xs
xsm
sm
md
lg

มติสปช.211ต่อ3เสียง ค่าโทรมือถือเป็นวินาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- สปช.เห็นชอบ บี้ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที “สารี”แฉรายได้ 3 เครือข่ายยักษ์ใหญ่ เอไอเอส ฟัน1.4 แสนล้าน ทรู 9.6 หมื่นล้าน ส่วนดีแทค 9.4 หมื่นล้าน อัดเอาเปรียบผู้บริโภค ปัดเศษวินาทีเป็นนาทีคิดค่าโทรเกินจริง จี้ กสทช.ใช้กฎเหล็กคุ้มครองประชาชน เชื่อทำได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายปีละ 3.6 หมื่นล้าน นายกฯลั่นไม่ใช้อำนาจ คสช.สั่งคิดค่าโทรศัพท์มือถือ ชี้หน้าที่ กสทช.วางกติกาให้เป็นที่ยอมรับ

วานนี้ (6 ม.ค.) ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ได้พิจารณารายงานการศึกษาเรื่อง การกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลา การใช้งานที่เป็นจริงโดยคิดเป็นวินาที ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาเสร็จแล้ว โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ชี้แจงว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ โดยผู้ใช้บริการจะถูกเก็บค่าบริการเป็นนาที แม้จะใช้งานจริงต่อครั้งไม่ถึงนาที แม้จะไม่ขัดต่อกฎหมายกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องการให้ผู้ประกอบการคิดค่าบริการตามเวลาการใช้งานจริง เป็นวินาที แต่การกระทำของผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในวงกว้าง

ขณะนี้ผู้ประกอบการเช่น บริษัท ทรู มีรายได้รวมปี 56 มูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท ดีแทค มีรายได้ 9.4 หมื่นล้านบาท และเอไอเอส มีรายได้ 1.4 แสนล้านบาท ขอยกตัวอย่างการคิดค่าบริการของสหภาพยุโรป มีข้อกำหนดเรื่องการคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (โรมมิ่ง) โดยคิดค่าโทรขั้นต่ำที่ 30 วินาทีแรก จากนั้นตั้งแต่วินาที 31 เป็นต้นไป ให้คิดค่าโทรตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาทีทั้งหมด

ทั้งนี้ จากการสำรวจการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของ กสทช. ค่าบริการในระบบเติมเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 341 บาทต่อเดือน ส่วนระบบรายเดือน อยู่ที่ 716 บาท ถ้าเฉลี่ยทั้งสองระบบมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 415 บาทต่อเดือน โดยค่าโทรระบบเติมเงินอยู่ที่ 1.20 บาท ระบบรายเดือนอยู่ที่ 1.70 บาท เฉลี่ยทั้งสองระบบค่าโทรอยู่ที่ 1.30 บาท

“ส่วนเรื่องความเสียหายต่อผู้บริโภคนั้น คิดกันง่ายๆ หากมีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที จะช่วยประหยัดค่าโทรศัพท์ได้วันละ 1 นาที คิดเป็น 1.33 บาท ซึ่ง 1 เดือน จะประหยัดได้ 40 บาทต่อคน ประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์ 94 ล้านเลขหมาย จะประหยัดเงินได้เดือนละ 3,591 ล้านบาท หรือปีละ 43,092 ล้านบาท ทั้งนี้ในกรณีการค่าบริการรายเดือน ที่มีการคิดค่าบริการปัดเศษจากวินาทีเป็นนาที ทำให้ต้องจ่ายแพงกว่าเดิม 300 บาทต่อเดือน ซึ่งมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์แบบรายเดือน 10 ล้านราย แต่ละคนต้องจ่ายแพง 300 บาท ประเมินขั้นต่ำ มีการใช้บริการร้อยละ 20 ถูกคิดเกิน 600 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนคนใช้แบบระบบเติมเงินมีอยู่ 80 ล้านราย ถ้าคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 3,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ ปีละ 36,000 ล้านบาท”

น.ส.สารี กล่าวว่า สิ่งที่ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอ จะช่วยประหยัดได้กว่า 3,000 ล้านบาท ต่อเดือน เป็นการลดการเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นขอเสนอให้ สปช.เห็นชอบหลักการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานจริง โดยคิดเป็นวินาที และส่งเรื่องต่อ คสช.ให้ความเห็นชอบหลักการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานจริง โดยคิดเป็นวินาที

นอกจากนี้ขอให้สปช. ส่งเรื่องให้กสทช.ดำเนินการใช้อำนาจตามมาตรา 31 วรรคสอง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มีคำสั่งห้ามผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดค่าบริการโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที เพราะเป็นการค้ากำไรเกินควร โดยให้คิดค่าบริการตามระยะเวลาที่ใช้งานจริงเป็นวินาที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นสมาชิก สปช.ได้อภิปรายสนับสนุนข้อเสนอของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้หลังจากสมาชิก สปช.อภิปรายครบทุกคนแล้ว ที่ประชุมสปช.จึงให้ความเห็นชอบรายงานดังกล่าวของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยคะแนน 211-3 เสียง งดออกเสียง 7 เพื่อส่งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างหารือ แต่ที่ผ่านมาทำไมไม่ฟ้องรัฐบาลเก่า รัฐบาลเดิม แต่เรื่องนี้ กสทช.จะต้องเข้าไปดำเนินการเพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น