รายงานการเมือง
วันนี้ 27 พ.ย. “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา - นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา” ต้องกลับมาเยือนถิ่นเก่า ห้องประชุมรัฐสภา แต่ที่นั่งต่างไปจากยามมีอำนาจ วันนี้มาอยู่ในสถานะ “ผู้ถูกกล่าวหา” ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินการถอดถอนทั้งสองคน ออกจากตำแหน่ง ตามาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542
กระบวนการทั้งหมดในคำร้องนี้จะเริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้ หลังล่าสุด วิป สนช. เคาะออกมาแล้วว่าวันนัดประชุม สนช. เพื่อลงมติจะให้ไปอยู่ในช่วงไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธุ์ 2558 จากเดิมที่คาดกันว่าวันนัดลงมติน่าจะอยู่ในช่วงปลายปีนี้ หรือไม่ก็ไม่เกินสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม
ยังไม่มีคำยืนยันออกมาจากปากของสมศักดิ์ ว่า ในการประชุม สนช. วันนี้ เจ้าตัวจะเดินทางมายังรัฐสภาด้วยตัวเองหรือไม่ หรือจะส่งตัวแทนมา แต่ในส่วนของ นิคม นั้น บอกว่าจะมาด้วยตัวเอง และกระบวนการสู้คดีทุกขั้นตอน ก็จะมาเองหมด
อย่างไรก็ตาม การประชุม สนช. วันนี้ ยังไม่ใช่นัดสำคัญ เพราะเป็นแค่วันซึ่งจะให้ สนช. มาคุยกันว่าจะกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนในคดีนี้ของคู่กรณีคือ ป.ป.ช. กับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนคือ สมศักดิ์ - นิคม ควรจะให้อยู่ในวันไหน รวมถึงการพิจารณาด้วยว่าตัวผู้กล่าวหาได้มีการยื่นขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานจากสำนวนของ ป.ป.ช. ที่กล่าวหาทั้งสองคนหรือไม่ หากยื่นมา แล้วที่ประชุม สนช. เห็นควรอย่างไร มีข่าวว่าทั้งสองคนยื่นขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานไปยัง สนช. พอสมควร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ สนช. อาจจะเห็นชอบบางส่วนหรืออาจทั้งหมด เพื่อทำให้เห็นว่าสนช.ให้โอกาสในการสู้คดีกับฝ่ายสมศักดิ์ - นิคม
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นวิป สนช. เคาะเฟรมเวิร์กที่เป็นปฏิทินเวลาสองสำนวนนี้ออกมาดังนี้แล้ว คือ จะให้วันที่ 8 ม.ค. 58 คือ วันแถลงเปิดสำนวนของคู่กรณี ซึ่งหากที่ประชุม สนช. โหวตเอาด้วยตามนี้ ปฏิทินก็จะเดินไปเองโดยอัตโนมัติตามข้อบังคับการประชุม สนช. ปี 57 ที่ขั้นตอนทุกอย่างต่อจากการแถลงเปิดสำนวนเช่นช่วงเวลาการให้คณะกรรมาธิการซักถามของ สนช. ที่จะทำหน้าที่แทน สนช. ทั้งหมดทำการซักถาม ป.ป.ช. และ สมศักดิ์ - นิคม หรือช่วงเวลาการแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาต่อที่ประชุม สนช. ก็จะเข้าล็อกโดยอัตโนมัติของข้อบังคับการประชุมและพอแถลงปิดสำนวนแล้ว จะต้องกำหนดวันลงมติหลังวันแถลงปิดสำนวนไม่เกิน 3 วันหลังวันแถลงปิดสำนวน
ดังนั้น ขั้นตอนต่างๆ นับแต่วันแถลงเปิดสำนวน 8 ม.ค. 58 ไปจนถึงวันนัดลงมติ ก็จะอยู่ในช่วงประมาณ 30 วันนับจาก 8 ม.ค. วันนัดลงมติคดี สมศักดิ์ - นิคม จะอยู่ประมาณสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. ปีหน้านั่นเอง ถือว่า ไกลจาก 28 พ.ย. พอสมควร อาจไม่ทันใจกองเชียร์บางกลุ่มที่อยากเห็น สนช. ชุดนี้ ลงมติ ถอดถอน ค้อนปลอม - นิคม เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย
เช่นเดียวกับคดีถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งให้บังเอิญว่าช่วงเวลาความเป็นไปของคดีมาอยู่ติดกับ คดีสมศักดิ์ - นิคม พอดี ชะตาความเป็นไปของคดียิ่งลักษณ์ ก็เลยจะอยู่ติดวันกับคดีสมศักดิ์ - นิคม ไปตลอดนับแต่นี้ เพราะพอ สนช. พิจารณาคดีสมศักดิ์ - นิคม วันที่ 27 พ.ย. นี้เสร็จ วันรุ่งขึ้น 28 พ.ย. สนช. ก็มีคิวพิจารณาวางกรอบกระบวนการพิจารณาคดีถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ต่อพอดี ซึ่งวิป สนช. ก็เคาะมาแล้วว่าจะให้ วันแถลงเปิดสำนวนคดีนี้ เป็นวันที่ 9 ม.ค. 58 คือถัดจากวันแถลงเปิดคดี สมศักดิ์ - นิคม ไปอีกหนึ่งวัน
หากที่ประชุม สนช. เอาด้วยกับมติวิป สนช. ดังกล่าว ลำดับเวลาการเดินไปของคดีนี้ ก็จะเดินไปควบคู่กับคดีของสมศักดิ์ - นิคม เกือบเหมือนกันหมด ทั้งการประชุมเพื่อให้ กมธ. ซักถามคู่กรณี หรือการกำหนดวันแถลงปิดสำนวน และมีความเป็นไปได้ ที่วันนัดลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ของ สนช. ก็จะคล้อยหลังวันลงมติคดีสมศักดิ์ - นิคม เพียงวันเดียวเช่นกัน
ช่วงต้นปีหน้า ความเคลื่อนไหวคดีถอดถอนของ สนช. คาดได้เลยว่าจะเป็นจุดสนใจของทุกฝ่าย เพราะถัดจากคดียิ่งลักษณ์ - สมศักดิ์ - นิคม ก็ยังมีต่อคิวมาอีกสองสำนวน คือ คดีถอดถอน อดีต ส.ว. ชุดที่แล้ว 38 คน จากเรื่องการแก้ไขรธน. เรื่องที่มา ส.ว. ที่ ป.ป.ช. จ่อส่งสำนวนมายัง สนช. เร็ววันนี้ และตามด้วยการเตรียมชี้มูลกับอดีต ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลสมัยที่แล้วร่วม 280 คน ในเรื่องการแก้ไข รธน. เช่นกัน มีข่าวบอกว่า ป.ป.ช.อาจนัดลงมติว่าจะชี้มูลความผิดหรือไม่ในช่วงปลายปีนี้
ที่คนท้า “เปิดถ้วยแทง” กันว่า จะไม่มีใครโดนถอดถอนเลยแม้แต่คนเดียว บางกลุ่มเชื่อว่า สนช. คงไม่ปล่อย ยิ่งลักษณ์ แน่นอน แต่การต่อรองยังสูสีอยู่ ต้องรอดูแนวโน้มช่วงต้นปีก่อน ถึงจะคาดเดาได้
เพราะตอนนี้ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ที่วางกลยุทธ์สู้คดีแบบรัดกุม ตีไปที่จุดอ่อนของ สนช. ฝ่ายจ้องถอดถอนกันแล้ว เช่น ข้อต่อสู้ของ นิคม ที่จะร้องต่อประธาน สนช. ให้อดีต ส.ว. ชุดที่แล้ว 16 คนที่ตอนนี้นั่งเป็นสนช.อยู่ ที่ก็คือพวกอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. นั่นเองเช่น สมชาย แสวงการ - พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม - นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ จะต้องถอนตัวจากการพิจารณาสำนวนคดีถอดถอนตนเอง เพราะ สนช. กลุ่มดังกล่าว ได้ไปร่วมลงชื่อและยื่นเรื่องถอดถอนตนต่อ ป.ป.ช. ซึ่งหากที่ประชุม สนช. เห็นด้วยกับข้อต่อสู้นี้หรือ สนช. ทั้งหมดในกลุ่มนี้ ขอถอนตัวไปเพื่อไม่ให้เกิดกรณีการมีส่วนได้ส่วนเสีย ก็จะทำให้เสียง สนช. ที่เป็นอดีต ส.ว. ชุดที่แล้ว ที่อยู่คนละฝ่ายกับนิคม - สมศักดิ์ หายไปจำนวนหนึ่ง หากเป็นไปตามนี้ โอกาสที่ สมศักดิ์ - นิคม จะรอดก็มีสูง ตามไปด้วย
เพราะเสียงเห็นชอบให้ถอดถอนอาจไม่ถึง 312 เสียง หรือ 3 ใน 5 ของจำนวน สนช.
โอกาสรอดของ สมศักดิ์ - นิคม หรือแม้แต่ ยิ่งลักษณ์ จึงใช่ว่าจะไม่มีเสียทีเดียว และเชื่อว่าทั้งสามคน คงงัดแผนสู้คดีออกมาสู้อีกหลายแผน เพราะดูแล้วแม้ต่อให้ ข้อต่อสู้ของนิคมที่พยายามจะตัดเสียง สนช. ออกไป 16 เสียงไม่สำเร็จ แต่การลุ้นให้เสียงถอดถอนถึง 3 ใน 5 ก็ยากพอควร ถ้าหาก “บิ๊กตู่” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ส่งสัญญาณไปยัง สนช. สายทหาร ให้เทเสียงถอดถอนก็คงยาก