xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ตีกลับร่างกฎหมายสคบ. แนะแก้ไขให้สอดรับแผนปฏิรูปฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวานนี้ ( 2ก.พ.) ได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ...โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านคุ้มครองผู้บริโภคได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้พูดคุยกับนายบวรศักดิ์แล้วว่า ให้เสนอ สปช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ โดยไม่ต้องรอให้การยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ เนื่องจากมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว รวมทั้งในร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างอยู่ ก็มีการบัญญัติให้มีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว ดังนั้นยังไงเสีย องค์การนี้ก็ต้องเกิดขึ้น
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว คือให้จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานอิสระจากหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย หรือ กฎ ระเบียบ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบ และรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ อาจส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อขอให้ฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ที่ร้องขอได้ด้วย
ส่วนคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีทั้งสิ้น 15 คน มีวาระ 4 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน มีองค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรผู้บริโภค 7 ด้าน คือ การเงินและการธนาคาร การบริการสาธารณะ ที่อยู่อาศัย บริการสุขภาพ สินค้าและบริการทั่วไป สื่อสารและโทรคมนาคม และด้านอาหารและยา ผู้แทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค 8 เขตเลือกกันเอง โดยคณะกรรมการสรรหาที่มาจาก นายกสภาทนายความ อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทย ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การนี้จะได้รับการสนับสนุนทุนประเดิมก้อนหนึ่ง จากนั้นรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณรายปีไม่น้อยกว่า 3 บาท ต่อหัวประชากร (ประมาณ 200 ล้านบาทในปัจจุบัน ) มีหน้าที่ต้องรายงานนายกฯ มี สตง. ตรวจบัญชีการเงิน และมีการแบ่งเขตคุ้มครองผู้บริโภคเป็น 8 เขต
นายครุจิต นาครทรรพ สปช. ทักท้วงว่าอาจจะเป็นการซ้ำซ้อนกับงานฝ่ายบริหาร และเสนอให้แก้กฎหมายสคบ. เพิ่มผู้บริโภคเป็นกรรมการแทน ขณะที่นายชิงชัย หาญเจนรักษ์ สปช. เสนอว่า ให้มีตัวแทนภาคเอกชน จาก กกร. ประกอบด้วยสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย เข้าไปร่วมอยู่ด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของฝ่ายผู้ผลิต ส่วน สปช. บางส่วน ยังทักท้วงว่าการเปิดรับบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินจากผู้อุทิศให้ หากเป็นบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าบริการ อาจทำให้คณะกรรมการชุดนี้เสียความเป็นอิสระได้
น.ส.สารี ซึ่งเป็นเลขาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า องค์กรนี้ไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกับ สคบ. เพราะไม่มีอำนาจฟ้องคดีเอง ต้องผ่านอัยการสูงสุด เป็นผู้กรอง และหากเห็นว่าสคบ. ฟ้อง ก็จะไม่ฟ้องซ้ำ หลักการฟ้องก็ต่างกัน สคบ.ก็เกิดจากข้อร้องเรียนของผู้บริโภคที่เป็นปัจเจกชน ส่วนองค์กรคุ้มครอง ต้องเป็นประเด็นที่กระทบต่อสาธารณะ โดยรวมองค์กรนี้อาจเป็นองค์การแรกที่เขียนไว้ว่า ถ้ากรรมการไม่เป็นอิสระทำหน้าที่มิชอบมีสิทธิ์ติดคุก 2 เดือน ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น –2แสนบาท และยังมีการตรวจสอบทางงบประมาณโดย สตง. รายงานต่อทั้งครม. และ รัฐสภา และยังยึดโยงกับสมัชชาผู้บริโภค ที่จะตรวจสอบแต่ละปี ว่าทำนอกวัตถุประสงค์หรือไม่ รักษาประโยชน์ของผู้บริโภค หรือไม่
น.ส.สารี กล่าวว่า องค์การนี้ไม่ได้ไปชี้ว่า บริษัทไหนผิด ต้องถูกปรับ ไม่มีอำนาจนี้ เพียงแต่ให้คำแนะนำกับรัฐ สนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการใช้สิทธิ์ของภาคประชาชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนคุ้มครองตัวเองได้เป็นหัวใจสำคัญ มีผู้บริโภคไม่น้อยที่อยากกินขนมปังที่ไม่มีสารกันบูด การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง จะเป็นกำลังสำคัญให้ผู้บริโภคในตัดสินใจด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม หลังจากอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง นายบวรศักดิ์ ได้ให้สมาชิกฯ ลงมติว่า จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) พิจารณาหรือ ไม่ปรากฏว่า สมาชิกเห็นด้วย 75 เสียง ไม่เห็นด้วย 145 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ซึ่งถือว่า ที่ประชุมมีมติให้ กมธ.นำร่างกลับไปแก้ไขเพิ่มเติม ตาม ข้อบังคับสปช. ข้อ 107 วรรค 4 โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านคุ้มครองผู้บริโภครับที่จะกลับไปปรับปรุงเก้ไขก่อนส่งกลับมายัง สปช. อีกครั้ง ภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ นส.สารี กล่าวภายหลังผลการลงมติว่า แม้ สปช.จะโหวตรับด้วยเสียงข้างน้อยเพียง 72 เสียง แต่ยังไม่ถือว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไป เนื่องจากส่วนใหญ่รับในหลักการ แต่ต้องการให้ปรับแก้ในรายละเอียด ซึ่งได้ให้เวลาสมาชิก สปช. แปรญัตติเข้ามาใน 7 วัน เพื่อพิจารณาปรับแก้ใน 30 วัน คล้ายกับกระบวนการในสภาล่าง ก่อนที่จะส่งต่อให้ สนช. พิจารณาอีก 3 วาระ ต่อไป
"สปช. ไม่ได้คัดค้านในหลักการ แต่ด้วยความเป็นห่วงในฐานะที่เป็น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรก ที่ในแพคเกจการปฏิรูป จึงต้องการให้เกิดความละเอียดชัดเจนก่อนที่จะส่งไปยัง สนช." นส.สารี กล่าว
**กมธ.ปฏิรูปการเมืองหวั่น ร่าง รธน.ถูกคว่ำ
ในวันเดียวกันนี้ มีการประชุมคณกรรมาธิการ (กมธ.)ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. )เพื่อพิจารณามติของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กรณีมีการนำระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม มาใช้ในไทย โดยเชิญ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ย่างร่างฯ ในฐานะสปช.ด้านการเมืองเข้าร่วมนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนมีการหารือเกี่ยวกับวาระการประชุม นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้แสดงความคิดเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ทำงานไป 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ควรจะมีการประชุมร่วม เพื่อหารือแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ถูกสังคมวิจารณ์ติติง อาทิ ประเด็นให้ข้าราชการประจำทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ที่ถูกวิจารณ์ว่ากำลังยกร่างฯกลับไปสู่ระบบเดิม ซึ่งเราอยู่เรือลำเดียวกัน จึงต้องปรึกษาหารือเพื่อรับผิดชอบร่วมกัน และไม่อยากเห็นร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกส่งกลับมาที่ สปช. ถูกแปรญัตติแบบรื้อร่าง ถ้าต่อจากนี้จนถึงเดือนเม.ย. กมธ.ยกร่างฯ ไม่ทบทวนกลับมาให้ดี มีโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำ ตนจึงจะประสานกับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อเสนอให้มีการประชุมร่วม ระหว่าง กมธ.ยกร่าง และกมธ.ปฏิรูปการ เมืองต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น