xs
xsm
sm
md
lg

บัญญัติ ชี้"เยอรมันโมเดล"ทำพรรคอ่อนแอ "วันแมนวันโหวต"ขวางปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้วิเคราะห์ถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่า ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การปฏิรูปเป็นประเด็นสำคัญต่อสังคมไทย เพราะหลายปีที่ผ่านมาประเทศเดินถอยหลังจริงๆ ทัศนคติของประชาชนทุกภาคส่วนแปรปรวนไปหมด โดยเฉพาะคุณธรรม จริยธรรม ความรับปิดชอบของคนในสังคมถดถอยหมด ทั้งที่เรื่องนี้เคยเป็นจุดแข็งของสังคมในอดีต
ดังนั้นการดึงสังคมกลับไปสู่ความแข็งแรงในเรื่องนี้ ทั้งส่วนของการจัดระบบให้เป็นธรรมมากขึ้น และการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะการปลูกฝังเรื่องการศึกษา ที่ระยะหลังมีการพัฒนาระบบทุนนิยมอย่างเต็มรูปมากขึ้น ทำให้คนมีปัญหามากขึ้น และค่านิยมที่ว่า ใครรวยมาก จะได้รับการยอมรับนับถือมาก โดยไม่คำนึงว่ารวยมาจากไหน อย่างไร ทั้งสองอย่างนี้ทำให้เกิดความแปรปรวนในสังคมมากเป็นพิเศษ ครูอาจารย์เน้นสอนให้เด็กเก่ง จนลืมทำให้เด็กเป็นคนดี จึงหวังว่าจะมีการเริ่มต้นใหม่ในทางที่ดีขึ้น รวมถึงการปฏิรูปการเมือง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากการเมืองทั้งสิ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาการเมืองของไทยเลวร้ายมาก ความน่าเชื่อถือลดน้อยถอยลงเป็นอันมาก ต่างจากยุคก่อน จึงจำเป็นต้องปฏิรูปเรื่องนี้อย่างจริงจัง

**เยอรมันโมเดลทำพรรคอ่อนแอ

แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ การทำกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความคิดให้มากเป็นพิเศษ เช่น การจะนำระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ ซึ่งค่อนข้างชัดเจนแล้ว แม้ผู้เกี่ยวข้องจะอ้างว่าเป็นเพียงความคิดเห็นเบื้องต้น ยังสามารถให้ความคิดเห็นไปได้ จนถึงก่อนเดือนเมษายน และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้นั้น ซึ่งตนก็เข้าใจว่า เป็นเพราะความล้มเหลวในระบบการเมือง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาแล้วถือโอกาสตีความเข้าข้างตนเอง ว่าเสียงที่ได้รับมาจากประชาชนสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งการละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆ หากจะนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวตั้ง เพื่อปฏิรูปเสียใหม่ก็เห็นว่ามีเหตุผล แต่ความจริงรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ที่แบ่งการเลือกตั้งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบบัญชีรายชื่อ ในนามพรรค และแบบเขตเลือกตั้ง ก็มีความคล้ายคลึงกันกับระบบเยอรมัน แต่มีส่วนต่างที่น่ากังวลว่า ระบบนี้จะดีหรือไม่ คือ ในระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ส.ส.บัญชีรายชื่อได้รับการให้ความสำคัญสูงมาก เพราะเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งจะไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร หากพรรคชนะการเลือกตั้ง อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นคลังสมอง เพราะ ส.ส.แบบเขต จะไม่มีเวลามาคิดเรื่องนโยบายมากนัก เเนื่องจากมีภารกิจในเขตเลือกตั้ง และความผูกพันในเขตของตนเอง อาจจะมองข้ามเรื่องผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้นน่าจะมีอีกชุดมาคิดเรื่องนโยบาย เรื่องส่วนรวมของประเทศ จึงเป็นที่มาของระบบบัญชีรายชื่อพรรค และจะช่วยทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง โดยเป็นความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยจะเข้มแข็งต่อเมื่อมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง แต่ต้องเป็นการเข้มแข็งในทางที่ดี ไม่ใช่มีความเข้มแข็งแล้วจะทำอะไรก็ได้ แต่ทางแก้ตรงนี้ไม่ใช่การใช้ระบบที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง เพราะถ้าพรรคการเมืองอ่อนแอแล้ว ไม่มีทางที่ระบอบประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้เลย การป้องกันอันตรายจากความเข้มแข็งของพรรคการเมือง คือ การสร้างอำนาจถ่วงดุลที่เข้มแข็งต่างหาก ไม่ใช่การพยายามทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง

** "วันแมนวันโหวต" ซื้อเสียงหนัก

" เท่าที่ผมฟังดูกรรมาธิการยกร่างฯ แล้วค่อนข้างกังวลกับเรื่องนี้มาก ที่บอกว่า ถ้าส.ส.แบบเขตได้รับเลือกตั้งมาเกินจำนวนคะแนนนิยมที่เขาเลือกพรรคแล้ว บัญชีพรรคจะไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเลย เท่ากับคุณตัดความแข็งแรงของระบบบัญชีพรรค ที่มาทำหน้าที่บริหาร หรือคลังสมอง ตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญปี 40 ออกไปหมด แต่ที่ยังไม่เข้าใจว่า จะลงคะแนนอย่างไร รวมถึงเรื่องเขตเดียวเบอร์เดียว จะเป็นประเด็นทางการเมืองเช่นกัน เพราะเรากำลังทำรัฐธรรมนูญด้วยความหวังว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปสู่ความปรองดองในวันข้างหน้า แต่การเลือกตั้งในระบบเขตเดียว คนเดียว หรือ มีผู้ชนะเพียงคนเดียว จะนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้น รุนแรงมากขึ้น เพราะระบบสังคมไทยเป็นสังคมของการประนีประนอม การเลือกตั้งในระบบ 3 คนต่อ 1 เขต ที่ใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2517 น่าจะเป็นจุดแห่งความพอดี เพราะผมพบความจริงจากประสบการณ์ว่า การต่อสู้ทางการเมืองในระบบนี้ ไม่ดุเดือดมาก ผู้สนับสนุนยังสามารถนั่งกินกาแฟโต๊ะเดียวกันได้ แต่ทันทีที่เปลี่ยนมาแบบเขตเดียว คนเดียว ผมไม่เคยเห็นภาพทุกคนมานั่งกินกาแฟร่วมโต๊ะกันได้เลย ตั้งป้อมสู้กันอย่างเดียวและการซื้อเสียงก็หนักขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งว่า ค่านิยมสังคมไทยคือ ‘นักการเมืองใหญ่ลงแล้วแพ้ไม่ได้’ก็จะพยายามงัดกลยุทธ์มาสู้กันทุกวิถีทาง สู้ทุกเงื่อนไข ดังนั้นถ้าเราต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้น เรื่องเขตเดียว เบอร์เดียว เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องคิดเหมือนกันว่า จะนำไปสู่การต่อสู้ที่เข้มข้น "
นายบัญญัติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่หาเสียงในปี 2517 พบความจริงที่ว่า 1. สังคมไม่มีความขัดแย้ง และ 2. นักการเมืองที่มีชื่อเสียงดี ที่ประชาชนรู้จักได้รับเลือกตั้งเข้ามาหลายคน แม้กระทั่งในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ถือว่ามีการซื้อเสียงกันมากก็ตาม มันทำให้สังคมมีทางเลือก และคนดีมีโอกาส เช่น คนนี้ดี มีชื่อเสียงเป็นหน้าตากับจังหวัด คนนี้มีบุญคุณตัดไม่ได้ ต้องเลือกด้วย แต่พอสังคมมีแค่ทางเลือกเดียว ระบบอุปถัมภ์ การซื้อสิทธิ์ขายเสียง จะมีน้ำหนักมากขึ้น คนดีจะถูกลืมไปเลย แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า เขตใหญ่มันเป็นหนทางหนึ่งที่ลดการซื้อเสียง เพราะความไม่แน่นอนมันมี แต่ขณะเดียวกันก็พูดยากว่า ตลอดเวลาของการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวในสองครั้งแล้ว เครือข่ายอุปถัมภ์ได้รับการสร้างในพื้นที่ไว้เพียงพอเหมือนกัน แต่ที่สำคัญสุด และน่ากังวล คือ ผู้สมัครระบบบัญชีพรรค ที่รัฐธรรมนูญปี 40 ตั้งใจให้เป็นจุดแข็งของพรรคการเมือง จะหายไปเลย ถ้าคะแนนเขตได้เต็มที่อยู่แล้ว ส่วนที่อ้างว่าระบบบัญชีพรรค เปิดโอกาสให้นายทุนเข้ามาอยู่ในระบบนี้ และมาครอบงำพรรคการเมือง ตนมองว่าให้ทุนมาอยู่ในบัญชีเปิดเผยตนเอง ยังดีกว่าทุนแอบอยู่ข้างหลัง พอชนะเลือกตั้งแล้วมาเป็นรัฐมนตรี
" คุณจะสร้างระบบกฎเกณฑ์ที่ดีอย่างไร มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จุดแข็งที่สุดของระบอบประชาธิปไตย มันอยู่ที่ความเข้าใจของประชาชน คุณต้องทำให้ประชาชนเข้าใจให้ได้ว่า ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่เลือกเข้าไป มีความสำคัญมาก เวลาที่ไปเลือกตั้ง คุณเลือกตัวแทนของคุณเอง หรือของคนส่วนใหญ่ หรือเผลอไปเลือกตัวแทนของกลุ่มทุนที่ตั้งพรรคขึ้นมา เพื่อใช้สร้างอำนาจเพิ่มทุน กอบโกย การทำให้พวกเขาเข้าใจสาระสำคัญตรงนี้ต่างหาก ที่จะสร้างจุดแข็งของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ระบบเป็นเพียงส่วนปลีกย่อย น้อยไปกว่าการระดมการสร้างความเข้าใจต่อสังคม ที่น่าเสียดายที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่มีการทำเรื่องระดมความเข้าใจให้ประชาชนเลย ทั้งตอนมีการยึดอำนาจ ทั้งปี 49 และตอนนี้เหมือนๆ กัน สิ่งที่ประชาชนกระหายใคร่รู้คือ อะไรที่นำมาสู่การยึดอำนาจ ทันทีที่มีการยึดอำนาจ ควรมีทีมหนึ่งที่ทำหน้าที่ออกไปทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะในสังคมชนบทที่ท่ามกลางเศรษฐกิจรัดตัว ชาวบ้านไม่มีเวลามาคิดอะไรมาก และถ้าได้ทีมที่สังคมให้ความเชื่อถือ จะพูดจามีน้ำหนักมาก เพราะถ้าเอาไปพูดบนเวทีเลือกตั้ง จะกลายเป็นเรื่องโจมตี ด่ากัน ขณะที่เครือข่ายอุปถัมภ์ ยังทำหน้าที่แข็งแรงสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีทีมงานที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการเลือกตั้ง องค์กรต่างๆ ลงไปทำงานในพื้นที่ชนบท เพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ถึงเวลาเลือกตั้งจริงๆ แม้จะแก้รัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนโครงสร้างใหม่แล้วก็ตาม ก็ยังน่าเป็นห่วง"

**"นายกฯคนนอก"สืบทอดอำนาจ

ส่วนการเขียนรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นส.ส. สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้น นายบัญญัติ กล่าวว่า เดิมทีรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องนี้มากนัก นายกฯ จะมาจากไหนก็ได้ แต่เพิ่งมาตื่นตัวหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ ทำให้สังคมเกิดกระแสต่อต้าน และเรียกร้องว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง การเขียนให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง อาจจะทำให้บุคคลที่มีคุณสมบัติพร้อมจะเป็นนายกฯ เสียโอกาสไป
แต่ถ้ามองว่างานการเมืองเป็นงานอาสา ต้องประกาศตัว เป็นไปได้หรือไม่ว่า นายกฯ อาจจะไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองไหนประสงค์จะสนับสนุนใครที่ไม่ลงเลือกตั้ง จะต้องประกาศเลยว่า ถ้าพรรคนี้ได้คะแนนเสียงข้างมากในสภา จะเอาคนนี้เป็นนายกฯ ภายใต้หลักว่า คนที่จะเข้ามาเล่นการเมือง ต้องกล้าที่จะประกาศตัว
"ในเมื่อวันนี้เรายังรณรงค์ถึงขนาดว่า อยากให้เลือกฝ่ายบริหารโดยตรง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ตั้งแต่ต้นว่า ใครจะไป ใครจะมา แล้วจะมีเหตุผลอะไร ที่ไปกำหนดว่าไม่ลงสมัครก็ได้ ชนะแล้วค่อยไปเลือกนาย ก. นาย ข. ที่ไหน หรือไปขอให้ใครที่แอบอยู่ข้างหลัง มาเป็นนายกฯก็ได้ มันก็แย้งกับความคิดหลักที่กำลังเถียงกันอยู่ขณะนี้ เหมือนกันอยู่ ซึ่งระบบบัญชีพรรคมันบ่งบอกกลายๆ อยู่แล้วว่า หัวหน้าพรรคคือนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่กำหนดชัดเจนตายตัว แต่การระบุว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส. มันเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว ถือเป็นปัญหาที่ชั่งใจกันมากในความพยายามที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี ว่าจะเป็นจุดแข็งให้ประชาชนเห็นความสำคัญ ตระหนักไว้แต่เบื้องต้นว่า ถ้าไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เท่ากับเหตุผลตรงกันข้ามกับความเห็นแรกโดยสิ้นเชิง แต่ที่กังวลที่สุด ถ้ามีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. อาจจะทำให้คนในสังคมบางส่วนเกิดระแวงว่า นี่คือความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจด้วยหรือไม่ มันไม่เป็นมงคลเลย แต่ถ้าอ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหาทางตันในยามเกิดอุบัติเหตุการเมือง ก็ควรเขียนในบทยกเว้น ไม่ใช่อยู่ๆ ไปกำหนดไว้เลยแบบนี้ เพราะจะเป็นการชี้ช่องเกินไป คนเขียนต้องชั่งใจ ระหว่างผลบวกกับผลลบ ที่จะได้รับด้วย " นายบัญญัติ กล่าว
** ซัดพิมพ์เขียวรธน.ย้อนยุค

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้ายเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึง แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ ของกมธ.ยกร่างฯ ที่ออกมาเบื้องต้น ว่า จะเป็นชนวนสร้างวิกฤติแน่นอน เพราะขัดต่อความรู้สึกของประชาชน การระบุให้นายกฯ มาจากคนนอกได้ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง จะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดวิกฤติรอบใหม่ รัฐบาลบริหารไปไม่ทันไร อาจเกิดความวุ่นวาย เพราะมีความพยายามจะเอาคนนอกเข้ามาแทน
ส่วนการกำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจล้นฟ้า ต้องส่งรายชื่อ ครม.ให้ตรวจสอบก่อนนั้น คนส่วนใหญ่คงรับไม่ได้ ถ้าเป็นอำนาจของ ส.ว.เลือกตั้ง คงไม่เท่าไร แต่นี่มาจากการสรรหา ไม่ได้มาจากประชาชน และก็เชื่อว่าจะมีการสืบทอดอำนาจจากผู้มีอำนาจในตอนนี้
นอกจากนี้การระบุให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค พยายามช่วยพรรคเล็ก จำกัดพรรคใหญ่ จะทำให้เกิดการซื้อเสียงขายตัวกันวุ่นวาย รัฐบาลจะขาดเสถียรภาพ
"การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้เลวร้ายยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เสียอีก ย้อนยุคไปไกล ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เสียงของผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้ามาแทบไม่มีความหมาย สุดท้ายแล้วการเขียนรัฐธรรมนูญ จะเป็นการต่ออายุให้รัฐบาล ต่ออายุให้ คสช. หรือไม่ ถ้ามีการทำประชามติแล้วไม่ผ่าน ก็ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวต่ออายุไปอีก ต้องตั้ง สปช. มาร่างกันใหม่ เสียเวลาอีกนาน มันจะเกิดเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ วันนี้เรื่องเศรษฐกิจปากท้องย่ำแย่มากแล้ว จึงอยากฝากเตือน พล.อ.ประยุทธ์ว่า อย่าเชื่อคนใกล้ชิดมาก จะทำให้ตัวเองลำบากในภายหลัง ถ้ากระแสตกแล้วมันจะดิ่งลงอย่างรวดเร็ว" นายวรชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น