“นิพิฏฐ์” มองข้อเสนอนิรโทษกรรมของเล่นใหม่ สปช.-สนช.หวังปรองดอง ย้อนคนไทยลืมง่าย ส.พระปกเกล้าเคยทำแล้ว ติงตัดตอนไม่หาความจริงก่อน ชี้ที่เหลือในคุกมีแต่คดีหนัก โฆษก กปปส.เมินนิรโทษฯ ชี้นำสู่แตกแยกได้ อย่าสุดซอย “ก่อแก้ว” รูดซิปปาก “สมเจตน์” แนะนำทุกกลุ่มคุยให้ตกผลึกก่อน ถึงล้างผิด เขียน กม.ให้ชัดห้ามลักไก่ ขออย่าเหมาทำแล้วปรองดอง อนุฯ ยันเดินหน้า อ้างจิตใจดีล้างผิดสำเร็จ
วันนี้ (1 ธ.ค.) นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานเตรียมเสนอให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองว่า การนิรโทษกรรมมีการคิดกันมาประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีข้อยุติ ข้อเสนอครั้งนี้ถือเป็นของเล่นใหม่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่คิดว่าจะนำไปสู่การปรองดองได้ แต่คนไทยกลับเป็นโรคลืมง่ายเพราะเรื่องนี้สถาบันพระปกเกล้าเคยศึกษาแล้ว ซึ่งการนิรโทษกรรมต้องทำตามกระบวนการ คือ 1. ต้องค้นหาศึกษาความจริงก่อน 2. เปิดเผยความจริง 3. จัดการความจริง และ 4. นิรโทษกรรม แต่ตอนนี้กลับเอาขั้นตอนสุดท้ายขึ้นมาปฏิบัติก่อน โดยไม่มีการสืบสวนหาความจริง
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีประชาชนที่ต้องการนิรโทษกรรมถูกคุมขังอยู่อีกแล้ว เพราะผู้ร่วมชุมนุมที่กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.บ.มั่นคงฯ จะมีโทษไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น หากนับตั้งแต่ปี 2553 ก็ไม่มีแล้ว หากมีอยู่ก็จะเหลือเพียงคนที่ทำผิดทางอาญาร้ายแรง คือ การปล้น การฆ่า มีอาวุธร้ายแรง คนก็จะไม่ยอมให้นิรโทษกรรมซึ่งวันนี้ สปช.เริ่มต้นซอยเมื่อไม่เห็นใครที่จะนิรโทษกรรมได้ ก็จะเดินไปกลางซอยและเมื่อไม่มีแล้วก็จะเดินต่อไปสุดซอยที่มีแต่พวกทำความผิดการฆ่า การเผา มีอาวุธร้ายและและผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงต้องระบุให้ชัดเจนว่าต้องการนิรโทษกรรมให้กับใครบ้าง เพราะคนที่ชุมนุมไม่มีอีกแล้ว
ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่เคยร้องขอให้นิรโทษกรรม มุ่งหน้าสนับสนุนให้ปฏิรูปสำเร็จเท่านั้นซึ่งการนิรโทษกรรมต้องแยกออกจากการปรองดอง เพราะบางครั้งการนิรโทษกรรมจะนำไปสู่ความแตกแยกได้ เห็นได้จากครั้งที่ผ่านมาที่นิรโทษกรรมสุดซอยจนเป็นชนวนสู่ความแตกแยกอีกทั้งขัดหลักนิติธรรม เนื่องจากนิรโทษฯ ให้คนโกงและผู้ที่ถูกศาลตัดสินคดีไปแล้ว การนิรโทษกรรมครั้งนี้หากทำเพื่อความปรองดองก็ขอให้ระมัดระวังและถ้าจะเริ่มปรองดองก็ควรนำผลศึกษาของคณะกรรมชุดต่างๆ มาพิจารณา และการให้อภัยโดยนิรโทษกรรมเป็นขั้นตอนสุดท้ายต้องถามคนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนแกนนำกปปส. ยืนยันว่าพร้อมต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมหลักการต้องแม่นอย่าดำเนินการลักษณะสุดซอย
ขณะที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเพราะมีส่วนได้เสีย แต่อยากให้กรรมาธิการได้ศึกษาอย่างรอบด้าน
ส่วน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช.กล่าวว่า ตนเห็นด้วยหากจะมีการนิรโทษกรรม แต่ต้องนำคนจากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยกันในหลักการก่อนว่าจะนิรโทษกรรมให้กับใครบ้างเพื่อให้ตกผลึกก่อน เมื่อยอมรับกันแล้วก็เขียนกฎหมาย ซึ่งใครก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างกฎหมายสามารถเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมได้ แต่ไม่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนแค่กรอบ อาจจะทำให้เกิดการตีความอีก ทั้งนี้ไม่ควรดำเนินการนิรโทษกรรมแบบครั้งที่แล้วที่เสนอกฎหมายรูปแบบหนึ่งแต่ไปทำอีกรูปแบบหนึ่ง และการเขียนกฎหมายก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าผู้ที่จะได้รับนิรโทษกรรมต้องคดีประเภทใดบ้าง และเวลาช่วงไหนถึงช่วงไหนบ้าง เพื่อจำกัดขอบเขตให้ชัดเจนไม่ให้เกิดการตีความและง่ายต่อการตีความของผู้พิพากษาด้วย อย่างไรก็ตามอย่าเหมารวมว่าการนิรโทษกรรมจะทำให้เกิดการปรองดองได้
ด้านนายเอนกกล่าวว่า ตอนนี้ตนเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และวันที่ 2 ธ.ค. จะเริ่มพูดคุยกับคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ เรื่องการนิรโทษกรรมต้องทำให้ได้ เพื่อให้คนในประเทศเกิดความปรองดองกัน ทั้งนี้ต้องให้คนกลางดำเนินการเรื่องการนิรโทษกรรม เพราะหากรัฐบาลดำเนินการก็อาจทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ และไม่ควรพูดคุยกันมาก เพราะจะให้วนไปมาอาจทำให้ไม่สำเร็จได้ อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวอยู่ที่จิตใจ หากจิตใจดีในการทำเรื่องนิรโทษกรรมก็จะสำเร็จได้