xs
xsm
sm
md
lg

ร้องศาลระงับมติกพช.เบรกสัมปทานปิโตรฯ"ณรงค์ชัย"ลั่นต้องทำ-ปตท.สผ.เอี่ยวประมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นศาลฯ เบรกสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และให้สปช.ด้านพลังงานทำหน้าที่ในการปฏิรูปร่วมกับภาคประชาชนก่อน จวกรัฐเร่งรีบไม่รอสปช.ทั้งที่มีเวลาถึง 1 ปีมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเอื้อกลุ่มทุน ด้าน”ณรงค์ชัย” ลั่นเดินหน้าสอดรับPDPใหม่แจงที่ไม่รอสปช.เพราะเรื่องจัดหาพลังงานเป็นสิ่งที่ต้องทำมีเวลาแค่ 1 ปี ไม่ใช่เรื่องปฏิรูป แจงแปลงสำรวจเพิ่มใหม่G1/57ไม่เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ขณะที่ปตท.ส่งบริษัทลูกร่วมประมูล เน้นจุดที่มีโอกาสสูง

วานนี้ (27ตุลาคม) ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วย พล.ร.อ. บรรณวิทย์ เก่งเรียน และพ.ญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี และเครือข่าย เดินทางเข้ายื่นฟ้องต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช. ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกรณีการประชุมกพช.เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีเห็นชอบแนวทางการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 จำนวน 29 แปลงทั้งบนบกและในทะเล

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การยื่นฟ้องขอให้ศาลปกครองได้พิจารณาพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติ หรือระงับประกาศของกรมเชื้อเพลิงเพื่อเปิดให้เอกชนยื่นรับสิทธิ์สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งพิพากษาหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือระงับการให้ความเห็นของกพช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรอจนกว่าคณะกรรมการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ด้านพลังงาน จะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และควรให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน

“ ถือเป็นการทำโดยเร่งรีบทั้งที่ปัญหาพลังงานกำลังเป็นประเด็นถกเถียงของภาคประชาชนโดยทั่วไป สัมปทานมีมูลค่ามากมายซึ่งไทยควรจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมากกว่าระบบสัมปทาน ทั้งที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 บัญญัติให้มีสภาปฏิรูปปฏิรูปแห่งชาติหรือปช. เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างพลังงาน ดังนั้นรัฐบาลควรให้สปช.ด้านพลังงานเข้าไปทำหน้าที่ให้เสร็จก่อนซึ่งไม่น่าจะเกิน 1 ปี แต่รัฐบาลมาเร่งรีบอนุมัติสัมปทาน ครั้งที่ 21 ซึ่งจะมองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผู้ประกอบการ ” นายศรีสุวรรณกล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรอ้างว่าพลังงานจะหมดไปภายใน 1 - 2 ปีด้วยการสร้างข้อมูลเท็จ อย่างไรก็ตามขอให้รอผลการศึกษาและสรุปของสภาปฏิรูปพลังงานที่เชื่อว่า จะได้ข้อยุติที่เป็นที่พอใจและยอรับของประชาชน เพราะเชื่อว่าสภาปฏิรูปจะเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

ทั้งนี้ หาก สปช.มีข้อสรุปเรื่องการปฏิรูปพลังงานออกมาในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง สมาคมฯและภาคประชาชนจะยอมรับข้อสรุปดังกล่าวหรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการทำงานของ สปช.ด้านพลังงานจะไม่ใช่แค่การนั่งคุยกันของคนไม่กี่คน แต่คงจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งหากข้อสรุปเรื่องการปฏิรูปพลังงานมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทางสมาคมฯก็พร้อมยอมรับ และเชื่อว่าประชาชนก็จะยอมรับข้อสรุปดังกล่าวด้วย

“ณรงค์ชัย”เมินชี้มีเวลาแค่1ปีไม่ใช่เวทีปฏิรูป

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงมติกพช.ว่า เป็นเรื่องของการรับทราบรายงานของแผน PDP 2015 (2559-2579) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นเพื่อเสนอกพช.เห็นชอบในครั้งหน้าซึ่งภายใต้แผนดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดการใช้เชื้อเพลิงซึ่งจะรวมถึงการเปิดให้สำรวจสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ที่ 21 เพื่อเร่งสำรวจและจัดหาแหล่งพลังงานเพราะปัจจุบันไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟสูงถึง 70% ดังนั้น เหตุที่ไม่รอให้มีการหารือในเวทีสปช. (ด้านพลังงาน) เพราะตนมีหน้าที่มาทำงานและมีเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้นต่างคนต่างก็มีหน้าที่ ขณะเดียวกันการหารือในสปช.ก็ใช่ว่าไทยจะต้องเลิกสำรวจและผลิตพลังงานเพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำไม่ใช่เรื่องของการปฏิรูป

“ ยืนยันว่าพื้นที่แปลงสำรวจสัมปทานปิโตรเลียมแปลง G1/57 ที่มีบางกลุ่มอ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย- กัมพูชาไม่ใช่แน่นอนเป็นพื้นที่อยู่ในอธิปไตยของไทยไม่เกี่ยวกัน ส่วนกรณีจะมีการฟ้องร้องคนที่บิดเบือนข้อมูลหรือไม่ผมบอกเลยว่าไม่มีแนวคิดนี้เพราะเขาก็มิสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลอยู่ที่ประชาชนจะเชื่อหรือไม่เชื่อเขาเท่านั้นส่วนการเดินทางของนายกรัฐมนตรีที่จะไปเยือนกัมพูชาเร็วๆ นี้ก็จะมีเรื่องความร่วมมือด้านพลังงานเช่น ไฟฟ้าและการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วย” รมว.พลังงานกล่าว

แย้มเปิดประมูลรับซื้อไฟจากเอกชน(IPP)

สำหรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือPDPฉบับใหม่ จะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลงจาก 70% เหลือ 30% เมื่อสิ้นสุดแผนและจะเพิ่มสัดส่วนถ่านหินเป็น 30% ซื้อไฟฟ้า 30% ที่เหลือพลังงานทดแทนและอื่นๆนั้น ตามแผนดังกล่าว จะมีการเปิดประมูลโครงการรับซื้อไฟจากเอกชนหรือ IPP ด้วยซึ่งจะรวมถึงเชื้อเพลิงถ่านหินส่วนรายละเอียดจะอย่างไรจำนวนกี่เมกะวัตต์คงต้องรอให้สรุปก่อน

“แผนพีดีพีจะล้อไปกับเรื่องการกำหนดเชื้อเพลิงซึ่งก็จะว่าด้วยเชื้อเพลิงต่างๆ และการเปิดสัมปทานเพราะต้องจัดหาก๊าซ และยืนยันว่าถ่านหินมีเทคโนโลยีที่สะอาดแล้ว และพลังงานทดแทนรัฐก็หนุนเต็มที่แต่อย่างเก่งจะผลิตไฟได้แค่ 5% ของการผลิตทั้งแผนได้เท่านั้น จากการผลิตไฟอยู่ประมาณ 3.4 หมื่นเมกะวัตต์รวมกับที่ซื้อที่ลาวด้วยถ่านหินที่ให้เร็วสุดระยะสั้นก็คงต้องเป็นโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่เช่นนั้นคนภูเก็ตจะเดือดร้อนเพราะกลางคืนต้องพึ่งไฟจากมาเลเซีย ”รมว.พลังงานกล่าว

นอกจากนี้ ตามแผนเมื่อจัดหาก๊าซฯก็จะต้องมีระบบการขนส่งทางท่อเพราะไทยมีการใช้ก๊าซฯมากและยังต้องมองรวมไปถึงระบบท่อน้ำมันด้วยถ้าก๊าซมีปัญหาเพื่อเชื่อมโยงกัน ดังนั้นก็จะมีแผนวางท่อก๊าซฯเส้นที่ 5 ไปยังภาคอีสานเพราะเวลานี้แนวโน้มการผลิตก๊าซที่ภูฮ่อมจะหมดลงในอีก 7ปีข้างหน้า

ส่วนกรณีปัญหาด้านกฏหมายว่าปตท.คืนท่อก๊าซฯครบหรือไม่อยู่ที่กระบวนการกฏหมายจะตัดสินใจแต่ในแง่ของการแยกบริษัทท่อของปตท.จะเร่งดำเนินการตามแผนให้ได้ในมิ.ย. 58

กรมเชื้อเพลิงแจงกรณีต่ออายุเชฟรอน-ปตท.สผ.

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า แปลง G1/57 ขอบแปลงอยู่ในอธิปไตยแน่นอนเพียงแต่ไปชนเส้นขอบแปลงที่ให้สัมปทานไปแล้วเมื่อปี 2514 คือ Block ที่ B 56 ที่ให้กับบริษัทดีมิตซึ และเชฟรอน แต่มติครม.ปี 2518 ให้หยุดไปก่อนจนกว่าจะเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิได้ และขอชี้แจงว่ากรณีการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ของเชฟรอนและแหล่งบงกชของปตท.สผ.ที่จะสิ้นสุดอายุในปี 2565 นั้นคนละประเด็นกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ โดยการต่ออายุอยู่ระหว่างการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาเพื่อพิจาณาแนวทางและเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียมก่อนเสนอครม.อนุมัติซึ่งจะต้องทำให้เสร็จก่อนปี 2560

ปตท.ส่งบริษัทลูกร่วมวงประมูลสัมปทาน

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. จะร่วมประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพราะ ปตท. มีนโยบายในการแสวงหาแหล่งพลังงานให้กับประเทศ

เบื้องต้นจะยื่นประมูลแปลงสัมปทานในอ่าวไทยซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งที่กำลังผลิตอยู่ อาทิ แหล่งบงกช ของ PTTEP , แหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอน เนื่องจากมีโอกาสพบปิโตรเลียมสูง รวมถึงจะร่วมประมูลแปลงสัมปทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะต้องการทดสอบเทคโนโลยีขุดเจาะก๊าซฯ ในชั้นหินดินดานหรือเชลล์ก๊าซ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขุดเจาะก๊าซใหม่ของโลก

อย่างไรก็ดี การประมูลครั้งนี้ PTTEP คาดว่าจะเข้าร่วมน้อยลงเมื่อเทียบกับการประมูลครั้งก่อน หรือรอบที่ 20 เนื่องจากการขุดสำรวจในรอบก่อน พบปิโตรเลียมน้อยจึงต้องคืนแปลงสัมปทานปิโตรเลียมไปเกือบหมด ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น โดยเลือกเฉพาะจุดที่มีโอกาสพบปิโตรเลียมสูง ซึ่ง PTTEP จะเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องรายละเอียดและเม็ดเงินในการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น