ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- โคราชอนุมัติสินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราล็อตแรก 10 ล้านผ่านสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร สนองนโยบาย คสช. เผยโคราชมีพื้นที่ปลูกยางกว่า 70,000 ไร่ เปิดกรีดแค่ 10,000 ไร่ ด้านเกษตรกรชี้เป็นช่วงราคายางตกต่ำสุด ทนแบกขาดทุนกู้หนี้นอกระบบมาใช้จ่าย และเลิกจ้างคนกรีดยาง ดีใจรัฐช่วยเหลืออยากให้เร่งจ่ายเงินถึงมือเกษตรกรโดยเร็ว
วันนี้ (14 ต.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรตามแนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ ระดับจังหวัด ครั้งที่ 1/2557โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรผู้ปลูกยางพารากลุ่มต่างๆ เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติในหลักการแนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 2 มาตรา 9 แนวทาง 12 โครงการ ซึ่งมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเกษตรกร 2 โครงการ คือ 1. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมยางพาราภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง
และ 2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนแก่สถาบันเกษตรกรนำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานแปรรูปยางที่จัดสร้างไว้แล้ว และลงทุนจัดสร้างโรงงานใหม่ในการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า
นายวินัยกล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้มีมติในการอนุมัติสินเชื่อตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ในล็อตแรกรวมเป็นเงิน 10 ล้านบาท เกษตรกรชาวสวนยางกว่า 200 คน พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นสหกรณ์ฯ จำนวน 1 แห่ง คือ สหกรณ์ผู้ปลูกยางพาราลำเพียก จำกัด จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อรวบรวมยางแผ่นดิบ ปริมาณ 500 ตัน และยางก้อนถ้วย เศษยางปริมาณ 150 ตัน
กลุ่มเกษตรกร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราโคราช จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อรวบรวมน้ำยางสดปริมาณ 1,350 ตัน และกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราอำเภอเสิงสาง จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อรวบรวมน้ำยางสดปริมาณ 540 ตัน
จากนี้จะให้เจ้าหน้าที่เข้าดูรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลค้ำประกันอีกครั้งว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งยังมีกลุ่มผู้ปลูกยางและสหกรณ์อีกกว่า 20 แห่งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดย จ.นครราชสีมามีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 70,000 ไร่ ขณะนี้สามารถกรีดยางได้ประมาณ 10,000 ไร่
ด้าน นายวารินทร์ โฮมกระโทก อายุ 39 ปี ชาวสวนยาง อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบันราคายางพาราอยู่ที่ 40-45 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่ตกต่ำที่สุด ชาวสวนยางต้องทนแบกรับภาระขาดทุนไว้ บางรายต้องเลิกจ้างคนกรีดยางเพราะไม่คุ้ม และบางรายต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบมาหมุนเวียนไปก่อน การที่รัฐออกมาตรการช่วยเหลือทำให้เกษตรกรดีใจเพราะอดทนกันมานานหลายเดือนแล้ว และอยากให้ภาครัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินมาให้ถึงมือเกษตรกรโดยเร็ว และเร่งแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำโดยเร็วที่สุด