xs
xsm
sm
md
lg

อย่าโง่ต่อสัมปทาน "ธีระชัย"ดักคอฮุบพลังงาน วอน"บิ๊กตู่"รักษาผลประโยชน์ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-"ธีระชัย"ดับเครื่องชน อัด "โง่มาก" ถ้าใครต่ออายุสัมปทาน "แหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช" ให้เซฟรอนและปตท.สผ. ที่กำลังจะหมดอายุ ชี้ทั้งสองแหล่งพิสูจน์แล้วว่ามีก๊าซแน่นอน คิดเป็น 60% ของการผลิตทั้งประเทศ แนะใช้วิธีเปิดประมูลให้จ้างผลิตแทน ดักคอใครชงเรื่อง ตั้งข้อสงสัยได้เลยเอื้อเอกชนโดยมิชอบ พร้อมส่งจดหมายถึง "บิ๊กตู่" ขอความเป็นธรรมกรณีถูก ปตท. ฟ้อง และขอให้ช่วยรักษาผลประโยชน์ชาติ กรมเชื้อเพลิงฯ ยันพื้นที่เปิดให้ยื่นสำรวจรอบใหม่อยู่ในเขตอธิปไตยไทย 100%

วานนี้ (19 พ.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnarubala เป็นทัศนะเกี่ยวกับกรณีความพยายามที่ภาครัฐในการต่อสัญญาสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แห่ง คือ

1.แปลงสำรวจหมายเลข 10 11 12 และ 13 (แหล่งก๊าซเอราวัณและใกล้เคียง) ซึ่งได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2515 และจะหมดอายุในวันที่ 23 เม.ย.2565 ปัจจุบันดำเนินงานโดยบริษัทเชฟรอน

2.แปลงสำรวจหมายเลข 15 16 และ 17 (แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช) ซึ่งได้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 8 และ 10 มี.ค.2515 โดยแปลง 15 จะหมดอายุในวันที่ 23 เม.ย.2565 ส่วนแปลง 16 และ 17 จะหมดอายุ ในวันที่ 7 มี.ค.2566 ปัจจุบันดำเนินงานโดย บริษัท ปตท.สผ.

***ซัดต่อสัมปทานถือว่า "โง่มาก"

ทั้งนี้ นายธีระชัยให้ความเห็นว่า ไม่ควรต่อสัญญา แปลงสัมปทานที่ใกล้หมดอายุในรอบแรก เนื่องจากทั้งสองแหล่งมีก๊าซแน่นอน โดยคิดเป็นร้อยละ 60 ของการผลิตก๊าซทั้งประเทศในขณะนี้ หากรัฐบาลไทยให้ต่อไปก็ถือว่า “โง่มาก” และหากข้าราชการผู้ใดเสนอให้ต่ออายุสัมปทาน ประชาชนก็สามารถตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนได้เลยว่า ข้าราชการผู้นั้นน่าจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้บริษัทที่มีโอกาสได้รับสัมปทาน โดยมิชอบ

ส่วนการดำเนินการใช้ประโยชน์ต่อไปจากแหล่งก๊าซทั้งสองแหล่งนั้น อดีต รมว.คลัง เห็นว่า เมื่อสัญญาหมดอายุในปี 2565 และ 2566 รัฐก็ควรจะเปลี่ยนไปใช้วิธีจ้างผลิตแทน โดยเปิดประมูลว่าใครจะยอมรับค่าจ้างต่ำที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2557 นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ภายในเดือนต.ค.2557 กระทรวงพลังงานจะออกประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อที่จะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศรองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาตินับเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญที่ไทยยังมีความจำเป็นจะต้องจัดหาทั้งจากพื้นที่ภายในประเทศไทยเองและพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ส่วนการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุประมาณปี 2565-66 จะพยายามสรุปให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ

***ส่งจม.ถึง"บิ๊กตู่"รักษาประโยชน์ชาติ

วันเดียวกันนี้ นายธีระชัย ยังได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยแพร่ลงในเฟซบุ๊ก เรื่อง ขอความเป็นธรรม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องตนเองต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังนายธีระชัยได้เขียนข้อความลงในเฟซบุ๊กดังกล่าวแฉกรณีการคืนท่อก๊าซอันเป็นสาธารณะสมบัติให้รัฐไม่ครบถ้วน พร้อมเอกสารหลักฐานเป็นหนังสือจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงกรณีที่ ปตท. มีการรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด

"กระผมจึงขอประทานความกรุณาจากท่านได้โปรดรับทราบความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีความเห็นว่าได้มีการรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด และกรณีที่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ ยังไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพื่อท่านจักได้พิจารณาดำเนินการให้ความเป็นธรรมแก่กระผมและประชาชนคนไทยทุกคน รวมถึงรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป" นายธีระชัยระบุ

***ยันพื้นที่เปิดสำรวจเป็นอธิปไตยไทย

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่าการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ มีพื้นที่แปลงบางส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านว่า พื้นที่แปลง G1/57 และ แปลง G2/57 (A) ตามประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ คือ แปลงที่มีผู้คืนพื้นที่สัมปทานเดิมมาให้รัฐ ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังคงมีศักยภาพน่าสนใจ จึงนำมากำหนดเป็นแปลงให้มีการยื่นขอสิทธิใหม่

ทั้งนี้ ทั้งสองแปลงมีขอบแปลงทางทิศตะวันออกจรดกับพื้นที่แปลงสัมปทานที่ 5 แปลงสัมปทานที่ 8 และ 9 ของไทยตามลำดับ ซึ่งในปัจจุบันทั้งสามแปลงดังกล่าวยังคงมีผู้รับสัมปทานถือสิทธิอยู่ โดยรัฐบาลไทยได้ให้สิทธิในการสำรวจปิโตรเลียมไปตั้งแต่ปี 2514 แต่ต่อมาในปี 2518 รัฐบาลไทยมีคำสั่งให้ผู้รับสัมปทานระงับการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านจนกว่ารัฐบาลทั้งสองจะบรรลุข้อตกลงระหว่างกัน

"ขอยืนยันว่าพื้นที่ แปลง G1/57 และ แปลง G2/57 (A) ในการเปิดให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ อยู่ในเขตสิทธิอธิปไตยในทะเลของไทย 100% ไม่มีประเด็นอะไรเกี่ยวกับเกาะกูด หรือพื้นที่ไหล่ทวีปในทะเลทับซ้อนกับกัมพูชาแต่อย่างใด"นางพวงทิพย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น