xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมรับ “เครื่องออกใบสั่งออนไลน์” ง่ายต่อตำรวจ ดีต่อประชาชน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เตรียมทุ่ม 190 ล้านบาทจัดซื้อ “เครื่องออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์” ให้ตำรวจจราจร 1,300 เครื่อง คาดอีก 2 เดือนได้ใช้แน่ ระบบใบสั่งออนไลน์ แทนระบบกระดาษแบบดั้งเดิม! มั่นใจขจัดปัญหาจับปรับแบบสองมาตรฐาน โปร่งใสตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน แค่มีเจ้าเครื่องนี้ที่เรียกว่า “E-Ticket”




ไม่มีอีกแล้ว! เจ้าหน้าที่สองมาตรฐาน-ปฎิบัติมิชอบ

เดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ น่าจะได้เริ่มใช้ “เครื่องออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์” หรือที่เรียกว่า “E-Ticket” ตัวนี้กันได้แล้ว “พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์” รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ให้รายละเอียดเอาไว้เช่นนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนมอบหมายให้ผู้จัดทำโครงการเสนอเรื่องต่อ กทม. ตั้งเป้าไว้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จะได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องอำนวยความสะดวกนี้อย่างทั่วถึง โดยตั้งใจจะจัดซื้อทั้งหมดจำนวน 1,300 เครื่อง ตีเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 190 ล้านบาท

ย้ำชัดว่าไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เคยเสนอเอาไว้ตั้งแต่ปี 2554 แล้ว แต่ขณะนั้นเกิดวิกฤตน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ จึงจำต้องตัดงบประมาณในส่วนนี้ไป แต่ครั้งนี้น่าจะไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าจะช่วยเสริมให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพ ส่งให้เกิดผลดีต่อทั้งตำรวจและประชาชน

เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเทคโนโลยีตัวใหม่ตัวนี้มากขึ้น ทางทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live จึงสอบถามไปยังผู้ริเริ่มโครงการ ให้ช่วยวิเคราะห์ถึงความแตกต่างระหว่างระบบเดิมกับระบบใหม่ให้ฟังเสียเลย โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วๆ ไปกลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะยิ่งไปช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้กระทำผิด ให้สามารถเสียค่าปรับด้วยวิธีที่ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ต้องใช้ความพยายามเท่าเดิม จึงอาจส่งให้ไม่ก่อให้เกิดจิตสำนึกที่ยั่งยืนนั้น “พ.ต.อ.วันชัย อยู่แสง” รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้เอาไว้ว่า

“อันนี้ต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนนะครับว่า จุดมุ่งหมายจริงๆ ของกฎหมายไม่ได้ต้องการลงโทษให้เกิดความยุ่งยากนะ มันมีกำหนดบทลงโทษชัดเจนว่าต้องปรับผู้กระทำผิด เพราะฉะนั้น การลงโทษก็คือการกำหนดค่าปรับ ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายแล้ว ถ้ากฎหมายระบุว่าทำผิดเกินลิมิต ต้องยึดใบอนุญาตขับขี่แล้ว เราก็ต้องยึดครับ ต้องดูเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลัก พ.ร.บ.จราจรทางบก โทษกำหนดไว้ให้แค่ปรับเท่านั้นเอง

ในขณะเดียว ระบบนี้ก็ถือเป็นการลดภาระให้ทางรัฐด้วยนะครับ เพราะถ้าผู้กระทำผิดมีเยอะ เราก็ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน เพิ่มที่จอดรถ เพิ่มจุดอำนวยความสะดวกต่างๆ นานา รัฐก็ต้องเอาเงินมาลงทุนกับสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มันก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ รัฐก็ไม่ต้องมาลงทุนเรื่องการบริการ เอางบประมาณไปใช้กับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านอื่นได้เพิ่มอีกมากขึ้น

ที่คนบ่นกันว่า “สองมาตรฐาน” ได้ อันนั้นอาจเป็นเพราะก่อนหน้าเรายังไม่มีระบบฐานข้อมูลที่ดี เจ้าหน้าที่จะช่วยคนนี้ก็อ้างได้ว่า ผมไม่รู้ว่าเขาเคยทำผิดมาหรือเปล่า เช็กก็ไม่ได้ เพราะบางทีจับมาก็ไม่ได้ลงในระบบฐานข้อมูลทั้งหมด แต่ถ้ามี E-Ticket เข้าไปดูข้อมูลในระบบได้แล้ว จะตัดความผิดของคนคนนั้นออกไปได้ยังไง เพราะจะจ่ายใบสั่งได้ก็คือต้องเข้าระบบและเสียค่าปรับให้ระบบเท่านั้นครับ” ว่าแล้วผู้ริเริ่มโครงการมาตั้งแต่แรกจึงช่วยอธิบายประโยชน์ของเจ้าเครื่องนี้เพิ่มเติม



“ตัว E-Ticket ไม่ใช่แค่เครื่องออกใบสั่งเฉยๆ มันเป็นการทำงานเบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียวกัน คือมีทั้งขั้นตอนการสืบประวัติ การตัดแต้มด้วย สรุปแล้ว ถ้าตัวนี้มาจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเข้าระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยตัดปัญหาเรื่องตำรวจไม่ออกใบสั่งหรือเรียกเก็บเงินได้ ช่วยแก้ปัญหาการปฏิบัติไม่ชอบของตำรวจได้ด้วย

ปกติแล้ว เจ้าหน้าที่จราจรเจอการกระทำผิดก็จะเขียนใบสั่ง แล้วใบสั่งนั้นก็จะถูกส่งมายังโรงพัก และโรงพักจะกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบฐานข้อมูลจราจร เก็บเป็นสถิติ แต่สถิติที่เก็บมาได้จะเป็นข้อมูลด้านเดียว คือเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถดึงมาใช้หรือเรียกข้อมูลนั้นมาดูในตอนที่ตรวจจับผู้ขับขี่รถคนนั้นได้ ถ้าเจอคนเดิมหรือรถคันเดิมกระทำผิดอีก เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเคยทำผิดมาแล้วกี่ครั้ง ได้แค่เขียนใบสั่ง ระบบจะรู้อีกทีว่าคนนี้เคยกระทำผิดซ้ำเดิมหรือในข้อหาอะไรบ้างอีกครั้ง ก็ต่อเมื่อคนที่คีย์ข้อมูลหรือคนที่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลตรงนี้เข้าไปดูในฐานข้อมูลแค่นั้น

ข้อดีก็คือนอกจากจะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่แล้ว ยังสามารถอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ด้วย ต่อไปถ้ามีระบบฐานข้อมูลที่ดี เราก็จะมีการจัดการกับระบบอายัดบัตรที่ดียิ่งขึ้น คือสามารถระงับการยึดบัตรและสามารถตัดแต้มผู้ขับขี่ได้จริง ถ้าทุกอย่างตรวจสอบได้ สามารถทำได้ถึงเพิกถอนใบอนุญาตหรือระงับการใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของผู้ขับขี่ได้เลย ถ้าพบว่าเขากระทำผิดกี่ครั้งๆ แล้ว ตัดแต้มเหลือเท่าไหร่แล้ว



ในอนาคต ถ้าเรามีระบบฐานข้อมูลที่ดี เวลาตำรวจจราจรตรวจจับและพบผู้กระทำผิด เราก็ไม่จำเป็นต้องยึดใบอนุญาตขับขี่อีกต่อไป ก็จะทำให้ประชาชนสะดวกมากขึ้นในเรื่องการชำระค่าปรับ หลังจากแก้กฎหมายให้สามารถชำระค่าปรับได้ในจุดอื่นๆ ที่มี Counter Service แต่ทุกวันนี้ ผู้ขับขี่ที่กระทำผิดยังจำเป็นต้องไปเสียค่าปรับที่โรงพักเพราะทำผิดแล้วโดนยึดใบขับขี่ไป หรือบางคนก็ต้องใช้วิธีเสียค่าปรับผ่านไปรษณีย์แทน ซึ่งค่าใช้จ่ายของแต่ละครั้งมันสูงเพราะประชาชนต้องส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียน ส่งแบบ EMS เพื่อจะทำให้สามารถส่งใบขับขี่คืนให้ตัวเจ้าของได้

ตามกฎหมายแล้ว ระหว่างที่ถูกยึดใบขับขี่ สามารถใช้ใบขับขี่แบบชั่วคราวได้แค่ 7 วัน และระหว่างไปฝากชำระแล้ว สามารถใช้แทนไปได้ไม่เกิน 15 วัน เพราะฉะนั้น ทำให้ผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎจราจรต้องรีบไปจ่ายค่าปรับในสถานีตำรวจที่อยู่ในการดูแลที่ถูกจับ ไม่อย่างนั้น จะถูกปรับสูงขึ้นฐานไม่มารายงานตัวภายในระยะเวลาที่กำหนด

แต่ถ้าเราพัฒนาฐานข้อมูลและเอา E-Ticket มาใช้ ปัญหาเรื่องการยึดใบขับขี่จะหมดไปเลย เพราะตัวเครื่อง E-Ticket นี้ ไม่ได้แค่ทำหน้าที่ออกใบสั่ง แต่ยังรวมเอาระบบฐานข้อมูลจราจรและฐานข้อมูลอาชญากรรมทั้งหมดเอาไว้ เชื่อมโยงระบบเน็ตเวิร์กตามโรงพักต่างๆ ได้ ถ้าต่อไปเวลาผู้ขับขี่กระทำผิดแล้วอ้างว่าไม่ได้พกใบขับขี่มา ไม่ได้แล้ว แค่บอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หรือบอก ชื่อ-นามสกุล เจ้าหน้าที่ก็สามารถคีย์ข้อมูลดูได้แล้ว




เพิ่มงาน-เพิ่มประสิทธิภาพ “ตำรวจจราจร”

“พอมีเครื่องนี้แล้ว งานด้านการจราจรก็จะขยายออกไปได้มากขึ้น สามารถช่วยตรวจสอบป้องกันอาชญากรรมได้มากขึ้น ถ้าสมมติใครมีหมายจับมา ถูกจราจรเรียกดูปุ๊บ ฐานข้อมูลจะแจ้งทันทีว่าผู้ขับขี่คนนี้ถูกหมายเรียกจับอยู่นะ หรือขับรถเมามา ถูกระงับใบอนุญาตขับขี่อยู่ แล้วเห็นว่ามาขับรถแบบนี้ก็ไม่ได้ จะถูกจับยัดห้องขังทันที หรืออย่างรถหาย มีคนแจ้งข้อมูลตัวรถไว้ปุ๊บ ถ้าคีย์ทะเบียนเจอว่าถูกอายัดแล้ว เจ้าหน้าที่ก็สามารถจับได้ทันที

หรือรถคันไหนใช้ป้ายทะเบียนปลอมมา ก็สามารถคีย์ข้อมูลจากตัวเลขถังได้เลย ตำรวจจะรู้เลยว่าเป็นรถปลอม ระบบนี้จะทำให้ความปลอดภัยสูงขึ้น คือปลอดภัยทั้งเรื่องกฎหมายจราจรและปลอดภัยต่อเรื่องอาชญากรรมด้วย เรียกว่าทำงานครั้งเดียวแต่ได้ผลครอบจักรวาล น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแล้วครับเพราะต่างประเทศเดี๋ยวนี้ก็ใช้อย่างนี้หมด


ในอนาคตถ้าเปิดเป็น AEC แล้ว รถต่างชาติมาวิ่งในไทยได้ ก็ต้องใช้ระบบฐานข้อมูลของประเทศอาเซียนเข้ามาเชื่อมโยงไว้ใช้ตรวจสอบร่วมกัน ไม่ว่าชาติไหนทำผิดก็จะได้ส่งข้อมูลถึงกันได้ มันเป็นความจำเป็นที่จะต้องทำแล้วครับ ทุกวันนี้ สิงคโปร์, มาเลเซีย ก็ใช้ระบบ E-Ticket แบบนี้กันหมดแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ใช้แบบนี้กันหมดแล้วครับ ไม่ใช่ว่าตำรวจออกไปทำงาน ผลได้แค่ใบสั่งกลับมานิดเดียว กวดขันวินัยจราจรแล้ว ก็ต้องเพิ่มเรื่องช่วยป้องกันปรามปราบอาชญากรรมเสริมเข้าไปด้วย ทุกวันนี้กำลังตำรวจก็น้อยลงทุกวันๆ หน้างานมีมากขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องเอาเทคโนโลยีมาช่วยแบบนี้แหละครับ



ส่วนถ้าใครจะคิดว่าเครื่องนี้ออกมาแล้ว อาจจะใช้ไม่ได้ผลสำหรับคนมีตังค์ที่ยอมเสียค่าปรับ อันนี้ก็ไม่มีปัญหาครับ เพราะถ้าเรามีระบบฐานข้อมูลที่ดี เราก็สามารถทำสเต็ปของการปรับได้ ถ้าฝ่าไฟแดงครั้งแรก เราปรับคุณ 500 ภายใน 1 ปี คุณทำผิดซ้ำเดิมอีก อาจจะปรับเพิ่มเป็น 700 เป็น 1,000 บาท แต่ผมเชื่อว่าโดยสัญชาตญาณมนุษย์แล้ว เราจะไปเสียเงินเพิ่มทำไมใช่มั้ย เงิน 500 บาทไม่เสียดายเหรอ

ผมว่าปัญหาการฝ่าฝืนจราจรอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพครับ อันนี้ต้องยกตัวอย่างการติด Red Light Camera (เครื่องตรวจจับรถฝ่าฝืนไฟจราจร) ตอนที่ติดครั้งแรก สถิติผู้กระทำผิดพุ่งขึ้นมาสูงมากๆ นะ โดยเฉพาะแท็กซี่เยอะมาก หลังจากติดไปประมาณ 6 เดือน สถิติผู้กระทำผิดลดลงฮวบฮาบเลย โดยเฉพาะแท็กซี่ ลดลง 70-80 เปอร์เซ็นต์เลย โดยรวมแล้วกระทำผิดลดลง 60 กว่าเปอร์เซ็นต์



(ขอบคุณภาพ: Bangkok Post)
ลองสังเกตนิสัยคนไทยสิครับ ให้ไปขับรถในต่างประเทศไม่มีปัญหาหรอก ไม่ฝ่าฝืนเลย รักษาวินัยเขาดี เพราะว่าเรากลัวกฎหมายของเขา เรารู้ว่าการบังคับใช้กฎหมายเขามีประสิทธิภาพสูง นำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้ มันควบคุมได้ว่าทำผิดครั้งที่ 1, 2 หรือ 3 ควรจะมีอัตราโทษต่างกันยังไง

ถ้าบอกว่าคนรวยไม่กลัวเรื่องเสียค่าปรับหรอก ถ้าไปทำให้เขาสะดวกมากขึ้น ก็ต้องบอกว่าเขาอาจจะไม่สนใจเรื่องต้องจ่ายเงินก็จริงครับ แต่อย่าลืมว่าถ้าทำผิดหลายครั้งเข้า ถูกตัดแต้มเกินที่กำหนด ถ้าถูกตัดเกิน 60 แต้ม คุณจะโดนพักโดนยึดหรือโดนเพินถอนใบอนุญาตขับขี่กี่วันๆ ก็ว่าไป นี่คือประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่จะตามมาหลังจากเรามีการจัดการกับระบบฐานข้อมูลที่ดี”


ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น