xs
xsm
sm
md
lg

เผยภาพคณะปลัดพลังงาน-กรมเชื้อเพลิง-สื่อ บินสำรวจ“ปลาทอง-เชฟรอน” ก่อนเริ่มเปิดคัดเลือก”สัมปทานรอบ21”ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน  ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับสื่อก่อนขึ้นเครื่อง
ASTVผู้จัดการ-เผยภาพคณะปลัดพลังงาน-กรมเชื้อเพลิง-สื่อ บินนครศรีธรรมราช สำรวจแท่นขุดเจาะปลาทอง-เชฟรอน ก่อนเริ่มเปิดคัดเลือก"สัมปทานรอบ21"ในเดือนมกราคมนี้ ระบุเป็นการสำรวจว่าระบบสัมปทานมีช่องโหว่ในการทุจริตได้หรือไม่

วันนี้(27ม.ค.58) นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงพลังงาน พร้อมคณะสื่อมวลชนคณะหนึ่ง ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ เดินทางลงพื้นที่ อ่าวไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของบริษัทเชฟรอน

โดยมีการเข้ามาดูระบบปฏิบัติงานของฐานผลิตปลาทองและฐานผลิตบงกช ซึ่งห่างจากชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 200 กิโลเมตร

มีรายงานว่า คณะดังกล่าวได้เข้ามาตรวจสอบความคืบหน้าในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 รวมทั้งหลังจากมีกระแสข่าวว่า น้ำมันที่ขุดได้มีน้อยลง และเป็นน้ำมันหนักที่ไม่สอดรับกับโรงกลั่นในประเทศไทย รวมทั้งไม่สามารถส่งออกได้เนื่องจากติดข้อบังคับที่จะจำหน่ายในประเทศ รวมถึงโรงกลั่นในไทยก็ไม่รองรับ

"เป็นการมาสำรวจว่า แท่นขุดทั้งแท่นปลาทอง และแท่นบงกช ว่ามีปริมาณก๊าซและน้ำมัน ที่สำรวจและผลิตได้ปัจจุบันเป็นอย่างไร และระบบสัมปทานมีช่องโหว่ในการทุจริตได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายอารีพงศ์ ได้ชี้แจงว่า ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยเฉพาะความเหมาะสมระหว่างการใช้ระบบสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น ขอยืนยันว่า ระบบสัมปทานของไทยเป็นระบบมาตรฐานสากล โปร่งใส สามารถตรวจสอบความถูกต้อง (Cross Check) ภายใต้หลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างรัฐกับผู้รับสัมปทาน และหลักเกณฑ์ด้านการตรวจสอบควบคุมการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 นี้ กระทรวงพลังงานจะพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการปิโตรเลียมให้มีความเข้มข้นขึ้นเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับสังคมและรักษาผลกระโยชน์ของประเทศ โดยจะดำเนินการ 2 ส่วน คือ การคัดเลือกกรรมการในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจะคัดจากผู้มีประสบการณ์ด้านภาษี กฎหมาย อุตสาหกรรม และมีตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นร่วมด้วย รวมถึงจะมีการปรับรูปแบบการทำบัญชี การตรวจสอบ เพื่อให้ประโยชน์ตกกับไทยมากขึ้น โดยจะมีการว่าจ้างบริษัทด้านการทำบัญชี 1 ใน 4 ของโลกเข้ามาทำดำเนินการ เพื่อพิจารณาด้านค่าใช้จ่าย หรือกระบวนการใดต้องปรับปรุงบ้าง โดยเริ่มเปิดคัดเลือกแล้วในเดือนมกราคมนี้

ขณะที่ไทยยังไม่พร้อมกับระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (พีเอสซี) เนื่องจากระบบดังกล่าวต้องใช้เวลาในการจัดทำหลักเกณฑ์ การยกร่างกฎหมาย การตั้งองค์กรขึ้นมากำกับดูแล รวมระยะเวลาแล้วเสร็จประมาณ 4-5 ปี จึงจะสามารถเปิดดำเนินการ ประกอบกับระบบดังกล่าวเหมาะกับประเทศที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันเพราะมีปิโตรเลียมสูง ต่างกับไทยที่มีสำรองปิโตรเลียมค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกระทรวงพลังงานจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวซึ่งอาจมีการปรับปรุงข้อกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อม

ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของไทยมีเพียงพอใช้ไม่ถึง 10 ปี ดังนั้นจึงไม่ควรชะลอการจัดหาปิโตรเลียม ซึ่งการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 หลังวันที่ 18 กุมภาพันธ์ จะใช้เวลาพิจารณานักลงทุนที่ผ่านเกณฑ์อีก 6 เดือน และใช้เวลาในการสำรวจและค้นพบเร็วสุดคืออีก 4 ปีข้างหน้า นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 คณะนางคริสตี้ เคนนีย์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอมริกาประจำประเทศไทย ที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ได้เดินทางมายัง แท่นขุดของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในแหล่งปลาทอง เป็นคณะล่าสุดเช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น