xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ ยันแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 50 ไม่ได้เอื้อรายใดรายหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงฯ ยันแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2550 มาตราที่ 28 ว่าด้วยการยกเลิกจำนวนแปลงและพื้นที่รวมของแปลงสำรวจปิโตรเลียมซึ่งใช้ตั้งแต่เปิดสัมปทานรอบที่ 20 ถึงปัจจุบันบังคับกับทุกรายไม่ได้เอื้อให้รายใดรายหนึ่ง การดำเนินงานทุกขั้นตอนโปร่งใสมีทุกฝ่ายเกี่ยวข้องเน้นประโยชน์ชาติ

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ รองอธิบดีรักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่มีประเด็นการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ในปี 2550 มาตราที่ 28 เรื่องการยกเลิกกำหนดจำนวนแปลง และพื้นที่รวมของแปลงสำรวจปิโตรเลียมตามสัมปทานนั้นมีผลสำหรับผู้รับสัมปทานตั้งแต่รอบที่ 20 จนถึงปัจจุบัน โดยบังคับใช้สำหรับผู้รับสัมปทานทุกรายมิได้จำกัด หรือเอื้อประโยชน์แก่รายใดรายหนึ่ง

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจปิโตรเลียมที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2514 จนถึงปี 2547 ที่มีการเปิดสัมปทานไปแล้ว 19 ครั้ง พบว่าแหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแหล่งขนาดเล็กและอยู่กระจัดกระจาย รวมทั้งมีแหล่งปิโตรเลียมที่มีความเสี่ยงสูงในการลงทุน แต่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาเพื่อผลิต ดังนั้น การที่จะจูงใจบริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศที่มีแหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็กหรือมีศักยภาพต่ำ จึงต้องมีระบบกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาแหล่ง โดยมีหลักการแบ่งผลประโยชนที่เป็นธรรม

ในปี 2548 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงได้ว่าจ้างศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษามาทำการศึกษา และปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม รวมทั้งยกร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์พลังงานโลกและของประเทศไทย ให้มีความคล่องตัว สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น โดยเพิ่มแรงจูงใจให้มีการสำรวจและผลิตในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการลงทุน หรือพื้นที่ที่มีกำลังการผลิตลดต่ำลง ปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาตเกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ยังมีการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง วัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่อายุการใช้งานออกจากพื้นที่ผลิต เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่างพระราชบัญญัติที่มีการศึกษาปรับปรุงดังกล่าว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้นำเสนอตามขั้นตอน จนสามารถผ่านความเห็นของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2550 เป็นต้นมา

โดยยืนยันว่าการดำเนินภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความโปร่งใส ชัดเจน ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบจากทั้งผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น