xs
xsm
sm
md
lg

“เลิศรัตน์” ระบุนายกฯ คนนอกไร้วาระซ่อนเร้น หวังนำมาใช้ช่วงวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ คาดอนุฯ กมธ.จะยกร่าง รธน.เสร็จก่อนส่งให้ กมธ.พิจารณา 12 ม.ค. ยันประเด็นนายกฯ คนนอก ไม่มีวาระซ่อนเร้น หวังให้นำมาใช้ช่วงวิกฤตการเมือง ด้าน “ประสาร” หนุนเต็มที่ ยกความเป็นจริง 4 อย่างในการบัญญัติให้นายกฯ ที่ไม่ต้องมาจาก ส.ส.ดำรงตำแหน่งได้

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำข้อเสนอการเขียนรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาหารือจนได้ภาพรวมในหลักการใหม่ในเรื่องระบอบการเมือง นักการเมือง สถาบันการเมืองแล้ว จะส่งข้อมูลดังกล่าวให้คณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่มีนางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นประธาน นำไปยกร่างเป็นรายมาตราจนถึงวันที่ 11 ม.ค. 2558 ก่อนส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างเป็นทางการต่อไปในวันที่ 12 ม.ค. 2558 เบื้องต้นคาดว่ารัฐธรรมนูญใหม่น่าจะมีเนื้อหาอยู่ระหว่าง 250-300 มาตรา จะไม่มากไปกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มี 309 มาตรา ตามที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะต้องสั้น กระชับกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม โดยไม่ให้เกิดการตีความได้

โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส.นั้น คงเป็นงานเหนื่อยของคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนยังมีบทเรียนฝังใจกับปมเรื่องนายกฯคนนอกในช่วงที่ผ่านมา จึงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ ยืนยันว่าวัตถุประสงค์ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯไม่ได้คิดเปิดช่องสืบทอดอำนาจให้ใคร แต่เจตนารมณ์ที่แท้จริงคือ การเปิดช่องไว้ในกรณีเกิดวิกฤตทางการเมือง อาจจะต้องใช้นายกฯ คนนอกมาแก้ปัญหา ที่ผ่านมามีการเรียกร้องนายกฯ มาตรา 7 อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งนายกฯ คนนอกจะนำมาใช้กรณีที่ประเทศเกิดวิกฤตเท่านั้น หากเป็นภาวะบ้านเมืองปกติ จะนำนายกฯ คนนอกมาบริหารประเทศ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะนักการเมืองจะไปตอบคำถามประชาชนได้อย่างไร

“เรื่องนายกฯ คนนอกจะมีการพิจารณาเขียนในตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อวางกลไกให้ชัดเจนว่า ให้นำมาใช้ในกรณีเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยให้มีอำนาจบริหารเพียงชั่วคราว อาจจะเป็น 6-8 เดือนแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ และตัวนายกฯ คนนอกจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มากกว่าปกติ เช่น 3 ใน 4 ของ ส.ส.ทั้งหมด เรื่องเหล่านี้จะต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนกันต่อไป เพื่อสื่อเจตนารมณ์ว่าจะไม่มีการซี้ซั้วเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ ได้”

ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวสนับสนุน คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. จนเกิดกระแสวิจารณ์ในขณะนี้ว่า เราต้องดูความเป็นจริง 4 อย่างในเรื่องนี้

1. ทันทีที่รู้ผลเลือกตั้ง ใช่หรือไม่ว่า ส.ส.ของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งย่อมเลือกคนของพรรคตนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อลงทุนไปมหาศาลในการเลือกตั้งแล้ว ไม่มีทางที่ ส.ส.พรรคนั้นจะไปหยิบเอาคนนอกมา “หยิบชิ้นปลามัน” 2. เหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เนื่องจากบ้านเมืองเกิดมหาวิกฤตที่ไร้ทางออก แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น ในขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพรรคเสียงข้างมากเวลานั้น เป็นเป็ดง่อยที่หมดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะเหตุจากสารพัดความฉ้อฉลของรัฐบาลเอง ทำให้ว่าที่ประธานวุฒิสภาในเวลานั้นไม่อาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดเกล้าฯได้ ทางออกจึงจบลงด้วยการรัฐประหาร

3. การเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส.เพื่อให้มี “ทางระบายของกาน้ำเดือด” ไม่ใช่การถอยหลังเข้าคลอง ไม่ใช่การหนุนเนื่อง “นายกฯ ลากตั้ง” อย่างที่วิจารณ์กัน เป็นการเริ่มต้นจากความเป็นจริงของลักษณะจำเพาะการเมืองไทย และ 4. ความเป็นจริงที่ 4 ถึงอย่างไรนายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็น ส.ส.หากเกิดขึ้นจริงก็ยังต้องผ่านการรับรองของ ส.ส.ทั้งสภา เมื่อ ส.ส.ทั้งหมดเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ส.ส.มอบความไว้วางใจให้ใครเป็นนายก รัฐมนตรี ยังไม่มีความชอบธรรมอีกหรือ ก็ถ้าคนที่ถูกเสนอชื่อ แล้ว ส.ส.ทั้งสภาจะไม่ลงมติรับ ย่อมทำได้อยู่แล้ว ยังมีประเด็นห่วงกังวลอะไรอีก

“ผมขอเสนอให้ใช้คำพูดใหม่ว่านายกรัฐมนตรีมาจากการรับรองของสภาผู้แทนราษฎรจะดีกว่าไหม แทนที่จะพูดว่านายกฯ คนนอก”


กำลังโหลดความคิดเห็น