xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” นายกฯบุคคลสาธารณะด่าไม่ได้ แต่ต้องวิจารณ์ได้ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

“เดี๋ยวผมจะแจ้งเรื่องไปให้สมาคมสื่อฯ ดูว่าหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เขียนอยู่ทุกวัน ติติงมาทุกเรื่อง ทุกหน้ากระดาษ เป็นบ้าหรือไง ไม่ว่าใครจะเป็นก็ด่าเขาทั้งหมด เจ้าของก็จะติดคุกตายไม่ตายแหล่อยู่แล้ว ผมก็ไม่อยากจะอ่าน อ่านแล้วโมโหเสียบุคลิกผู้นำ แต่จะปล่อยก็ไม่ได้ ลามปามไปเรื่อย แล้วจะมีกฎอัยการศึกไว้ทำไม ที่มีไว้ก็เพื่อให้เกิดความสงบ ไม่เคยเอาใครมาติดคุก หรือเอาใครมายิงเป้าสักคน”

นั่นเป็นคำพูดตอนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างการแถลงผลงานของรัฐบาลครบรอบ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน ถึงวันที่ 12 ธันวาคม โดยเขาได้กล่าวถึงสื่อที่ต้องปรับตัวในช่วงปฏิรูปโดยต้องนำเสนอข้อเท็จจริงและเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการสื่อออกไปตรงๆ ก็คือ “สื่อบางฉบับ” ที่เขาอ้างว่า ติติงทุกเรื่อง ทุกหน้ากระดาษ ทำนองว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมาเป็นอันว่าด่าหมด ด่าทุกวัน “จนไม่อยากจะอ่าน อ่านแล้วโมโห”

แม้ว่าจะไม่ได้ระบุชื่อออกมาตรงๆ เหมือนกับที่ผ่านมา แต่ก็น่าจะเข้าใจว่า “สื่อบางฉบับ” ดังกล่าวนั้นย่อมหมายถึง “ASTV ผู้จัดการ” นั่นแหละ และย้ำว่าหลังจากช่วงปีใหม่จะใช้กฎอัยการศึกเข้ามาจัดการ โดยใช้คำว่า “เพื่อให้เกิดความสงบ”

แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการนำเสนอผลงานของรัฐบาลในรอบ 3 เดือนว่ามีอะไรโดดเด่นบ้าง แต่เมื่อให้สรุปรวมๆ แล้วก็ต้องบอกว่ายังไม่มีโดดเด่นเป็นรูปธรรม เพราะแม้แต่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังยอมรับออกมาเองว่า “ยังไม่ค่อยพอใจนัก” เพราะยังมีปัญหาติดขัดหลายเรื่อง โดยยกตัวอย่างกรณีจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งชาวนา ชาวสวนยาง ที่ยังเบิกจ่ายเงินได้ล่าช้า ปัญหาปากท้องที่ยังสร้างความสุขให้ชาวบ้านไม่ได้มากกว่าเดิม

นั่นเป็นภาพสะท้อนได้ดีว่ารัฐบาลที่มี “อำนาจพิเศษ” อยู่ในมือ ทั้งกฎอัยการศึก ทั้งอำนาจตามมาตรา 44 ที่ให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ ทุกอย่างเบ็ดเสร็จ แต่กลับกลายเป็นว่ายังไม่อาจสร้างผลงานเป็นรูปธรรมจนเป็นที่น่าพอใจ อย่างน้อยคนที่พูดยอมรับออกมา ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งหากรวมความต่อเนื่องแล้วตั้งแต่การเข้ามายึดอำนาจตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม จนถึงวันนี้ก็กินเวลากว่า 6 เดือนแล้ว

สิ่งที่รัฐบาลและผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติผู้นี้ พยายามเน้นย้ำ ก็คือ การ “รักษาความสงบ” ในบ้านเมือง อ้างว่าสามารถทำให้บ้านเมืองเดินหน้าได้ แต่เงื่อนไขความขัดแย้งยังคงอยู่ ตัวบุคคลที่เป็นต้นตอความขัดแย้งยังอยู่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่าย “ลดอัตตา” หันมาร่วมมือกัน ซึ่งเป็นคำพูดที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะภายใต้ “กฎเหล็ก” ที่กดเอาไว้มันก็ไม่มีทางที่จะเห็นการแสดงความเห็นและการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ แต่ที่ยังสงบอยู่ในเวลานี้ก็เป็นเพราะประชาชนยังให้โอกาส ยังเฝ้ามองด้วยความหวังว่าเส้นทางปฏิรูปข้างหน้าจะไปตามเป้าหมายที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการ และเชื่อว่าอีกไม่นานอย่างน้อยก็ “หลังปีใหม่” เช่นเดียวกันที่จะต้องออกมาเป็นรูปเป็นร่างว่าไปในทิศทางไหนกันแน่

ในคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังย้ำอยู่เหมือนเดิมว่า เขาเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทำหน้าที่เหมือนกับ “กรรมการห้ามมวย” หรือเหมือนครูใหญ่ที่ทำให้ทุกอย่างเดินหน้า ฟังดูดเผินๆ เหมือนกับเป็น “ผู้ใหญ่” ที่เข้ามาป้องกันไม่ให้เด็กๆ ทะเลาะกัน แต่ในความหมายอีกแบบ ก็คือ “ลอยตัว” และพยายาม “บิดเบือนความจริง” ไปอีกทางหรือเปล่า และที่ผ่านมา “สื่อบางฉบับ” ที่ว่าก็พยายามชี้ให้เห็น “ความผิดปกติแบบนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องของการเอาเปรียบ ละเมิดกฎหมาย ไม่มีธรรมาภิบาล มีการทุจริต เล่นพรรคเล่นพวกต่างหาก และสิ่งที่รัฐบาล และ คสช. ต้องทำ ก็คือ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และเข้มงวดกันคนที่กระทำความผิดต่างหาก แต่หากไม่ทำมันทำแบบล่าช้าก็ช่วยไม่ได้ที่จะทำให้เกิดความสงสัยและมีการตั้งคำถามว่า “มีการเกี้ยเซี้ย” กันหรือเปล่า

มีการตั้งคำถามกันถึงเรื่องการ “ต่อยอดอำนาจ” กันหรือเปล่า และล่าสุดก็มีการตั้งข้อสังเกตกันถึงเรื่องช่องทางในการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)” ที่อาจจะมีการพ่วงเอาเรื่องการปรองดอง การยกเลิกผ่อนปรนเงื่อนไขคุณสมบัติของบุคคลที่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 35(4) ที่เคยห้ามลงเลือกตั้งตลอดชีวิต ด้วยหรือเปล่า

เมื่อวกกลับมาที่ “สื่อบางฉบับ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ำว่า จะใช้กฎอัยการศึกจัดการในช่วงหลังปีใหม่ เนื่องจาก “ด่าทุกวัน ติติงทุกเรื่อง ทุกหน้า” นั้น แน่นอนว่า เมื่อเขามี “อำนาจเบ็ดเสร็จ” อยู่ในมือ สามารถใช้ข้ออ้างเพื่อความสงบเรียบร้อยในสถานการพิเศษที่ไม่ปกติก็สามารถจัดการได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่คำถามก็คือ “การจัดการ” ที่ว่านั้นจะสั่งปิดหรือใช้วิธีอื่นนั้นมาจากเหตุผลใดกันแน่ เพราะหากด้วยเหตุผลที่ว่า “ด่าทุกวัน” หรือด่าทุกหน้า ก็ไม่น่าจะใช่ เนื่องจากคำว่าด่าหรือการวิจารณ์ด้วยประโยชน์สาธารณะ หรือติติงชี้ให้เห็นข้อพิรุธเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองส่วนรวมน่าจะมีความหมายต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ขณะเดียวกัน ย้ำว่า สำหรับสื่อใน “เครือผู้จัดการ” จะยึดมั่นในความถูกต้องเสมอมา ยืนยันที่จะวิพากษ์วิจารณ์กับความไม่ชอบมาพากล หรือเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นว่าเกิดความไม่ถูกต้อง ไม่ว่ารัฐบาลใด หรือใครเป็นผู้นำ ก็ไม่มีข้อยกเว้น สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เช่นเดียว ยังยืนยันถึงหลักการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้จะทราบถึงข้อจำกัดในสถานการณ์พิเศษก็ตาม ที่ผ่านมาไม่เคยไปก้าวล่วงในเรื่องส่วนตัวอย่างเด็ดขาด

สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า “ASTV ผู้จัดการ” หรือ “สื่อบางฉบับ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวออกมาเองว่า “ไม่ว่าใครจะเป็นก็ด่าเขาหมด” นั่นก็สะท้อนความจริงในคำพูดในความหมายแล้วว่า “ต้องถูกวิจารณ์กันได้หมด” ไม่มีข้อยกเว้นหรือเกรงใจกับใคร หากเห็นว่ามีผู้นำหรือรัฐบาลใดมีเรื่องไม่ชอบมาพากล ส่งผลกระทบต่อบ้านเมือง แน่นอนว่าบางครั้งอาจเป็นไปได้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ในฐานะผู้นำที่เป็นบุคคลสาธารณะก็สามารถชี้แจงได้ทุกช่องทาง และสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องสะกดอารมณ์รับฟังเสียงวิจารณ์ที่ไม่รื่นหูเหล่านั้นบ้าง จะ “มัวแต่โมโห” อย่างเดียวไม่ได้เป็นอันขาด

ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะใช้อำนาจพิเศษคือ “กฎอัยการศึก” เข้ามาจัดการ เนื่องจากทนไม่ได้ที่ถูกติติงทุกวัน และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง แต่เรายังยืนยันอย่างมั่นคงว่าไม่เคยมีวาระส่วนตัว การวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งล้วนเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น และยังยืนยันในหลักการแบบนี้ตลอดไป !!
กำลังโหลดความคิดเห็น