xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ ชงข้อเสนอออก กม.ลูกคุมเข้มประชานิยม มีแบนห้ามเล่นการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจแถลงข้อเสนอชง กมธ.ยกร่างฯ มีมาตรการป้องกันประชานิยม ดักสร้างคะแนนการเมืองกระทบ ศก.ชาติ ออก กม.ลูกสอบเข้ม โทษหนักห้ามเล่นการเมือง พร้อมชงข้อแนะเกี่ยวกับการคลัง การงบประมาณ และการภาษีอากร ระบบการเงินและสถาบันการเงิน ศก.ระหว่างประเทศ และการลดวามเหลื่อมล้ำทาง ศก.



วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง แถลงถึงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรม ว่าข้อเสนอสำหรับการคลัง การงบประมาณ และการภาษีอากร ต้องมีการออกมาตราการป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อระบอบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว โดยจะให้มีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่สร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียต่อระบอบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว เพื่อป้องกันการออกนโยบายประชานิยมที่คิดแต่ง่ายๆ โดยไม่คิดถึงผลระยะยาว กฎหมายลูกฉบับดังกล่าวจะมีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบระยะยาวของนโยบายประชานิยม ซึ่งนโยบายประชานิยมที่จะออกมา ต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่าจะต้องไม่เป็นนโยบายที่สร้างความเสียหาย เช่น โครงการรับจำนำข้าว ถ้าจะเสนอมาอีกครั้งก็ต้องไปศึกษาถึงกระทบต่อระบบเศรษฐกิจว่าจะมีผลกระทบในระยะยาวอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะออกมาง่ายๆ นอกจากนี้ ในส่วนของเงินงบประมาณที่ถูกตัดไปนั้นจะนำไปแจก ส.ส.เพื่อให้นำงบประมาณไปตั้งผ่านหน่วยงานของรัฐไม่ได้ พร้อมกำหนดบทลงโทษไม่ให้กลับมาเป็นนักการเมืองอีก

ส่วนข้อเสนอ กมธ.การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง มีทั้งหมดดังนี้ สำหรับการคลัง การงบประมาณ และการภาษีอากร มี 11 ข้อ คือ 1. บุคคลพึงแสดงรายได้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ และให้ผู้เสียภาษีได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย 2. บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย รัฐต้องจัดระบบภาษีอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน 3. ต้องมีการจัดตั้งองค์กรอิสระ ที่เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังและภาษีอากรแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ นโยบายการเงิน การคลังและภาษีอากร และกำหนดมาตราฐานคุ้มครองสิทธิผู้เสียภาษี 4. ต้องมีการจัดตั้งสำนักงบประมาณแห่งรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและวิเคราะห์การจัดทำงบประมาณภาครัฐ 5. จัดระบบภาษีเป็น 2 ระบบ คือ ภาษีระดับชาติและภาษีท้องถิ่น

6. แผนการจัดหารายได้และแผนรายจ่ายของภาครัฐ ให้จัดทำเป็นพระราชบัญญัติเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ 7. การใช้จ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่า ด้วยงบประมาณรายจ่าย 8. เงินรายได้ของหน่วยงานใดที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ให้หน่วยงานนั้นรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 9. ให้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดความหมายของคำว่า “หนี้สาธารณะ” ป้องกันการก่อนหนี้สาธารณะมากเกินควร 10. ต้องมีการออกมาตราการป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และ 11. ส.ส.จะตั้งงบประมาณผ่านหน่วยงานของรัฐไม่ได้

สำหรับ ระบบการเงินและสถาบันการเงิน มี 4 ข้อ คือ 1. ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน 2. รัฐต้องจัดให้มีการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน 3. รัฐควรส่งเสริมระบบการออมเพื่อการชราภาพ และจัดให้มีสวัสดิการสังคมแก่ประชาชน และ 4. รัฐควรส่งเสริมประชาชนให้มีความรู้ทางการเงิน

ขณะที่ ข้อเสนอสำหรับตลาดทุน มี 4 ข้อ 1. รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อทำให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ 2. รัฐต้องให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงินและการลงทุน 3. รัฐต้องจัดให้มีระบบบำเหน็จบำนาญของประชาชน 4. รัฐต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ

สำหรับด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และประเด็นอื่นทางเศรษฐกิจ มี 3 ข้อ คือ 1. รัฐต้องจัดทำยุทธศาสตร์โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว 2. รัฐต้องจัดระบบรวมศุนย์การบริหารการเชื่อมต่อเศรษฐกิจต่างประเทศในภูมิภาคและในโลก และ 3. รัฐต้องปรับปรุงพัฒนากฎหมายเพื่อเอื้อต่อยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ และข้อเสนอสำหรับ

สำหรับการลดวามเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มี 9 ข้อ คือ 1. ต้องจัดให้มีหน่วยงานกลาง รับผิดชอบแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ 2. ต้องดำเนินการสร้างความเท่าเทียมในเชิงโอกาสให้ประชากรกลุ่มต่างๆ 3. การจัดสรรงบประมาณประจำปี ต้องดำเนินให้ผู้ที่ยากจนได้รับการดูแล 4. ต้องดำเนินการปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อให้มีประสิทธิภาพ 5. ดำเนินการให้เกษตรกรโดยรวม เข้าถึงที่ดินทำกินและสามารถรักษาไวได้ 6. จัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 7. ต้องไม่ให้เกิดการผูกขาดตัดตอน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในการทำธุรกิจต่างๆ ที่ต้องมีความเสรีเป็นธรรม 8. ต้องจัดให้มีระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และ 9. สนับสนุนให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ




กำลังโหลดความคิดเห็น