะขาดทุนจากธุรกิจยางพาราอย่างมากมาย และจะอยู่ไม่ได้ โดยราคาขั้นต่ำที่เกษตรกรจะสามารถพยุงตัวเองได้ต้องไม่ต่ำกว่า กก.ละ 90 บาท

เนื่องจากต้นทุนการผลิตยางพาราขยับขึ้นไปอยู่ที่ กก.ละ 70 บาทแล้ว ดังนั้น ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้เครือข่ายสวนยางพารา รวมทั้งสถาบันเกษตรกรสวนยางพาราทั่วประเทศจะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ช่วยเหลือปัญหานี้อย่างจริงจัง

ด้าน นายชำนิ ลูกแป้น พ่อค้ารับซื้อน้ำยางสด ชาวอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง กล่าวว่า อาชีพสวนยางพาราถือเป็นชีวิตของคนไทยทั่วประเทศก็ว่าได้ โดยราคาที่ตกต่ำเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2540 แต่ปีนี้ถือว่าหนักมากกว่าประมาณ 45% ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นอยู่แบบนี้อีกประมาณ 2 เดือนเชื่อว่าชาวสวนยางพาราจะไม่สามารถอยู่ได้ และต้องล้มทั้งระบบอย่างแน่นอน เนื่องจากขณะนี้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนัก จนต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบเพื่อเอามาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น