xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ตีกลับร่าง กม.คุ้มครองผู้บริโภค ให้แก้รายละเอียดก่อนส่ง สนช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สารี อ๋องสมหวัง (แฟ้มภาพ)
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคสะดุด สปช.ส่วนใหญ่ ตีกลับให้ไปแก้ไขรายละเอียดก่อนส่งต่อ สนช. “ครุจิต” แย้งซ้ำซ้อนฝ่ายบริหาร เสนอแก้ กม.สคบ.ให้ผู้บริโภคร่วมนั่งกรรมการ ขณะที่ “ชิงชัย” แนะให้ภาคเอกชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองฝ่ายผลิต ด้าน “สารี” ยันไม่ซ้ำซ้อน แจงไม่ได้คว่ำร่าง ส่วนใหญ่รับหลักการแต่ต้องการให้แก้ไขในรายละเอียดให้สอดรับกับการปฏิรูป



การประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วันนี้ (2 ก.พ.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ... โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านคุ้มครองผู้บริโภค ได้แจ้งต่อที่ประชุม สปช.ว่าได้พูดคุยกับ นายบวรศักดิ์แล้วว่าให้เสนอ สปช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้โดยไม่ต้องรอให้การยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ เนื่องจากมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว รวมทั้งในร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างอยู่ก็มีการบัญญัติให้มีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว ดังนั้นยังไงเสียองค์การนี้ก็ต้องเกิดขึ้น

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ ให้จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานอิสระจากหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายหรือกฎ ระเบียบ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้อาจส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อขอให้ฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายแก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย

ส่วนคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมีทั้งสิ้น 15 คน มีวาระ 4 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน มีองค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรผู้บริโภค 7 ด้าน คือ การเงินและการธนาคาร การบริการสาธารณะ ที่อยู่อาศัย บริการสุขภาพ สินค้าและบริการทั่วไป สื่อสารและโทรคมนาคม และด้านอาหารและยา ผู้แทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคแปดเขตเลือกกันเอง โดยคณะกรรมการสรรหาที่มาจาก นายกสภาทนายความ อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทย ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การนี้จะได้รับการสนับสนุนทุนประเดิมก้อนหนึ่ง จากนั้นรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณรายปีไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวประชากร (ประมาณ 200 ล้านบาทในปัจจุบัน) มีหน้าที่ต้องรายงานนายกฯ มี สตง.ตรวจบัญชีการเงิน และมีการแบ่งเขตคุ้มครองผู้บริโภคเป็น 8 เขต

ด้านนายครุจิต นาครทรรพ สปช. ทักท้วงว่าอาจจะเป็นการซ้ำซ้อนกับงานฝ่ายบริหาร และเสนอให้แก้กฎหมาย สคบ.เพิ่มผู้บริโภคเป็นกรรมการแทน ขณะที่นายชิงชัย หาญเจนรักษ์ สปช.เสนอว่าให้มีตัวแทนภาคเอกชนจาก กกร.ประกอบด้วย สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทยเข้าไปร่วมอยู่ด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของฝ่ายผู้ผลิต ส่วน สปช.บางส่วนยังทักท้วงว่าการเปิดรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อุทิศให้ หากเป็นบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าบริการอาจทำให้คณะกรรมการชุดนี้เสียความเป็นอิสระได้

น.ส.สารี เลขาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคชี้แจงต่อที่ประชุมว่า องค์กรนี้ไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกับ สคบ. เพราะไม่มีอำนาจฟ้องคดีเองต้องผ่านอัยการสูงสุดเป็นผู้กรอง และหากเห็นว่า สคบ.ฟ้องก็จะไม่ฟ้องซ้ำ หลักการฟ้องก็ต่างกัน สคบ.ก็เกิดจากข้อร้องเรียนของผู้บริโภคที่เป็นปัจเจกชน ส่วนองค์กรคุ้มครองต้องเป็นประเด็นที่กระทบต่อสาธารณะโดยรวมองค์กรนี้อาจเป็นองค์การแรกที่เขียนไว้ว่า ถ้ากรรมการไม่เป็นอิสระทำหน้าที่มิชอบมีสิทธิ์ติดคุก 2 เดือน ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น - 2 แสนบาท และยังมีการตรวจสอบทางงบประมาณโดย สตง. รายงานต่อทั้ง ครม. และรัฐสภา และยังยึดโยงกับสมัชชาผู้บริโภคที่จะตรวจสอบแต่ละปีว่าทำนอกวัตถุประสงค์หรือไม่รักษาประโยชน์ของผู้บริโภคหรือไม่

น.ส.สารีกล่าวว่า องค์การนี้ไม่ได้ไปชี้ว่าบริษัทไหนผิด ต้องถูกปรับไม่มีอำนาจนี้ เพียงแต่ให้คำแนะนำแก่รัฐ สนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการใช้สิทธิ์ของภาคประชาชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนคุ้มครองตัวเองได้เป็นหัวใจสำคัญ มีผู้บริโภคไม่น้อยที่อยากกินขนมปังที่ไม่มีสารกันบูด การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะเป็นกำลังสำคัญให้ผู้บริโภคในตัดสินใจด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม หลังจากอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง นายบวรศักดิ์ ได้ให้สมาชิกฯ ลงมติว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาหรือไม่ปรากฏว่า สมาชิกเห็นด้วย 75 เสียง ไม่เห็นด้วย 145 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ซึ่งถือว่าที่ประชุมมีมติให้ กมธ.นำร่างกลับไปแก้ไขเพิ่มเติม ตามข้อบังคับ สปช. ข้อ 107 วรรค 4 โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านคุ้มครองผู้บริโภค รับที่จะกลับไปปรับปรุงเก้ไขก่อนส่งกลับมายัง สปช.อีกครั้งภายใน 30 วัน

น.ส.สารีกล่าวภายหลังผลการลงมติว่า แม้ สปช.จะโหวตรับด้วยเสียงข้างน้อยเพียง 72 เสียง แต่ยังไม่ถือว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไป เนื่องจากส่วนใหญ่รับในหลักการแต่ต้องการให้ปรับแก้ในรายละเอียด ซึ่งได้ให้เวลาสมาชิก สปช.แปรญัตติเข้ามาใน 7 วัน เพื่อพิจารณาปรับแก้ใน 30 วัน คล้ายกับกระบวนการในสภาล่าง ก่อนที่จะส่งต่อให้ สนช.พิจารณาอีก 3 วาระต่อไป

“สปช.ไม่ได้คัดค้านในหลักการ แต่ด้วยความเป็นห่วงในฐานะที่เป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรกที่ในแพคเกจการปฏิรูป จึงต้องการให้เกิดความละเอียดชัดเจนก่อนที่จะส่งไปยัง สนช.”


กำลังโหลดความคิดเห็น