หน.ปชป.ขอบคุณ ก.พลังงาน รับโยนภาระภาคอุตสาหกรรม ให้ ปชช.ซื้อก๊าซแพง ยันนโยบายตนเสนอไม่เสียหาย มองระบบคูปองสร้างปัญหาไม่แพ้การลักลอบ สรุปทางเลือกมองก๊าซเป็นของ ปชช.มีสิทธิใช้ราคาทุน หรือมองเป็นสินค้าให้แบกภาระราคาตลาด ติงรัฐไม่ฉวยโอกาสน้ำมันถูก แนะเปิดฟังความเห็น ทบทวนนโยบาย อย่าใช้วาทกรรมเท็จก๊าซหมด สร้างภาระ ปชช.
วันนี้ (11 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ ระบุว่าต้องขอบคุณกระทรวงพลังงานที่ออกมายอมรับว่าโยนภาระของภาคอุตสาหกรรมให้ประชาชนซื้อก๊าซแพง โดยนำต้นทุนจากการนำเข้าก๊าซราคาแพงของภาคอุตสาหกรรมมาเฉลี่ยกับต้นทุนการผลิตในประเทศ ไม่แยกแยะว่าก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน ที่ใช้ด้วยความจำเป็นในการหุงต้ม จึงควรสามารถใช้ได้ในราคาต้นทุนการผลิต ส่วนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมหรือปิโตรเคมี ซึ่งขายผลิตภัณฑ์ของตนในราคาตลาด ก็สมควรที่จะจ่ายราคาขายในตลาด ขอยืนยันว่านโยบายที่ตนเสนอและเคยปฏิบัติ ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับกองทุนน้ำมันและรัฐบาล ไม่เป็นการบิดเบือนต้นทุนการผลิตสำหรับครัวเรือน ส่วนปัญหาการลักลอบนั้นก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลมีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปราม
สำหรับแนวทางของรัฐบาลที่ช่วยเหลือประชาชนด้วยระบบคูปอง กระทรวงพลังงานก็ได้ยอมรับแล้วว่ามีปัญหามาก ที่สำคัญแม้จะมีการปรับปรุงโครงการนี้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาการบิดเบือน หรือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่แพ้ปัญหาการลักลอบ โดยสรุปทางเลือกนโยบายก๊าซหุงต้มจึงเป็นทางเลือกระหว่างการยึดถือว่าก๊าซธรรมชาติเป็นของคนไทย ซึ่งต้องมีสิทธิได้ใช้ก่อนในราคาต้นทุน หรือจะถือว่าก๊าซเป็นเพียงสินค้าตัวหนึ่งที่ทุกคนต้องแบกรับภาระตามราคาขายในตลาดที่ไม่มีการแข่งขัน
ส่วนกรณีของน้ำมันนั้นความแตกต่างอยู่ที่ว่าจะแยกแยะระหว่างเชื้อเพลิงที่ใช้ในกระบวนการผลิตและขนส่งจากเชื้อเพลิงที่ใช้ส่วนบุคคลหรือไม่ ขอยืนยันว่าการทำให้ต้นทุนการผลิตและขนส่งถูกลง เป็นแนวทางบริหารเศรษฐกิจที่ดีและปัจจุบันรัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังในการใช้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ถูกลง คำชี้แจงของกระทรวงพลังงานไม่ได้กล่าวถึงว่าทำไมราคาขายหน้าโรงกลั่นไม่สะท้อนต้นทุนน้ำมันดิบที่ลดลงและไม่มีคำอธิบายว่าที่จะต้องสะสมเงินกองทุนน้ำมันนั้นสะสมไว้เพื่อจะใช้ต่อไปในวัตถุประสงค์อะไร หรือจะใช้อย่างไรในอนาคต เพื่อประโยชน์ของใคร หากรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับต้นทุนและกลไกตลาด รัฐบาลต้องเร่งตรวจสอบทุนของเชื้อเพลิงทุกตัว ไม่ใช่ยอมรับต้นทุนที่ผู้ประกอบการแจ้งมา และมีผู้โต้แย้งในสังคมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการเปิดเผยและแก้ไขกรณีการขายก๊าซให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมในเครือในราคาพิเศษ
“ผมหวังว่ารัฐบาลจะเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงในเรื่องนี้ต่อไปและอยากให้ทบทวนนโยบาย เพราะแนวคิดว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นของประชาชนคือที่มาของการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงาน และหวังว่าจะไม่มีการใช้วาทกรรมเท็จ ก๊าซจะหมด กองทุนน้ำมันจะขาดทุน และอื่นๆ ในการผลักภาระให้กับประชาชนเหมือนกับอดีตที่ผ่านมา” นายอภิสิทธิ์กล่าว