xs
xsm
sm
md
lg

"ดาว์พงษ์"ดันร่างพรบ.สวนป่า เพิ่ม"ของป่า"จาก2เป็น64ชนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22ต.ค.) ที่ประชุมสมาชิกสภานนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.. โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงหลักการ ว่า โดยที่ พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมและเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่า ประกอบกับปัญหาอุปสรรคในการแปรรูปไม้ และการออกใบรับรองไม้ ที่ได้มาจากการทำสวนป่า และความไม่ชัดเจนของสถานะของสัตว์ป่า หรือของป่า ในสวนป่า ดังนั้นจึงสมควรแก้ไขหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสวนป่า และปรับปรุงมาตรการ ในการกำกับดูแลและแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นมาตรการในการส่งเสริม และจูงใจให้มีการปลูก สร้างสวนป่า ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกำหนดบทนิยาม "ของป่า" จากเดิมที่สวนป่ามีแค่ 2 ชนิด แต่ของใหม่ได้เพิ่มขึ้นมาอีก 62 ชนิด รวมเป็น 64 ชนิด เพราะที่ผ่านมา ความต้องการไม้เพิ่มมากขึ้นหลังจาก 25 ปีที่ปิดป่า และตอบสนองนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการเพิ่มพื้นป่าเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2567 จากเดิมที่มีแค่ 32 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับการส่งเสริมการค้าไม้ต่างประเทศ ให้นำไม้ซึ่งมีที่มาที่ไปแปรรูปขายไปยังต่างประเทศ และสอดรับกับการจัดสรรที่ดินให้เอกชน ซึ่งบางพื้นที่ซึ่งไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ ก็ให้ทำเป็นรูปแบบสหกรณ์ เพราะบางแปลงเหมาะกับการทำสวนป่า อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อทีน่าเป็นห่วงและได้พยายามแก้ไขทั้งเรื่อง การจัดสรรที่ดิน การเปิดให้สามารถเคลื่อนย้ายไม้ได้ง่ายขึ้น หรือการอนุญาตให้ตั้งโรงเรื่อยไม้ในพื้นที่รายแปลงตามที่กำหนดเพื่ออำนวยความสะดวก
ที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เช่น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. เห็นว่า มีข้อกังวลคือ ลักษณะการออกโฉนดที่เกี่ยวข้องกับการทำสวนป่า ก่อนที่จะออกใบโฉนด หรือขึ้นทะเบียน ให้แต่ละพื้นที่เป็นพื้นที่ของสวนป่านั้น ควรตรวจสอบว่าในพื้นที่นั้น มีกรณีข้อพิพาททางกฎหมายหรือไม่ และจากการที่ในท้ายร่าง พ.ร.บ.ได้เพิ่มบัญชีไม้ท้าย พ.ร.บ. จาก 2 ชนิด เป็น 64 ชนิดนั้น อาจจะทำให้ระบบนิเวศโดยรวมเสียหายได้ ทำให้เสียสมดุลตามธรรมชาติได้
ส่วนพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสปช. กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้มีพื้นที่ป่าและให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของป่า แต่ควรที่จะมีมาตรการในการป้องกันคนที่ทุจริตนำไม้มาสวมสิทธิ์ว่าเป็นไม้ที่มาจากสวนป่าเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย
ด้านนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสนช. ได้อภิปรายว่า ในร่างมาตรา 4 ของกฎหมายนี้ ตนคิดว่าอาจจะก่อให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และอาจจะส่งเสริมให้คนทั่วไปตัดไม้มากกว่าการปลูกเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งตนเห็นว่าในร่าง มาตรา 4 จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ และในร่าง มาตรา 10 ที่ระบุว่า ในการทำไม้ที่ได้จากสวนป่า ผู้ที่ทำเป็นสวนป่าอาจจะตัดหรือโค่นไม้ แปรรูป ค้า และมีไว้ในครอบครอง ให้สามารถเคลื่อนย้ายไม้ผ่าด่านป่าไม้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้นั้น ตนเห็นว่า สภาพของคนไทยในเรื่องเสรีภาพกับความรับผิดชอบยังไม่สมดุลกัน จึงเกรงว่าจะเป็นช่องทางในการหลีกเลี่ยงทางกฎหมาย ซึ่งตนขอให้มีมาตรการในเรื่องนี้อย่างชัดเจนด้วย
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ ชี้แจงว่า การขึ้นทะเบียนสวนป่าตาม ม. 4 จะมีนายทะเบียนตามกฎหมาย คือ ในเขตกรุงเทพมหานครจะเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ส่วนในต่างจังหวัดจะ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะมีกฎเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวด หากพบว่ามีกระบวนการขึ้นทะเบียนสวนป่าไม่ถูกต้อง ก็จะถูกนายทะเบียนเพิกถอน ส่วนการขนย้ายไม้จากสวนป่าจะมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า ในสวนป่าดังกล่าว มีการปลูกไม้อะไรบ้าง มีการลงทะเบียนไม้ที่จะตัดอย่างเข้มงวด และมีการตอกเบอร์หรือทำเครื่องหมายสำคัญว่าเป็นไม้มาจากสวนป่า ตามหลักเกณฑ์ของร่าง พ.ร.บ.นี้ และการตัดไม้จากสวนป่า จะมีการออกหนังสือรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกตามด่านป่าไม้ต่างๆ ส่วนการเพิ่มบัญชีไม้ท้ายร่าง พ.ร.บ. เป็น64 ชนิด ที่สมาชิกฯ เกรงว่าจะกระทบระบบนิเวศนั้น ตนเห็นว่า ส่วนใหญ่คนที่ทำสวนป่าก็ปลูกพืชในท้องถิ่น ตามหลักวิชาการและภูมิประเทศอยู่แล้ว ซึ่งทางนักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ทางการเกษตร ได้ให้แนะนำแก่ผู้ที่ทำสวนป่าอยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มไม้ชนิดใดก็จะได้ประกาศในพระราชกฤษฎีกาต่อไป
ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้ชี้แจงว่า สมาชิกสนช. ส่วนใหญ่มีความกังวลว่าจะมีการสวมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการทำสวนป่า โดยปัญหาเท่าที่ทราบก็คือเรื่องระบบกับคน ซึ่งปัญหาของเจ้าหน้าที่ป่าไม้นั้น ก็คือว่าจะต้องควบคุมให้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างไร ซึ่งตนยอมรับว่า ก่อนหน้าตนมีความกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ แต่พอได้ฟังข้อเสนอแนะแล้วนั้น ก็พอจะมีทางออกว่าจะต้องอุดช่องว่างให้ได้ โดยตนรู้สึกว่าถ้าต้องการจะได้ลูกเสือก็ต้องจะเข้าถ้ำเสือ เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาก็จะต้องทำให้รอบคอบ
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ 159 เสียง เห็นชอบรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีสมาชิกงดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมาย จำนวน 15 คน มีระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน และกำหนดระยะเวลาในการทำงาน 45 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น