xs
xsm
sm
md
lg

บช.น.หารือกรมขนส่ง ออกใบสั่งออนไลน์ เริ่มทดลองใช้ ม.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. รับผิดชอบดูแลงานด้านการจราจร เปิดเผยว่า การดำเนินการด้านจราจรในปี 2558 ยังคงดำเนินการตามนโยบายที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. มอบหมาย โดย 5 ข้อ ที่ปรับมาใช้เป็นแผน ได้แก่

1.การบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเด็ดขาด 2.การลดอุบัติเหตุ 3.ปลูกฝังจิตสำนึกของตำรวจบริการประชาชนไม่รีดไถ่ประชาชน 4.การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานจราจร 5.แสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมทั้งนำโครงการพระราชดำริมาช่วยเหลือในงานจราจรควบคู่กันไป ส่วนไฮไลท์ จะอยู่ที่การจัดระบบการจราจรเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน โดยนำระบบเทคโนโลยีของการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องมาใช้

เบื้องต้นได้ประสานกับกรุงเทพมหานคร ผ่านดร. วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยอนุมัติให้นำระบบอีทิกเก็ต(E-Ticket) หรือระบบเครื่องออกใบสั่งอิเลคทรอนิกส์เชื่อมโยงกับระบบโพลิส(Police Information System) หรือระบบเชื่อมต่อข้อมูลของตำรวจ เชื่อมกับระบบของกรมขนส่งทางบก เพื่อออกใบสั่งเพื่อเปรียบเทียบปรับ

เพราะที่ผ่านมาดำเนินการเปรียบเทียบปรับประชาชนผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปีนี้จึงตั้งเป้าจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้วินัยจราจรดีขึ้น ใครได้รับใบสั่งแล้วจะต้องเสียค่าปรับ

สำหรับกรอบข้อกำหนดที่จะเตรียมไปเจรจากับทางกรมขนส่งนั้น ถ้ามีใบสั่งค้างจะปรับเทียบปรับในอัตราปกติ ถ้าค้าง 2 ใบ จะตัดคะแนนความประพฤติใบขับขี่ แต่ถ้าค้าง3 ใบ จะเพิกถอนใบขับขี่ ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมหารือข้อกำหนดดังกล่าวภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้การนำระบบเครื่องออกใบสั่งอิเลคทรอนิกส์(E-Ticket) และระบบตรวจจับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (Red Light Camera System) มาใช้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้แน่นอน

“นอกจากนี้ ทางบช.น.ได้มอบให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มาดำเนินการวางระบบ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกับบก.จร.ใน 2 ส่วน แบ่งออกเป็น ในส่วนแรกจัดทำแอพพิเคชั่น ให้กับตำรวจจราจรในการนำมาบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดกฎจราจรในการบันทึกภาพและวิดีโอตรวจจับการกระทำผิด ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถนำแอพพิเคชั่นดังกล่าวให้ประชาชนมาใช้กับประชาชนด้วยกันได้ เพราะยังต้องพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดอื่นๆ ได้แก่ ค่าปรับ วิธีการทางกฎหมายในเรื่องของระเบียบข้อบังคับให้ถูกต้อง โดยจะให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้ก่อน จึงได้มีการสำรวจตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่งานจราจรในพื้นที่บก.น.1-9 ที่จะเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 3,000 คน โดยจะจัดอบรบอาสาสมัครจราจร รุ่นที่1 ช่วงเช้า 1,000 นาย ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอบรมอาสาสมัครจราจร รุ่นที่ 2 ช่วงเช้าและบ่าย รวมตำรวจที่เข้าอบรมอีกประมาณ 2,000 คน เพื่อทดลองระบบให้เข้าที่เข้าทางในเดือนมกราคมนี้ ส่วนข้อกฎหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการได้อยู่แล้วและจะดำเนินการให้ประชาชนที่ได้มีการรวบรวมรายชื่อเข้าอบรมในโครงการดังกล่าวประมาณ 1,000 คน เพื่อเข้าร่วมทดลองใช้แอพพิเคชั่นดังกล่าวด้วยต่อไป"

พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กรณีจับรถติดที่ติดไซเรนผิดกฎหมายนั้น ขณะนี้เริ่มบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยได้สั่งการให้ทุกสน.ดำเนินการแล้ว หลังประชุมกับมูลนิธิ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้จัดส่งข้อมูลให้ศูนย์เอราวัณเพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตใช้ไซเรนอย่างถูกต้อง ลงชื่อไว้ติดไว้ที่หน้ารถยนต์ที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนสีของไซเรน รถกู้ภัยและรถยนต์สนับสนุน ฝ่ายมูลนิธิขอใช้สีแดง-น้ำเงิน ส่วนทางศูนย์เอราวัณขอให้ใช้สีแดง-น้ำเงิน อนุมัติเฉพาะรถพยาบาลฉุกเฉิน จึงได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่า จะสามารถใช้สีแดง-เหลืองได้หรือไม่ เพราะถ้าเป็นสีเหลืองอย่างเดียวอาจเกิดอันตราย กรณีดังกล่าวจะเสนอทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พิจารณาอีกครั้ง เพื่อกำหนดระเบียบข้อบังคับดังกล่าว โดยจะประชุมหารือร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุมผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตในการขอใช้ไซเรนแล้ว

ส่วนเรื่องเหตุวิวาทระหว่างทีมกู้ภัย ตนได้ประสานกับผู้รับผิดชอบของกรุงเทพมหานครแล้ว โดยเชิญสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) และโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมประชุมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีที่มีการให้ค่านำตัวผู้ได้รับอุบัติเหตุมาส่งยังโรงพยาบาลตั้งแต่1,500 บาท 2,000 บาท และบางรายถึง3,000 บาท จึงทำให้มีการแย่งแบ่งเขตกันไม่ลงตัวจนเกิดทะเลาะกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับการปลอดภัยสูงสุด จากหน่วยกู้ภัยที่เข้าช่วยเหลือ และมูลนิธิต่างๆดำเนินการด้วยจิตอาสา ลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดีออกไป โดยจะสร้างกรอบมาตรฐานและกฎระเบียบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น