xs
xsm
sm
md
lg

“บัญญัติ” ชี้เลือกตั้งแบบเยอรมันทำพรรคอ่อนแอ วันแมนวันโหวตขวางปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัญญัติ บรรทัดฐาน (แฟ้มภาพ)
“บัญญัติ” หวังผลปฏิรูปฉุดสังคมไทยขึ้นจากความเสื่อมถอยสร้างจุดแข็งให้ประเทศอีกครั้ง ห่วงนับคะแนนเลือกตั้งแบบเยอรมนี ทำปาร์ตี้ลิสต์สูญพันธุ์ พรรคการเมืองอ่อนแอ ชี้เขตเดียวเบอร์เดียวตัวขวางปรองดอง “ระดับบิ๊ก” แพ้ไม่ได้ ขัดแย้งหนัก ซื้อเสียงกระจุย ส่วนเขียน รธน. เปิดทางนายกฯคนนอกไม่เป็นมงคล ทำสังคมระแวงใครบางคนหวังสืบทอดอำนาจ

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่า ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการปฏิรูปเป็นประเด็นสำคัญต่อสังคมไทย เพราะหลายปีที่ผ่านมาประเทศเดินถอยหลังจริงๆ ทัศนคติของประชาชนทุกภาคส่วนแปรปรวนไปหมด โดยเฉพาะคุณธรรมจริยธรรมความรับปิดชอบของคนในสังคมถดถอยหมด ทั้งที่เรื่องนี้เคยเป็นจุดแข็งของสังคมในอดีต ดังนั้นการดึงสังคมกลับไปสู่ความแข็งแรงในเรื่องนี้ทั้งส่วนของการจัดระบบให้เป็นธรรมมากขึ้น และการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะการปลูกฝังเรื่องการศึกษาที่ระยะหลังมีการพัฒนาระบบทุนนิยมอย่างเต็มรูปมากขึ้นทำให้คนมีปัญหามากขึ้น และค่านิยมที่ใครรวยมากจะได้รับการยอมรับนับถือมาก โดยไม่คำนึงว่ารวยมาจากไหนอย่างไร ทั้งสองอย่างนี้ทำให้เกิดความแปรปรวนในสังคมมากเป็นพิเศษ ครูอาจารย์เน้นสอนให้เด็กเก่งจนลืมทำให้เด็กเป็นคนดี หวังว่าจะมีการเริ่มต้นใหม่ในทางที่ดีขึ้น รวมถึงการปฏิรูปการเมืองซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากการเมืองทั้งสิ้นและปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาการเมืองของไทยเลวร้ายมาก ความน่าเชื่อถือลดน้อยถอยลงเป็นอันมากต่างจากยุคก่อน จึงจำเป็นต้องปฏิรูปเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นายบัญญัติกล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือการทำกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องความคิดให้มากเป็นพิเศษ เช่นการจะนำระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วแม้ผู้เกี่ยวข้องจะอ้างว่าเป็นเพียงความคิดเห็นเบื้องต้นยังสามารถให้ความคิดเห็นไปได้จนถึงก่อนเดือนเมษายน และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งตนก็เข้าใจว่าเป็นเพราะความล้มเหลวในระบบการเมือง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาแล้วถือโอกาสตีความเข้าข้างตนเองว่าเสียงที่ได้รับมาจากประชาชนสามารถทำอะไรได้ทุกอย่างแม้กระทั่งการละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆ

นายบัญญัติกล่าวว่า หากจะนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวตั้งเพื่อปฏิรูปเสียใหม่ก็เห็นว่ามีเหตุผล แต่ความจริงรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ที่แบ่งการเลือกตั้งออกเป็น 2 แบบคือแบบบัญชีรายชื่อในนามพรรค และแบบเขตเลือกตั้ง ก็มีความคล้ายคลึงกันกับระบบเยอรมัน แต่มีส่วนต่างที่น่ากังวลว่าระบบนี้จะดีหรือไม่ คือในระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ส.ส.บัญชีรายชื่อได้รับการให้ความสำคัญสูงมาก เพราะเข้าใจว่าส่วนหนึ่งจะไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหารหากพรรคชนะการเลือกตั้ง อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นคลังสมอง เพราะส.ส.แบบเขตจะไม่มีเวลามาคิดเรื่องนโยบายมากนักเพราะมีภารกิจในเขตเลือกตั้งและความผูกพันในเขตของตนเองอาจจะมองความเรื่องผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้นน่าจะมีอีกชุดมาคิดเรื่องนโยบายเรื่องส่วนรวมของประเทศ จึงเป็นที่มาของระบบบัญชีรายชื่อพรรค และจะช่วยทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง โดยเป็นความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยจะเข้มแข็งต่อเมื่อมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง แต่ต้องเป็นการเข้มแข็งในทางที่ดี ไม่ใช่มีความเข้มแข็งแล้วจะทำอะไรก็ได้ แต่ทางแก้ตรงนี้ไม่ใช่การใช้ระบบที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง เพราะถ้าพรรคการเมืองอ่อนแอแล้วไม่มีทางที่ระบอบประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้เลย การป้องกันอันตรายจากการเข้มแข็งของพรรคการเมืองคือการสร้างอำนาจถ่วงดุลที่เข้มแข็งต่างหาก ไม่ใช่การพยายามทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง

“เท่าที่ผมฟังดูกรรมาธิการยกร่างฯ แล้วค่อนข้างกังวลกับเรื่องนี้มาก ที่บอกว่าถ้า ส.ส.แบบเขตได้รับเลือกตั้งมาเกินจำนวนคะแนนนิยมที่เขาเลือกพรรคแล้ว บัญชีพรรคจะไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเลย เท่ากับคุณตัดความแข็งแรงของระบบบัญชีพรรคที่มาทำหน้าที่บริหารหรือคลังสมอง ตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2540 ออกไปหมด แต่ที่ยังไม่เข้าใจว่าจะลงคะแนนอย่างไร รวมถึงเรื่องเขตเดียวเบอร์เดียวจะเป็นประเด็นทางการเมืองเช่นกัน เพราะเรากำลังทำรัฐธรรมนูญด้วยความหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปสู่ความปรงดองในวันข้างหน้า แต่การเลือกตั้งในระบบเขตเดียวคนเดียว หรือมีผู้ชนะคนเดียวจะนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้นรุนแรงมากขึ้น เพราะระบบสังคมไทยเป็นสังคมของการประนีประนอม การเลือกตั้งในระบบ 3 คนต่อ 1 เขตที่ใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2517 น่าจะเป็นจุดแห่งความพอดี เพราะผมพบความจริงจากประสบการณ์ว่าการต่อสู้ทางการเมืองในระบบนี้ไม่ดุเดือดมาก ผู้สนับสนุนยังสามารถนั่งกินกาแฟโต๊ะเดียวกันได้ แต่ทันทีที่เปลี่ยนมาแบบเขตเดียวคนเดียว ผมไม่เคยเห็นภาพทุกคนมานั่งกินกาแฟร่วมโต๊ะกันได้เลย ตั้งป้อมสู้กันอย่างเดียวและการซื้อเสียงก็หนักขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งว่าค่านิยมสังคมไทยคือ นักการเมืองใหญ่ลงแล้วแพ้ไม่ได้’ ก็จะพยายามงัดกลยุทธ์มาสู้กันทุกวิถีทาง สู้ทุกเงื่อนไข ดังนั้นถ้าเราต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้น เรื่องเขตเดียวเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องคิดเหมือนกันว่าจะนำไปสู้การต่อสู้ที่เข้มข้น”

นายบัญญัติกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่หาเสียงในปี 2517 พบความจริงที่ว่า 1. สังคมไม่มีความขัดแย้งและ 2. นักการเมืองที่มีชื่อเสียงดี ที่ประชาชนรู้จักได้รับเลือกตั้งเข้ามาหลายคน แม้กระทั่งในพื้นที่อีสานที่ถือว่ามีการซื้อเสียงกันมากก็ตาม มันทำให้สังคมมีทางเลือกและคนดีมีโอกาส เช่น คนนี้ดีมีชื่อเสียงเป็นหน้าตากับจังหวัด คนนี้มีบุญคุณตัดไม่ได้ ต้องเลือกด้วย แต่พอสังคมมีแค่ทางเลือกเดียวระบบอุปธรรม การซื้อสิทธิ์ขายเสียงจะมีน้ำหนักมากขึ้น คนดีจะถูกลืมไปเลย แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเขตใหญ่มันหนทางหนึ่งที่ลดการซื้อเสียงเพราะความไม่แน่นอนมันมี แต่ขณะเดียวกันก็พูดยากว่า ตลอดเวลาของการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวในสองครั้งแล้ว เครือข่ายอุปถัมภ์ได้รับการสร้างในพื้นที่ไว้เพียงพอเหมือนกัน แต่ที่สำคัญสุดและน่ากังวลคือ ผู้สมัครระบบบัญชีพรรคที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ตั้งใจให้เป็นจุดแข็งของพรรคการเมืองจะหายไปเลย ถ้าคะแนนเขตได้เต็มที่อยู่แล้ว

ส่วนที่อ้างว่าระบบบัญชีพรรคเปิดโอกาสให้นายทุนเข้ามาอยู่ในระบบนี้และมาครอบงำพรรคการเมือง ตนมองว่าให้ทุนมาอยู่ในบัญชีเปิดเผยตนเองยังดีกว่าทุนแอบอยู่ข้างหลัง พอชนะเลือกตั้งแล้วมาเป็นรัฐมนตรี

“คุณจะสร้างระบบกฎเกณฑ์ที่ดีอย่างไร มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จุดแข็งที่สุดของระบอบประชาธิปไตยมันอยู่ที่ความเข้าใจของประชาชน คุณต้องทำให้ประชาชนเข้าใจให้ได้ว่า ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่เลือกเข้าไปมีความสำคัญมาก เวลาที่ไปเลือกตั้ง คุณเลือกตัวแทนของคุณเอง หรือของคนส่วนใหญ่ หรือเผลอไปเลือกตัวแทนของกลุ่มทุนที่ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อใช้สร้างอำนาจเพิ่มทุน กอบโกย การทำให้พวกเขาเข้าใจสาระสำคัญตรงนี้ต่างหากที่จะสร้างจุดแข็งของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ระบบเป็นเพียงส่วนปลีกย่อยน้อยไปกว่าการระดมการสร้างความเข้าใจต่อสังคม ที่น่าเสียดายที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่มีการทำเรื่องระดมความเข้าใจให้ประชาชนเลย ทั้งตอนมีการยึดอำนาจทั้งปี 2549 และตอนนี้เหมือนๆกัน สิ่งที่ประชาชนกระหายใคร่รู้คืออะไรที่นำมาสู่การยึดอำนาจ ทันทีที่มีการยึดอำนาจควรมีทีมหนึ่งที่ทำหน้าที่ออกไปทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเฉพาะในสังคมชนบทที่ท่ามกลางเศรษฐกิจรัดตัว ชาวบ้านไม่มีเวลามาคิดอะไรมาก และถ้าได้ทีมที่สังคมให้ความเชื่อถือ จะพูดจามีน้ำหนักมาก เพราะถ้าเอาไปพูดบนเวทีเลือกตั้งจะกลายเป็นเรื่องโจมตีด่ากัน ขณะที่เครือข่ายอุปถัมภ์ยังทำหน้าที่แข็งแรงสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีทีมงานที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสถาบันพระปกเกล้าฯ คณะกรรมการเลือกตั้ง องค์กรต่างๆ ลงไปทำงานในพื้นที่ชนบทเพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ถึงเวลาเลือกตั้งจริงๆ แม้จะแก้รัฐธรรมนูญหรือเปลี่ยนโครงสร้างใหม่แล้วก็ตาม ยังน่าเป็นห่วง”

ส่วนการเขียนรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.สามารถเป็นนายกรัฐมนตรี นายบัญญัติกล่าวว่า เดิมทีรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องนี้มากนัก นายกฯ จะมาจากไหนก็ได้ แต่เพิ่งมาตื่นตัวหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ ทำให้สังคมเกิดกระแสต่อต้านและเรียกร้องว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง การเขียนให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งอาจจะทำให้บุคคลที่มีคุณสมบัติพร้อมจะเป็นนายกฯ เสียโอกาสไป แต่ถ้ามองว่างานการเมืองเป็นงานอาสา ต้องประกาศตัว เป็นไปได้หรือไม่น่านายกฯอาจจะไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองไหนประสงค์จะสนับสนุนใครที่ไม่ลงเลือกตั้ง จะต้องประกาศเลยว่าถ้าพรรคนี้จะได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาจะเอาคนนี้เป็นนายกฯ ภายใต้หลักว่าคนที่จะเข้ามาเล่นการเมืองต้องกล้าที่จะประกาศตัว

“ในเมื่อวันนี้เรายังรณรงค์ถึงขนาดว่าอยากให้เลือกฝ่ายบริหารโดยตรงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ตั้งแต่ต้นว่าใครจะไปใครจะมา แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่ไปกำหนดว่าไม่ลงสมัครก็ได้ ชนะแล้วค่อยไปเลือกนาย ก. นาย ข. ที่ไหน หรือไปขอใครที่แอบอยู่ข้างหลังให้มาเป็นก็ได้ มันก็แย้งกับความคิดหลักที่กำลังเถียงกันอยู่ขณะนี้เหมือนกันอยู่ ซึ่งระบบบัญชีพรรคมันบ่งบอกกลายๆอยู่แล้วว่าหัวหน้าพรรคคือนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่กำหนดชัดเจนตายตัว แต่การระบุว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.มันเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว ถือเป็นปัญหาที่ชั่งใจกันมากในความพยายามที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีว่าจะเป็นจุดแข็งให้ประชาชนเห็นความสำคัญตระหนักไว้แต่เบื้องต้นว่า ถ้าไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เท่ากับเหตุผลตรงกันข้ามกับความเห็นแรกโดยสิ้นเชิง แต่ที่กังวลที่สุดถ้ามีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าหัวหน้าพรรคไม่จำเป็นต้องมาจากส.ส. อาจจะทำให้คนในสังคมบางส่วนเกิดระแวงว่านี่คือความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจด้วยหรือไม่ มันไม่เป็นมงคลเลย แต่ถ้าอ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหาทางตันในยามเกิดอุบัติเหตุการเมือง ก็ควรเขียนในบทยกเว้น ไม่ใช่อยู่ๆไปกำหนดไว้เลยแบบนี้ เพราะจะเป็นการชี้ช่องเกินไป คนเขียนต้องชั่งใจระหว่างผลบวกกับผลลบที่จะได้รับด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น