“ธีระชัย” เขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 3 ถึง รมว.คลัง จี้ตรวจสอบกรมธนารักรักษ์ คาดรู้เห็นเป็นใจเอื้อ ปตท.เบี้ยวคืนท่อก๊าซให้รัฐ โดยขณะนั้น “อธิบดีกรมธนารักษ์” ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท ปตท. ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้
“นอกจากนี้ ปรากฏข้อมูลสาธารณะในสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) ว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2550 จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2551 อธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ด้วย จึงทำให้มีข้อสงสัยว่า อธิบดีกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการเพื่อขจัดผลประโยชน์ขัดแย้งอย่างไร และได้มีการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเต็มที่ตามที่พึงกระทำในฐานะข้าราชการหรือไม่”
วันนี้ (9 ธ.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala” หัวข้อ จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลัง ฉบับที่ 3
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของกรมธนารักษ์ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อ้างถึง
1. หนังสือของข้าพเจ้าถึงท่าน ลงวันที่ 22 กันยายน 2557 เรื่อง 22 กันยายน 2557 เรื่อง การละเว้นปฏิบัติหน้าที่กรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
2. หนังสือของข้าพเจ้าถึงท่าน ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 เรื่อง 1 ธันวาคม 2557 เรื่อง ผลประโยชน์ที่กระทรวงการคลังอาจจะเสียไปในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ตามที่ ข้าพเจ้าในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือลงวันที่ 22 กันยายน 2557 (ตามเอกสารที่อ้างถึง 1) แจ้งท่านเกี่ยวกับความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า อาจจะมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และต่อมาได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ไปยังท่าน (ตามเอกสารที่อ้างถึง 2) แจ้งเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาผลประโยชน์ที่กระทรวงการคลังอาจจะเสียไปในบริษัทดังกล่าว นั้น
เนื่องจากปรากฏข้อมูลที่ส่อให้เห็นว่า ขั้นตอนการทำงานของกรมธนารักษ์อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เกิดขึ้นได้ มีรายละเอียดดังนี้
เรื่องเดิม
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีสี่รายซึ่งรวมถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 “กระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐ ออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4”
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาดังกล่าว “โดยให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง โดยหากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป”
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จัดส่งสรุปมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง เพื่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าทรัพย์สินที่พึงต้องโอนให้กระทรวงการคลังนั้นยังไม่ครบถ้วน โดยโอนไปเพียง 16,176.22 ล้านบาท แต่ยังมีระบบท่อที่บริษัทยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังจำนวนทั้งสิ้นอีก 32,613.45 ล้านบาท ประกอบด้วยระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจำนวน 14,393.16 ล้านบาท และในทะเลจำนวน 18,220.29 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดแจ้งว่าได้ทำการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาแล้ว โดยอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ร่วมกันดำเนินการดังกล่าว ทำให้ตุลาการเจ้าของสำนวน (นายจรัญ หัตถกรรม) ได้ทำบันทึกบนคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว (ซึ่งต่อมาบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยึดบันทึกของตุลาการเจ้าของสำนวนดังกล่าวเป็นที่ตั้งเหนือสิ่งอื่นใด)
การที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องดังกล่าว น่าจะสืบเนื่องจากกรณีกระทรวงการคลังมีหนังสือ ด่วน ที่ กค 0304/14834 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ขอให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานผลการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย แต่จากข้อมูลที่ปรากฏในขณะนี้ ข้าพเจ้าเกรงว่าการทำงานในกระทรวงการคลังที่นำไปสู่หนังสือฉบับนี้ อาจจะมีการลัดขั้นตอนและปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
ลำดับเรื่องที่นำไปสู่หนังสือ ด่วน ที่ กค 0304/14834
ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0304/ล.1522 ลงวันที่ 6 กันยายน 2556 ถึงผู้ตรวจการแผ่นดินปรากฏข้อความ ว่า
“สำหรับกรณีมอบหมายกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง
กรมธนารักษ์ได้มีคำสั่งที่ 582/2550 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2550 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำหนดแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการรับโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ... โดยมีผู้แทนกรมธนารักษ์ ผู้แทน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องโอนให้กระทรวงการคลัง และได้รายงานกระทรวงการคลังตามบันทึกกรมธนารักษ์ ด่วนที่สุด ที่ กค 0304/2811 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2551
ต่อมา บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กรมธนารักษ์ตามบันทึกการแบ่งแยกและการส่งมอบทรัพย์สินที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551
หลังจากจัดทำบันทึกการแบ่งแยกและการส่งมอบทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 แล้ว กระทรวงการคลังได้มีหนังสือที่ กค 0304/10306 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2551 แจ้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่าได้ดำเนินการตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินที่จะต้องโอนให้กระทรวงการคลังแล้ว
ต่อมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเวนคืนจำนวน 106 แปลงให้กระทรวงการคลังจนเป็นที่เรียบร้อย และกรมธนารักษ์ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้แบ่งแยกและโอนทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว
จึงได้มีหนังสือ ด่วน ที่ กค 0304/14834 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ขอให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานผลการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย”
ข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน
เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ที่เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาดังกล่าว ระบุว่า “ให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง” การที่กรมธนารักษ์เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและแจ้งผลการตรวจสอบแก่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามหนังสือที่ กค 0304/10306 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2551 จึงน่าจะยังไม่เป็นขั้นตอนที่สมบูรณ์และสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ถ้าหากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อ้างอิงผลการตรวจสอบของกรมธนารักษ์ดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ในการยื่นคำร้องลงวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ข้อมูลในหนังสือที่ กค 0304/10306 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ทำให้ศาลเข้าใจได้ว่าทุกฝ่ายงานได้เห็นชอบกับการโอนทรัพย์สินตามที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการแล้ว (ซึ่งคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าไม่ถูกต้อง)
ส่วนการที่คณะกรรมการตามคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 582/2550 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2550 มีข้อสรุปจนทำให้มีการรายงานกระทรวงการคลังตามบันทึกกรมธนารักษ์ ด่วนที่สุด ที่ กค 0304/2811 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2551 นั้น คณะกรรมการดังกล่าวอาจจะมิได้สอบถามผลการตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก่อน จึงน่าจะยังไม่เป็นขั้นตอนที่สมบูรณ์และสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวด้วย และการที่กระทรวงการคลังต่อมามิได้รอคำตอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แต่ต่อมาได้มีหนังสือ ด่วน ที่ กค 0304/14834 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ขอให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานผลการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้มีหนังสือที่ กค 0304/10306 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไปแล้ว แต่กระทรวงการคลังกลับมิได้รอคำตอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสืบเนื่องจากหนังสือดังกล่าวเสียก่อน ก็อาจจะเป็นการดำเนินงานที่ลัดขั้นตอนและไม่รอบคอบ
นอกจากนี้ ปรากฏข้อมูลสาธารณะในสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) ว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2550 จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2551 อธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ด้วย จึงทำให้มีข้อสงสัยว่า อธิบดีกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการเพื่อขจัดผลประโยชน์ขัดแย้งอย่างไร และได้มีการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเต็มที่ตามที่พึงกระทำในฐานะข้าราชการหรือไม่
ในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าทรัพย์สินที่พึงต้องโอนให้กระทรวงการคลังนั้นยังไม่ครบถ้วน โดยโอนไปเพียง 16,176.22 ล้านบาท แต่ยังมีระบบท่อที่บริษัทยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังจำนวนทั้งสิ้นอีก 32,613.45 ล้านบาท ประกอบด้วยระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจำนวน 14,393.16 ล้านบาท และในทะเลจำนวน 18,220.29 ล้านบาทนั้น ตัวแทนกระทรวงการคลังที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทราบหรือไม่ว่าความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่กรมธนารักษ์ได้เคยรายงานกระทรวงการคลังไว้ตามบันทึกกรมธนารักษ์ ด่วนที่สุด ที่ กค 0304/2811 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2551 และตัวแทนของกระทรวงการคลัง ได้ปกป้องผลประโยชน์ของกระทรวงการคลัง โดยแจ้งความเห็นแย้งของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ผู้บังคับบัญชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบหรือไม่
และตามที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น คณะกรรมการของบริษัทได้รับทราบการยื่นคำร้องดังกล่าวหรือไม่ และตัวแทนของกระทรวงการคลังเมื่อเห็นว่าเนื้อหาในคำร้องขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตัวแทนของกระทรวงการคลังได้ปกป้องผลประโยชน์ของกระทรวงการคลัง โดยแจ้งข้อขัดแย้งดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบหรือไม่
นอกจากนี้ คณะกรรมการตามคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 582/2550 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ซึ่งมีผู้แทนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ด้วยนั้น ในขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าทรัพย์สินที่พึงต้องโอนให้กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วน ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับข้อสรุปของคณะกรรมการดังกล่าว ตามที่ได้มีการรายงานกระทรวงการคลังตามบันทึกกรมธนารักษ์ ด่วนที่สุด ที่ กค 0304/2811 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2551 นั้น ผู้แทนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อาจจะมิได้แจ้งข้อมูลนี้แก่กรมธนารักษ์หรือไม่ ซึ่งหากไม่แจ้ง อาจจะเข้าข่ายเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงอันสำคัญต่อทางราชการหรือไม่
ความเห็น
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าขั้นตอนการทำงานของกรมธนารักษ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีลักษณะที่ส่อไปในทางที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือไม่
ข้อเสนอแนะ
ในระหว่างที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2555 นั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบความเรื่องนี้ เพราะไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้แก่ข้าพเจ้า แต่เมื่อความปรากฏดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอเสนอแนะให้ท่านทำการตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของกรมธนารักษ์ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหากพบว่ามีการดำเนินการที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นจริง ข้าพเจ้าขอเสนอแนะให้ท่านทำการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
จากนั้น นายธีระชัย ได้ขยายความต่อด้วยว่า จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 3 ย่อหน้าที่สำคัญที่สุดคือ
“นอกจากนี้ ปรากฏข้อมูลสาธารณะในสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) ว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2550 จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2551 อธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ด้วย จึงทำให้มีข้อสงสัยว่า อธิบดีกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการเพื่อขจัดผลประโยชน์ขัดแย้งอย่างไร และได้มีการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเต็มที่ตามที่พึงกระทำในฐานะข้าราชการหรือไม่”
เนื่องจากการทำงานของกรมธนารักษ์เป็นพื้นฐานหลักที่นำไปสู่การสั่งคดีโดยศาลปกครองเกี่ยวกับท่อก๊าซเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551
และบัดนี้ ปรากฏข้อมูลว่าการทำงานของอธิบดีกรมธนารักษ์อาจจะมีผลประโยชน์ขัดแย้ง ซึ่งหากมีจริง ก็น่าจะทำให้ขั้นตอนการทำงานในกระทรวงการคลังขาดความชอบธรรม และน่าจะทำให้พื้นฐานที่นำไปสู่การสั่งคดีดังกล่าว ขาดความชอบธรรมไปด้วย
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก่อนที่จะอ้างอิงการสั่งคดีวันที่ 26 ธันวาคม 2551 จึงควรสอบถามรัฐมนตรีคลังถึงผลการตรวจสอบดังกล่าวเสียก่อน
ทั้งนี้ ผมได้ส่งจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ให้แก่บุคคลต่อไปนี้ด้วย
1 เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ท่านนำเสนอแก่คณะกรรมการกฤษฎีกา หากจะมีการพิจารณาตามที่ สตง. ได้ส่งเรื่องไป
2 ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
3 ประธานศาลปกครองสูงสุด