xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปราคาแก๊สแอลพีจี ประชาชนแบกภาระเต็มๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นโยบายพลังงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการ “คืนความสุขให้ทุนพลังงาน สร้างภาระให้ประชาชน” โดยพิสูจน์ได้จากการปรับราคาแก๊สแอลพีจี ที่ให้ภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม จ่ายเท่ากันในราคา 24.16 บาท

นโยบายดังกล่าว ทำให้ประชาชนจ่ายแพงขึ้นประมาณ 6 บาท จากเดิมในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยตรึงราคาไว้ที่ 18.13 บาท ส่วนภาคอุตสาหกรรม ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีนโยบายให้ซื้อในราคาตลาดโลกที่ 30.13 บาท ได้ผลบุญจากนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จ่ายถูกลง 6 บาท

เท่ากับว่า การปฏิรูปราคาแอลพีจี ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ลดผลักภาระรายจ่ายของภาคอุตสาหกรรมไปให้ประชาชนแบกรับแทนเต็มๆ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีใหม่ จากเดิมที่ไม่ได้เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน มาเป็นจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 5.64 บาท สวนทางกับข้ออ้างที่รัฐบาลพยายามยัดเยียดให้ประชาชน เชื่อว่า แอลพีจีถูกเป็นภาระต่อกองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาเบนซินแพง เพราะหลังจากการขึ้นราคาแอลพีจี อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลก็ยังคงจัดเก็บเงินจากเบนซินและน้ำมันชนิดอื่นเข้ากองทุนน้ำมันในอัตราที่ไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก

โครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบันมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากน้ำมันแต่ละประเภท ดังนี้ เบนซิน 95 เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำามัน 10.15 บาท แก๊สโซฮอลล์ 95 เก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 4.65 บาท แก๊สโซฮอลล์ 91 เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2.95 บาท E20 เก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 1.2 บาท E85 ใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุน 8.23 บาท ดีเซล เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 4.8 บาท

จากโครงสร้างดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเงินส่วนใหญ่ของกองทุนน้ำมันถูกนำไปใช้อุดหนุนให้กับ E85 ทำให้ราคาขายปลีกถูกกว่าน้ำมันชนิดอื่น โดยอยู่ที่ลิตรละ 22.88 บาท แต่ถ้าไม่มีการนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปอุดหนุน ราคาขายปลีกจะอยู่ที่ 31.11 บาท แพงกว่า E20 ที่ขายปลีกในราคา 29.88 บาท

ข้ออ้างที่ว่า เงินจากกองทุนน้ำมันถูกนำไปชดเชยให้กับแก๊สแอลพีจี จึงเป็นการพูดความจริงเพียงเสี้ยวเดียว เพราะภาระของกองทุนน้ำมัน ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจาก แอลพีจี แต่เป็นการนำเงินไปชดเชยให้กับพลังงานทางเลือกให้มีราคาถูก เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นต่างหาก

แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ทำให้ E85 เป็นจำเลยสังคม ว่า สร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมัน ทำให้คนที่ใช้เบนซินต้องจ่ายแพง ตรงกันข้ามกับการประโคมข้อมูลข้างเดียวจนแอลพีจี กลายเป็นผู้ร้ายขโมยเงินจากคนใช้เบนซิน ซี่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะราคาน้ำมันเบนซินที่ถูกลงจากเดิมในปัจจุบัน เป็นเพราะราคาน้ำมันในตลาดลดลงถึง 40% ไม่ได้เกี่ยวกับภาระที่ต้องมาชดเชยแอลพีจีลดลง เนื่องจากราคาแอลพีจี ขยับขึ้นไปแล้ว และไม่มีความจำเป็นต้องบริหารจัดการกองทุนน้ำมันที่ติดลบอีก เพราะสถานะกองทุนน้ำมันในปัจจุบัน เป็นบวกอยู่ถึง 7,923 ล้านบาท

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ เมื่อแอลพีจีไม่เป็นภาระต่อกองทุนน้ำมันแล้ว รัฐบาลกลับเก็บเงินจากแอลพีจี 5.64 บาท เข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเอาเงินจากแอลพีจี ไปอุดหนุนใคร เพราะมีการระบุต้นทุนเฉลี่ยไว้ในโครงสร้างราคาแอลพีจี อยู่ที่ 16.54 บาท แต่ราคาขายปลีกที่รัฐบาลอ้างว่า จะเป็นการสะท้อนต้นทุน และราคาที่แท้จริงอยู่ที่ 24.16 บาท สูงกว่าต้นทุนที่รัฐกำหนดไว้ถึง 7.62 บาท ถ้าหักเงินที่รัฐเก็บเข้ากองทุนน้ำมันออกไป ประชาชนจะจ่ายค่าแอลพีจี ลดลงเหลือ 18.52 บาท

เท่ากับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้สะท้อนราคาที่แท้จริงของแอลพีจี ตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่เป็นการบังคับให้ประชาชนจ่ายแพงแทนภาคอุตสาหกรรม และยังรีดเลือดไปโปะในกองทุนน้ำมันเพิ่ม โดยไม่มีคำอธิบายว่า นำไปใช้เพื่อการใด

เลวร้ายที่สุดสำหรับแพกเกจแอลพีจี คือ การอนุญาตให้ผู้ค้าส่งออกแอลพีจีได้โดยเสรี ทั้งๆ ที่อ้างมาตลอดว่า พลังงานในประเทศจะหมด ต้องปรับราคาขึ้นเพื่อให้คนประหยัด และแก้ปัญหาการลักลอบส่งออกไปขายในต่างประเทศ แต่เมื่อมีการปรับราคาสมใจอยากแล้ว กลับเปิดประตูอ้าซ่า ให้ส่งออกได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จากความจริงทั้งหมด บ่งชี้ว่านโยบายแอลพีจี ของ พล.อ.ประยุทธ์ คืนความสุขให้นายทุนแต่ฝ่ายเดียว ออกมาตรการปรับราคาแอลพีจีเพิ่มเพื่อเปิดทางให้ผู้ค้าทำกำไรจากการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ให้คนไทยใช้ทรัพยากรของตัวเองในราคาตลาดโลก

จึงอยากให้รัฐบาบกลับมาทบทวนดูว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน โดยควรดำเนินการดังต่อไปนี้

1) ยกเลิกการจัดเก็บเงินจากแอลพีจี เข้ากองทุนน้ำมันในทันที ซึ่งจะทำให้คนไทยซื้อแอลพีจีถูกลง 5.64 บาท

2) เปิดเผยการคำนวณราคาต้นทุนอย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ

3) ต้องยึดหลักคิดว่า แอลพีจี เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่คนไทยมีสิทธิใช้ในราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ราคาเดียวกับตลาดโลก

4) เลิกนโยบายผลักภาระของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าแอลพีจีมาเป็นภาระให้ประชาชนจ่ายแพง

5) เปิดเผยราคาแอลพีจีที่ปิโตรเคมีจ่ายว่าถูกกว่าอุตสาหกรรม ครัวเรือน และขนส่ง จริงหรือไม่

6) ยกเลิกการส่งออกแอลพีจี เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

ข้อเสนอข้างต้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำได้ทันที เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่ถ้าไม่ทำก็คงหนีไม่พ้นข้อหา “ทิ้งประชาชนไปอุ้มทุนพลังงาน”
กำลังโหลดความคิดเห็น