xs
xsm
sm
md
lg

เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อใคร

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ตอนนี้มีข้อเสนอที่หลากหลายต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรากำลังร่างขึ้นมาเป็นกฎหมายเพื่อปกครองประเทศ แต่แม้จะมีข้อเสนอจากหลายทางทั้งจากอนุกรรมาธิการ และกรรมาธิการชุดต่างๆ นักวิชาการ และองค์กรภายนอก แต่สุดท้ายผมมองว่านี่เป็นเพียงกระบวนการที่ทำให้ดูเหมือนหลายฝ่ายมีส่วนร่วมเท่านั้นเอง เพราะอย่างไรเสียมันจะถูกออกแบบให้เป็นไปตามความต้องการขององค์รัฏฐาธิปัตย์อยู่แล้ว

ข้อเสนอที่พูดกันมากในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง หรือการเลือกตั้งแบบเยอรมนีนั้น เป็นเพียงประเด็นที่ถูกโยนลงมาซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะตรงกับความต้องการขององค์รัฏฐาธิปัตย์หรือไม่ก็ได้ ถ้าตรงก็เป็นประโยชน์ที่ได้ถกเถียงกัน แต่ถ้าไม่ตรงก็เหมือนกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศเท่านั้นเอง

คำถามที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะรับใช้ใคร

รัฐธรรมนูญ 2540 นั้น กล่าวกันว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้เกิดระบบการเมืองที่เข้มแข็งเกิด Strong Prime Minister จนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากจนเกินไป กลายเป็นเผด็จการรัฐสภา ส.ส.กลายเป็นพนักงานบริษัทของพรรคการเมืองนายทุน ส.ว.กลายเป็นสภาผัวเมีย องค์กรอิสระที่ถูกสร้างขึ้นมาล้มเหลวเพราะถูกแทรกแซงด้วยระบบอุปถัมภ์ การตรวจสอบการทุจริตล้มเหลว ไม่สนเสียงสะท้อนของประชาชน ด้วยข้ออ้างว่ามาจากเสียงข้างมาก

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะอุดรูรั่วของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยมีจุดแข็งเรื่องบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เราก็เห็นประชาชนใช้เสรีภาพอย่างติดขัด เช่นในกรณีที่นำรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 มาใช้เพื่อให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ 416 ส.ส. – ส.ว. เสนอแก้ รธน.มาตรา 291 เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการ

ประวัติของรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารนั้นจะถูกออกแบบไว้ให้เพื่อการสืบทอดอำนาจขององค์รัฏฐาธิปัตย์เสมอมา ยกเว้นเพียงรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้นที่มิได้ออกแบบให้รัฏฐาธิปัตย์สืบทอดอำนาจโดยตรง แต่เราก็เห็นความเร่งด่วนรวบรัดของการจัดการทั้งการออกแบบรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง จนพูดกันว่าเป็นการรัฐประหารที่สูญเปล่า สุดท้ายแม้ทักษิณจะชนะด้วยเสียงของประชาชนแบบวันแมนวันโหวต แต่ก็ถูกอธิบายด้วยจุดยืนของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารในเวลาต่อมาว่า เขาทำรัฐประหารเพื่อใคร

รัฐประหาร 2557 นี้ก็ชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยคำแถลงในคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อยู่แล้วว่า มีเหตุมาจากประชาชนแตกแยกเป็นฝ่ายต่างๆ ขาดความสามัคคีและมีทัศนคติไม่เป็นมิตรต่อกัน บางครั้งเกิดความรุนแรง ใช้กําลังและอาวุธสงครามเข้าทําร้ายประหัตประหารกัน สวัสดิภาพและการดํารงชีวิตของประชาชนไม่เป็นปกติสุข การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองชะงักงัน กระทบต่อการใช้อํานาจในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร และในทางตุลาการการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล นับเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ขณะที่นักวิชาการเสื้อแดงเชื่อว่า มีดีลระหว่างคณะรัฐประหารกับทักษิณ จากการที่ไม่มีการตรวจสอบรัฐบาลของยิ่งลักษณ์และแตะต้องตระกูลชินวัตร แล้วยังเตะถ่วงความพยายามภายใน สนช.ที่จะเล่นงานยิ่งลักษณ์และนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ส่วน “ฝันหวาน” ของตระกูลชินวัตรก็คือ “รอเวลา” อย่างที่ทักษิณบอกไว้ชัด รอ “ฟ้าเปลี่ยนสี พระอาทิตย์ขึ้น แล้วก็พระอาทิตย์ตก แล้วก็พระอาทิตย์ขึ้นอีก ฯลฯ”

ส่วนดีลฝั่งตรงข้ามของทักษิณก็ชัดเจนอยู่แล้วจากปากคำของพระสุเทพว่า ฝ่ายรัฐประหารเป็นพวกเดียวกัน แม้ขณะนี้ยางพาราจะลดลงมา 3 กิโลกรัมไม่ถึง 100 บาท (กิโลละ 32 บาท) พระสุเทพก็ยังสั่งให้มวลชนของตัวเองอดทน “ฝันหวาน” ของพระสุเทพก็คือ การออกแบบรัฐธรรมนูญที่ทำให้มีโอกาสชนะเลือกตั้ง

แต่ประเด็นยางพารานั้นเป็นปากท้องและชีวิตของคนใต้ แม้จะเป็นมวลชนส่วนใหญ่ของ กปปส.ในการออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็คอยดูว่าสุดท้ายแล้วบารมีของพระสุเทพจะกดให้คนใต้ทนอดและอดทนต่อไปได้หรือไม่

แต่คำถามว่า หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปรากฏโฉมแล้วการเลือกตั้งจะยังคงเป็นการต่อสู้ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ หรือรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเขียนขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจขององค์รัฏฐาธิปัตย์

เพราะอย่าลืมว่า แม้เราจะถกเถียงกันเรื่องการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีว่าควรจะให้มีการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่ โดยให้นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อคณะรัฐมนตรีมาพร้อมกันด้วยนั้น แต่ข้อเสนอที่ถูกโยนหินถามทางมานานและไม่มีใครคัดค้านก็คือ การที่นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง และผมว่านี่แหละเป็นช่องทางที่จะเปิดให้มีการสืบทอดอำนาจ

เราจึงได้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ที่มีลักษณะประชานิยมไม่แพ้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนข้อเสนอเรื่องนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงผมไม่เชื่อว่าจะก้าวข้ามประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับสังคมไทยไปได้ และดูเหมือนว่า ขณะนี้สองพรรคใหญ่ก็มีเสียงคัดค้านไปในทำนองเดียวกัน เพราะรูปแบบการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงที่เราพูดกันก็คือ รูปแบบการเลือก “ประธานาธิบดี” เพื่อขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศนี่เอง เพียงแต่เราเรียกตำแหน่งนั้นว่า “นายกรัฐมนตรี” เท่านั้น

แม้ว่า การมอบอำนาจให้ประชาชนตัดสินชะตากรรมของประเทศจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องตั้งคำถามถึงความพร้อมของประชาชน ขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศควบคู่ไปด้วย บอกตรงๆ ว่า ผมก็ค่อนข้างเอนเอียงไปทางเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ถ้าถามว่า ณ เวลานี้มันเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ ผมบอกว่า สังคมไทยยังไม่พร้อม

แต่ถ้าใครมาถามผมอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้าผมจะทบทวนเรื่องนี้ใหม่

ผมเชื่อว่า วัฏจักรของการร่างรัฐธรรมนูญแล้วฉีกทิ้งด้วยการรัฐประหารจะยังไม่หมดไปจากสังคมไทย

เว้นเสียแต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเขียนให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนมีความเข้มแข็ง เราสามารถตรวจสอบรัฐบาลที่ฉ้อฉลด้วยอำนาจของประชาชน เราสามารถจัดการถอดถอนนักการเมืองที่ฉ้อฉลให้พ้นจากอำนาจได้ ให้การชุมนุมของประชาชนนั้นเป็นความชอบธรรมที่จะกระทำต่อรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลใช้อาวุธสงครามมาทำร้าย หรือการชุมนุมเป็นช่องทางให้รัฐบาลแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาได้ เมื่อนั้นผมเชื่อว่าการรัฐประหารก็จะไม่มี เพราะข้ออ้างแบบที่ใช้ในคำปรารภรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้

ผมจึงไม่เห็นด้วยกับกฎหมายควบคุมการชุมนุมที่รัฐบาลพยายามจะออกมาจำกัดสิทธิของประชาชน เพราะเมื่อมีข้อห้ามหรือข้อจำกัดที่ยุ่งยากในการจัดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม มันจะเหลือเพียงทางออกเดียวคือ การก่อการจลาจลนั่นเอง

ดังนั้น คงต้องรอดูว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเขียนขึ้นมาเพื่อรับใช้คนกลุ่มไหน แม้ว่าการเขียนรัฐธรรมนูญที่ยั่งยืนให้กับประเทศชาติและประชาชนแทบไม่มีทางเป็นไปได้ก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น