xs
xsm
sm
md
lg

“นิคม” ดิ้น แจ้ง สนช.ขอเพิ่มพยานถอดถอน พร้อมค้าน 16 อดีต ส.ว.ร่วมพิจารณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนช.ประชุมถอดถอน “สมศักดิ์-นิคม” แก้ รธน.ที่มา ส.ว.มิชอบ อดีตประธานวุฒิฯ เข้าแจงเอง ขอเพิ่มพยาน พร้อมค้าน สนช.ที่เคยเป็ ส.ว.แล้วยื่นร้อง ป.ป.ช.ถอดถอนเรื่องนี้ ไม่ให้ร่วมกระบวนการพิจารณา อ้างมีส่วนได้ส่วนเสีย ผลประโยชน์ทับซ้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (27 พ.ย.) มีการพิจารณาเรื่องถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ซึ่ง สนช.ต่างทยอยเดินทางเข้าร่วมประชุมตั้งแต่เช้า

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวว่าที่ประชุม สนช.ว่าจะพิจารณาเรื่องการถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ เป็นวาระแรก โดยจะเริ่มจากให้ผู้ถูกกล่าวหาแถลงถึงหลักฐานที่ยื่นใหม่ว่าเป็นอะไร มีลักษณะอย่างไร เคยยื่นในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ และให้ผู้กล่าวหาชี้แจงเกี่ยวกับหลักฐานดังกล่าวเช่นกัน จากนั้น สนช.จะลงมติว่าจะรับหลักฐานใหม่ไว้พิจารณาหรือไม่ จากนั้น สนช.จะลงมติเพื่อกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนต่อไป ส่วนหลักฐานใหม่ก็จะส่งให้กับสมาชิกทุกคนศึกษา และหากมีข้อสงสัยให้ซักถามผ่านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถามที่จะตั้งขึ้นมาในการประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ขั้นตอนต่างๆ จากนี้จะเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก หากเป็นไปตามที่วิป เสนอ แถลงเปิดคดีวันที่ 8 ม.ค. 2558 นั้นน่าจะแถลงปิดคดีได้ภายในเดือน ม.ค.เช่นกัน และลงมติถอดถอน หลังจากแถลงปิดคดีภายใน 3 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิคม ไวยรัชพานิช เดินทางมาชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ด้วยตัวเองกรณีถูกถอดถอนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ โดยนายนิคมกล่าวก่อนการชี้แจงต่อ สนช.ว่า จะขอที่ประชุม สนช.เพิ่มพยานเอกสารที่เป็นเทปบันทึกการประชุมในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานการประชุมช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงให้เห็นว่า มีการยื่นข้อมูลอันเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช.ในการกล่าวหาตนว่า วางตัวไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม รวมถึงขอคัดค้านสมาชิก สนช.16 คน ไม่ให้มีส่วนร่วมกระบวนการถอดถอนตนในครั้งนี้ เพราะทั้ง 16 คน เป็นอดีต ส.ว.ที่เคยยื่นถอดถอนตนต่อ ป.ป.ช. ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ควรให้เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาถอดถอนครั้งนี้ อาจทำให้การลงมติมีความไม่เป็นกลางได้

อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุม สนช.อนุญาตให้ทั้ง 16 คนทำหน้าที่ได้นั้นก็ไม่เป็นไร เพราะได้ใช้สิทธิตามกฎหมายและหลักนิติธรรมในการยื่นคัดค้านแล้ว















กำลังโหลดความคิดเห็น