xs
xsm
sm
md
lg

สปช.หนุนบี้ค่ายมือถือคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที ฉะเอาเปรียบฟันกำไรอื้อ เชื่อประหยัดขึ้น 3.6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สารี อ่องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช.(แฟ้มภาพ)
ที่ประชุม สปช.เห็นชอบ บี้ผู้ประกอบการมือถือคิดค่าบริการการใช้งานจริงเป็นวินาที ปธ.กมธ.ปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค ปูดรายได้ 3 เครือข่ายยักษ์ใหญ่ เอไอเอส ฟัน 1.4 แสนล้าน ทรู 9.6 หมื่นล้าน ดีแทค 9.4 หมื่นล้าน ฉะมุ่งเอาเปรียบผู้บริโภค ปัดเศษวินาทีเป็นนาที คิดค่าโทร.เกินจริง จี้ กสทช.ใช้กฎเหล็กคุ้มครองปชช. เชื่อทำได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายปีละ 3.6 หมื่นล้าน “เจิมศักดิ์” ไล่บี้หาช่องคืนเงิน

วันนี้ (6 ม.ค.) ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณารายงานการศึกษาเรื่อง การกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลา การใช้งานที่เป็นจริงโดยคิดเป็นวินาที ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาเสร็จแล้ว โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ชี้แจงว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ โดยผู้ใช้บริการจะถูกเก็บค่าบริการเป็นนาที แม้จะใช้งานจริงต่อครั้งไม่ถึงนาที ทำให้มีค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้งาน แม้จะไม่ขัดต่อกฎหมายกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องการให้ผู้ประกอบการคิดค่าบริการตามเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาที แต่การกระทำของผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในวงกว้าง จึงควรกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิให้ผู้ใช้ บริการจ่ายค่าบริการตามที่ใช้งานจริง

น.ส.สารีกล่าวว่า ขณะนี้รายได้ผู้ประกอบการ บริษัท ทรู มีรายได้รวมปี 56 มูลค่า 9.6 หมื่นล่านบาท ดีแทคมีรายได้ 9.4 หมื่นล้านบาท และเอไอเอส มีรายได้ 1.4 แสนล้าน ขอยกตัวอย่างการคิดค่าบริการของสหภาพยุโรป มีข้อกำหนดเรื่องการคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (โรมมิ่ง) โดย คิดค่าโทร.ขั้นต่ำที่ 30 วินาทีแรก จากนั้นตั้งแต่วินาที 31 เป็นต้นไปให้คิดค่าโทร.ตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาทีทั้งหมด ทั้งนี้จากการสำรวจการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของ กสทช. ค่าบริการในระบบเติมเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 341 บาทต่อเดือน ส่วนระบบรายเดือนอยู่ที่ 716 บาท ถ้าเฉลี่ยทั้งสองระบบมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 415 บาทต่อเดือน โดยค่าโทร.ระบบเติมเงินอยู่ที่ 1.20 บาท ระบบรายเดือนอยู่ที่ 1.70 บาท เฉลี่ยทั้งสองระบบค่าโทร.อยู่ที่ 1.30 บาท

“ส่วนเรื่องความเสียหายต่อผู้บริโภคนั้น คิดกันง่ายๆ หากมีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีจะช่วยประหยัดค่าโทรศัพท์ได้วันละ 1 นาที คิดเป็น 1.33 บาท ซึ่ง 1 เดือนจะประหยัดได้ 40 บาทต่อคน ประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์ 94 ล้านเลขหมาย จะประหยัดเงินได้เดือนละ 3,591 ล้านบาท หรือปีละ 43,092 ล้านบาท ทั้งนี้ในกรณีการค่าบริการรายเดือนที่มีการคิดค่าบริการปัดเศษจากวินาทีเป็นนาที ทำให้ต้องจ่ายแพงกว่าเดิม 300 บาทต่อเดือน ซึ่งมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์แบบรายเดือน 10 ล้านราย แต่ละคนต้องจ่ายแพง 300 บาท ประเมินขั้นต่ำมีการใช้บริการร้อยละ 20 ถูกคิดเกิน 600 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนคนใช้แบบระบบเติมเงินมีอยู่ 80 ล้านราย ถ้าคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 3,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ ปีละ 36,000 ล้านบาท”

น.ส.สารีกล่าวว่า สิ่งที่ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอจะช่วยประหยัดได้กว่า 3,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นการลดการเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้น ขอเสนอให้ สปช.เห็นชอบหลักการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานจริง โดยคิดเป็นวินาที และส่งเรื่องต่อ คสช.ให้ความเห็นชอบหลักการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานจริง โดยคิดเป็นวินาที นอกจากนี้ขอให้ สปช.ส่งเรื่องให้ กสทช.ดำเนินการใช้อำนาจตามมาตรา 31 วรรคสอง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มีคำสั่งห้ามผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดค่าบริการโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที เพราะเป็นการค้ากำไรเกินควร โดยให้คิดค่าบริการตามระยะเวลาที่ใช้งานจริงเป็นวินาที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นสมาชิก สปช.ได้อภิปรายสนับสนุนข้อเสนอของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้คิดค่าบริการโทรศัทพ์ตามระยะเวลาการโทร.จริงเป็นวินาที เพื่อลดการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช.อภิปรายว่า การดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภคในเรื่องดังกล่าว เป็นหน้าที่ของ กสทช.โดยตรง แต่ที่ผ่านมาเหตุใด กสทช.จึงไม่ยอมดำเนินการ ทั้งนี้ขอให้คณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมว่า จะมีช่องทางใดให้บริษัทเอกชนเหล่านี้พิจารณาคืนเงินย้อนหลังที่ประชาชนถูกเอาเปรียบคืนให้กับผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้หลังจากสมาชิก สปช.อภิปรายครบทุกคนแล้ว ที่ประชุม สปช.จึงให้ความเห็นชอบรายงานดังกล่าวของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยคะแนน 211 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 7 เพื่อส่งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น