ผ่าประเด็นร้อน
หากนับจนถึงวันนี้ก็ต้องบอกว่าในฐานะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาควบคุมอำนาจรัฐตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็ครบ 6 เดือนเต็มแล้ว และแม้ว่าปัจจุบันจะแบ่งปันอำนาจผ่านทางรัฐบาล รวมไปถึงสภานิติบัญญัติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วก็ตามแต่ต้นตอแห่งอำนาจทั้งหมดก็มาจากองค์กรเดียวคือ คสช. และคนๆ เดียว คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรืออาจจะมีบุคคลเพิ่มเข้ามาสนับสนุนด้านอำนาจและบารมีเพื่อให้ครบองค์ประกอบก็ต้องมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะ “พี่ใหญ่” ที่กว้างขวางรวมอยู่ด้วย
แต่บทบาทหน้าฉากก็ต้องบอกว่า อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไปถึง 6 เดือนแล้ว มันก็ต้องถึงเวลาที่มาตรวจดูผลงานกันบ้างว่าไปถึงไหนแล้ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องตรวจสอบความรู้สึกของชาวบ้านว่าส่วนใหญ่พอใจมากน้อยแค่ไหน และพิจารณาถึงแนวโน้มของสถานการณ์ในวันข้างหน้าจะออกมาในรูปไหนด้วย
แน่นอนว่าหากพิจารณาในเรื่องผลงานด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องบอกว่ายังไม่เข้าเป้า จะเรียกว่าผิดเป้าหมายก็ไม่น่าจะผิดนัก เพราะถ้าวัดกันแบบที่เห็นกันอยู่ตรงหน้าเรื่องค่าครองชีพ ราคาสินค้าเกษตรรับรองว่าบรรดาเกษตรกรคงไม่แฮปปี้แน่ นี่ว่ากันเฉพาะความเป็นจริงตรงหน้า จากเรื่องราคาก๊าซหุงต้ม ก๊าซขนส่งที่ปรับราคาขึ้นมาเรื่อยๆ มันย่อมส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นประจำวันแน่นอนอยู่แล้ว ประเภทที่อ้างว่าไม่มีผลเพราะต้นทุนเพิ่มเล็กน้อยมากนั้นเลิกพูดไปได้เลยเสียอารมณ์กันเปล่าๆ
อย่างไรก็ดี ในทางการเมืองแม้ว่าหากพิจารณาจากผลงานยังสรุปไม่ได้ เพราะเพิ่งจะเดินหน้าเต็มกำลัง ในเรื่องปฏิรูปทุกภาคส่วน และการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังต้องรอผลออกมาตามโรดแมป จะสิ้นสุดในปีหน้า แต่ถึงอย่างไรก็ยังพอมีแนวโน้มให้ลุ้นกันได้
แต่ก็นั่นแหละ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินมาถึงเวลา 6 เดือนแล้ว และรัฐบาลที่แตกตัวออกมาก็กำลังจะครบ 3 เดือนแล้ว นับนิ้วต้องยอมรับว่าเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันหลายครั้งว่า จะอยู่จัดการแก้ปัญหาเพียงแค่ปีเศษเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่ต้องเน้นย้ำแบบนี้ออกมา เพราะต้องการให้ “นิ่ง” เป็นการสะกดการเคลื่อนไหวลุกฮือต่อต้าน เพราะจะอยู่อีกไม่นานให้อดทนรอหน่อย เป็นการลดทอนแรงต่อต้านทั้งภายในและภายนอก ที่รังเกียจการรัฐประหาร รังเกียจรัฐบาลทหารอะไรประมาณนี้ ถ้าไม่เคลียร์เรื่องแบบนี้ออกไปก่อนรับรองว่าอยู่ไม่เป็นสุขแน่
และก็ได้ผลพอสมควร เพราะเมื่อมีการสำรวจความรู้สึกของชาวบ้านหลายสำนักผ่านมาเป็นระยะจนมาถึงครบ 6 เดือนเสียงส่วนใหญ่ยังสนับสนุน ยังให้โอกาส โดยเฉพาะตัวผู้นำ คสช. และนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็นั่นแหละอีกด้านหนึ่ง เมื่อเน้นย้ำในเรื่องของการอยู่ในอำนาจชั่วคราวแบบเฉพาะกาล ความหมายก็คือรัฐบาลอยู่ในอำนาจประมาณ 1 ปี มันก็ทำให้มีข้าราชการที่เป็นเครือข่ายที่เคยทำตัวเป็นข้าทาสบริวารของอำนาจเก่าที่ได้ดิบได้ดีในยุคเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร ต่างกัดฟันรอคอย ว่าอีกไม่นานจะกลับมาอีก
หากพิจารณาจากแนวโน้มมันก็เป็นไปได้เสียด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมา สิ่งที่ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำก็คือ “ความปรองดอง” โดยอ้างว่าเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้เสียที หลังจากหยุดชะงัก หรือถอยหลังจากความขัดแย้งของคนในชาติมานาน โดยถึงกับห้ามฟื้นฝอย ห้ามพูดถึงเรื่องเก่าๆ ห้ามพูดถึงระบอบทักษิณ ห้ามพูดพาดพิงไปถึงรัฐบาลเก่า สร้างความเกลียดชังไม่จบสิ้น โดยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติที่ไม่มีการชี้นำแทรกแซง
พิจารณาเผินๆ ฟังดูดีเป็นธรรมชาติ น่าจะถูกต้อง แน่ในความเป็นจริง ก็คือ มัน “ไม่ใช่ปรองดองจริง” เป็นแค่จอมปลอมเท่านั้น หรืออาจมองได้ว่าเป็นแค่ข้ออ้างเพื่อ “สวมตอ” ของบางกลุ่มเท่านั้น เพราะอ้างแบบนี้มันก็ไม่ต่างจากการ “ซุกขยะไว้ใต้พรม” ซ่อนปัญหาเอาไว้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะตราบใดก็ตามที่สังคมยังไม่รับรู้ถึงความชั่วสารพัดของระบอบทักษิณ ไม่ขยายความปัญหาทุจริตที่สร้างความเสียหายย่อยยับกับบ้านเมืองที่เห็นชัด ก็คือ โครงการรับจำนำข้าวที่ต้องใช้หนี้กันจนถึงลูกหลาน และคนที่ใช้ก็คือพวกที่เสียภาษี ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เคยรับรู้เลยถึงความเสียหาย ตรงกันข้ามยังชื่นชมประชานิยมแบบนี้เสียอีก แล้วนำมาเปรียบเทียบกับราคาข้าวในเวลานี้ที่ตกต่ำอย่างหนัก ดังนั้นตราบใดที่สังคมยังไม่ตาสว่าง ปฏิรูปไปก็ไร้ผล เพราะถึงอย่างไรก็ต้องนำไปสู่การเลือกตั้งเมื่อตอนนั้น เครือข่ายของทักษิณ ชินวัตร ก็จะกลับมาครองอำนาจอีก แล้วก็จะมีคนอีกกลุ่มที่รับรู้ข้อมูลและตื่นตัวไม่ยอมก็จะออกมาต่อต้านขับไล่อีก ไม่รู้จบ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตาเฉพาะหน้า ก็คือ เมื่อเวลาของรัฐบาล และ คสช. มีจำกัด มันก็เริ่มเกิดอาการ “เกียร์ว่าง” ออกมาให้เห็นบ้างแล้ว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เริ่มรับรู้บ้างแล้ว ถึงกับแสดงอารมณ์ออกมากับข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันก่อน และเชื่อว่านับจากนี้ไปเมื่อเวลายิ่งผ่านไป หากรัฐบาลยังใช้วิธีปิดปากไม่ยอมขยายความปัญหาเก่าๆให้ชาวบ้านได้เข้าใจ ให้รับรู้ความชั่วของระบบเก่า จะด้วยเหตุผลเบื้องลึกอะไรก็ตามไม่ว่าต้องการปรองดองกับอำนาจเก่าเพื่อรอแตะมือในวันหน้าอีกหรือเปล่า แต่นับจากนี้ไปเงื่อนไขเริ่มประดังเข้ามา เมื่อสองแรงบวกต่อให้มี “กฎอัยการศึก” กดเอาไว้มันก็น่าห่วงว่าจะคุมไม่อยู่
ระวังจะเสียของ และชาวบ้านจะซวยกว่าเดิม !!