xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ต่ออายุรถเมล์ฟรีอีก 6 เดือน แจกตำบลละล้าน แก้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.เห็นชอบตั้ง "วุฒิชาติ" เป็นผู้ว่าการรถไฟฯ ขณะเดียวกันอนุมัติต่ออายุรถเมล์ รถไฟ ฟรีอีก 6 เดือน พร้อมให้คมนาคมวางเงื่อนไขในอีก 6 เดือนให้ฟรีเฉพาะคนจน คนแก่ และนักเรียน ผ่าน E-ticket เคาะงบฯ 3.1 พันล้าน แจกตำบลละ 1 ล้าน ตามโครงการสร้างรายได้ให้ชุมชน จ้างงานชาวบ้านช่วงฤดูแล้ง

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุมว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแต่งตั้ง นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร เป็นผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รวมทั้งเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพิ่มเติมแทนผู้ที่ลาออกไป ได้แก่ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการศาลยุติธรรม เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย พล.ต.ท.ธีรจิตร อุตมะ อดีตผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ครม.มีมติขยายระยะเวลามาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.- 30 ก.ค.58 โดยใช้วงเงินชดเชยทั้งสิ้น 2,113 ล้านบาท ครอบคลุมมาตรการลดใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์ฟรี) โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทาง ให้บริการประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ประมาณการณ์ค่าใช้จ่าย 1,589 ล้านบาท มาตรการลดใช้จ่ายโดยรถไฟชั้น 3 (รถไฟฟรี) ดำเนินการผ่านการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยรัฐรับค่าใช้จ่ายการจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคมจำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ให้บริการประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ประมาณการณ์ค่าใช้จ่าย 524 ล้านบาท

ทั้งนี้ ครม.ได้กำชับให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการสร้างความชัดเจนในรายละเอียดของมาตรการใหม่ โดยให้บริการฟรีเฉพาะกลุ่มแบบมีเงื่อนไข ผ่านการใช้ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) หรือการออกบัตรโดยสารแบบสิทธิพิเศษ โดยให้นำเสนอให้ ครม.เห็นชอบเพื่อเริ่มดำเนินการภายในวันที่ 1 ส.ค. 2558 เพื่อให้มีการดูแลผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และนักเรียน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ร.อ.นพ.ยงยุทธ ยังได้กล่าวถึงโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งว่า ก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.57 และในวันนี้ได้ให้ความเห็นชอบงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการจำนวน 3,173 ล้านบาท โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อกำหนดรายละเอียดของโครงการให้ชัดเจน และไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ด้วย โดยมีการดำเนินการในพื้นที่แล้งซ้ำซากจำนวน 3,052 ตำบล ใน 58 จังหวัด และให้จ้างเกษตรกรที่มีรายได้น้อยเป็นลำดับแรก โดยทางกระทรวงเกษตรฯจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดทำโครงการของชุมชนเป็นไปตามข้อกำหนด และให้ชุมชนจัดทำแผนบริหารโครงการของชุมชนหลังเสร็จสิ้นโครงการ เพื่อให้สามารถพัฒนาดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรที่เกิดขึ้นได้อย่างคุ้มค่า และมุ่งแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งให้มีรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้กำหนดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการ และเป็นผู้บริหารจัดการ สำหรับแนวทางการดำเนินงานจะให้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) เป็นตัวแทนชุมชนในการขอรับการสนับสนุน และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการเพื่อกลั่นกรอง อนุมัติ ติดตาม และตรวจสอบโครงการ โดยมีเกณฑ์การสนับสนุน อาทิ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เป็นการเกษตรหลักของชุมชน เน้นการจ้างแรงงานภายในชุมชน และสามารถดำเนินการได้ทันที เป็นต้น ทั้งนี้จะเป็นโครงการซึ่งต่างจากโครงการที่มีการช่วยเหลือไปแล้วในพื้นที่ที่รัฐงดส่งน้ำชลประทาน

“สำหรับงบประมาณ 3,173 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณสนับสนุนตำบลละ 1 ล้านบาท จำนวน 3,052 ตำบล เป็นเงิน 3,052 ล้านบาท และค่าบริหารโครงการเป็นเงิน 121 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ จะเกิดการจ้างแรงงาน 2,014,320 คนต่อวัน และเกิดกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของชุมชนรวม 2,441 ล้านบาท”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการดำเนินการของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 6 เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องทำหนังสือสัญญาที่หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ต้องเสนอ ครม. โดยต้องเป็นความตกลงที่เข้าเงื่อนไขทั้ง 7 ประการ ได้แก่ 1.ไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญ 2.ทำขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยราชการระดับกรม 3.ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับนโยบาย 4.ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันธ์งบประมาณ นอกจากงบประมาณที่ตั้งไว้ 5.สามารถดำเนินการภายใต้กฎหมาย หรือกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ 6.ส่วนราชการเจ้าของเรื่องต้องส่งร่างให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณา และ 7.ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง





กำลังโหลดความคิดเห็น