xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางจวกองค์กรรัฐล้มเหลว จี้ดึงงบ 3 หมื่นล้านจาก สกย.ช่วยเกษตรกรด่วน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราคาน้ำยางสด ขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 35-37 บาท
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรรมการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย อัดองค์กรรัฐแก้ปัญหายางพาราล้มเหลวมาตลอด เผยชีวิตความเป็นอยู่ชาวสวนยางในขณะนี้กำลังย่ำแย่อย่างหนัก จี้ดึงงบประมาณจาก สกย.มาช่วยชาวสวนยางด้วยการตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ ลงทุนเองได้ไม่ต้องรอต่างชาติ

นายถาวร วรรณกูล กรรมการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชส.ยท.) เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า จากปัญหาราคายางพาราที่ในขณะนี้ (10 ธ.ค.) ราคาน้ำยางสดตกลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 37 บาท ส่วนยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 41 บาท ประกอบกับสภาวะฝนตกในพื้นที่ได้ส่งผลกระทบทำให้ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางพาราทั้งภาคใต้อยู่ในสภาวะขาดรายได้อย่างหนัก ไม่มีเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน และต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงินหนึ่งเพื่อนำไปชำระหนี้ที่ติดค้างอยู่กับสถาบันการเงินอีกแห่ง หากยังอยู่ในสภาวะเช่นนี้นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

“มาถึงวันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า องค์กร และบุคคลต่างๆ ที่รัฐตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสวนยางพาราอย่างเป็นระบบนั้นด้อยประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถแก้ปัญหา หรือวางแผนไปสู่ความยั่งยืนได้จริง”
นายถาวร วรรณกูล
 
นายถาวร กล่าวและว่า ขณะนี้การแก้ปัญหาเร่งด่วนคือ รัฐต้องดึงเงินงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย.ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากภาษีส่งออกยางพาราซึ่งเก็บจากเกษตรกร หรือเงิน Cess ซึ่งจนถึงขณะนี้มีเงินที่ สกย.ฝากแบงก์เพื่อกินดอกเบี้ยไว้ถึงจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท โดยนำเงินส่วนนี้มาจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ และวัสดุสำหรับราดพื้นผิวถนน ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที และยังเป็นไปตามนโยบายการพัฒนายางพาราที่รัฐบาลวางไว้

“เราสามารถลงทุนได้เอง แต่หากจนถึงขณะนี้แล้วเรายังรอให้ประเทศอื่นมาลงทุนตั้งโรงงานแล้วให้เกษตรกรนำวัตถุดิบไปขาย เราก็จะพบปัญหาเดิมๆ อีก ประเทศเราสามารถลงทุนตั้งโรงงานได้เอง แต่ทำไมไม่ทำ เรามีมหาวิทยาลัยที่สอนนักศึกษาเรื่องแปรรูปปลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งระบบพวกเขาเรียนจบแล้วไปทำงานที่ไหน ทำงานอะไร รับใช้ใคร ปัญหาเรื่องยางยังมีส่วนที่จะต้องแก้ไขอีกมาก จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากไม่แก้ทั้งโครงสร้างก็จะยังมีปัญหาเรื่องราคาแบบนี้อยู่เรื่อยๆ คนที่ลำบาก และได้รับผลกระทบมากที่สุดทุกยุคทุกสมัยก็คือ เกษตรกร ในขณะที่ครอบครัวของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งดูแลเรื่องยางพาราโดยบริหารจากเงินภาษีของเกษตรกร กลับมีชีวิตที่สุขสบาย และไม่รู้สึกได้รับความเดือดร้อนอะไรเลย” นายถาวร กล่าว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น