xs
xsm
sm
md
lg

สนช.พฤติกรรมลับๆ ล่อๆ เรื่องถอดถอน “ยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรเพชร วิชิตชลชัย
รายงานการเมือง

อาการยึกยักของสมาชิกสภานิติบัญญัตแห่งชาติ หรือ สนช. เกี่ยวกับการเดินหน้ากระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีคิวรอการสอยอยู่ 3 สำนวน คือ

กรณี นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว.โดยมิชอบและ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประเด็นจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ที่ทำท่าว่า คนผิดจะรอด ส่วน สนช.กำลังจะจอดไม่ได้แจวต่อหากปล่อยให้คนชั่วลอยนวล

สถานการณ์ในขณะนี้ทำให้ สนช.ถูกตั้งคำถามจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพฤติกรรมลับๆ ล่อๆ ปกปิดข้อมูลกับประชาชนตั้งแต่การประชุมลับกรณีนิคม-สมศักดิ์ กว่าจะมีมติแบบฉิวเฉียดให้รับสำนวนไว้พิจารณาก็ลากยาวจนคนขาดความเชื่อมั่นไปแล้ว

กระทั่งล่าสุดยังมีประเด็นให้ทนายความยิ่งลักษณ์ใช้โต้แย้งในเรื่องการส่งเอกสารไม่ครบ 15 วันจนนำมาเป็นเหตุเรียกร้องให้เลื่อนการพิจารณาสำนวนถอดถอนยิ่งลักษณ์จากที่กำหนดประชุมในวันที่ 12 พ.ย. 57 ออกไปอีก 30 วัน โดยวิป สนช.ออกมาขานรับว่าจะให้ความเป็นธรรมด้วยการเลื่อนการประชุมออกไปตามข้อเรียกร้องเป็นวันที่ 28 พ.ย. ก็ยิ่งทำให้สังคมไทยเกิดความคลางแคลงใจในการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.มากขึ้นไปอีก

ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ สนช.ทำตัวเอง ไม่ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องอุทิศตนให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย

ถ้า สนช.ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยจริง ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ตีขลุมสร้างความสับสนจนนำไปสู่การปฏิบัติที่เกินอำนาจหน้าที่ของตนเองอย่างที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 64 กำหนดไว้ว่า “เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาที่มาจากการเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งมีมูล และได้รายงานไปยังประธานวุฒิสภาตามมาตรา 56 (1) แล้ว ให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณามีมติโดยเร็ว”

ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนถอดถอน นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์ ตามช่องทางของกฎหมาย ป.ป.ช.หน้าที่ของ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนประธานวุฒิสภา มีแนวทางปฏิบัติได้เพียงอย่างเดียวคือ “จัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณามีมติโดยเร็ว” ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 64 เท่านั้น ไม่สามารถใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้

แต่ พรเพชร กลับใช้ดุลพินิจของตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย ป.ป.ช.ด้วยการพิจารณาลงไปในสำนวนตามข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.แล้วตัดสินว่า กรณีของนิคม-สมศักดิ์ จะมีปัญหาในเรื่องฐานความผิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกเลิกไปแล้วทำให้มีปัญหาข้อกฎหมายว่าอาจจะไม่สามารถถอดถอนได้ จึงมีการนำสองสำนวนนี้ไปประชุมลับขยายกรอบเวลาที่ต้องบรรจุวาระภายใน 30 วันตามข้อบังคับออกไปอย่างไม่มีกำหนด กระทั่งมาประชุมอีกรอบลงมติว่าจะรับไว้ดำเนินการ ก่อนที่จะบรรจุวาระในการประชุมวันที่ 27 พ.ย.นี้

นับเป็นกระบวนการพิจารณาที่ผิดมาตั้งแต่ต้นไล่ตั้งแต่ พรเพชร มาจนถึงที่ประชุม สนช.ที่ไปมีมติว่าจะรับไว้ดำเนินการทั้งที่ไม่มีอำนาจ เนื่องจากตามกฎหมาย ป.ป.ช.ประธาน สนช.มีหน้าที่ต้องบรรจุสำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งมาโดยเร็วเท่านั้น จากนั้นจึงไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาสำนวนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าจะถอดถอนได้หรือไม่ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 65 ที่ระบุว่า “สมาชิกวุฒิสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งต้องกระทบโดยวิธีลงคะแนนลับ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา...”

ประเด็นก็มีอยู่เท่านี้แต่ พรเพชรและสนช.ได้ทำให้เรื่องที่ไม่มีปัญหากลายเป็นปัญหาทำเรื่องธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องสลับซับซ้อน จนน่าสงสัยว่าขาดปัญญาหรือจงใจกันแน่

ถ้า พรเพชร และ สนช.ยึดกฎหมาย ป.ป.ช.เป็นหลักนอกจากจะไม่เกิดความล่าช้าในการพิจารณาสำนวนของ นิคม-สมศักดิ์แล้ว ก็จะไม่มีประเด็นให้ยิ่งลักษณ์ใช้เป็นข้ออ้างในการขอเลื่อนการพิจารณาสำนวนถอดถอนคดีจำนำข้าวออกไปด้วยเช่นเดียวกัน

เพราะข้อโต้แย้งของทนายความยิ่งลักษณ์ คือ การไม่ส่งเอกสารก่อนการประชุม 15 วัน ซึ่งเมื่อย้อนดูกระบวนการถอดถอนจาก ป.ป.ช.มาถึงมือ พรเพชร คือ วันที่ 14 ตุลาคม 2557 ในขณะที่ พรเพชร แจกจ่ายเอกสารให้ สนช.และผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 27 ตุลาคม 2557 และนัดประชุมพิจารณานัดแรกในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557

เรื่องของเงื่อนเวลาส่งเอกสาร 15 วันตามข้อบังคับจะไม่มีปัญหาเลย ถ้า พรเพชร จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช.คือเมื่อได้รับสำนวนมาก็บรรจุโดยเร็ว ตามกรอบเวลาที่กำหนดในข้อบังคับคือ 30 วัน หากนับตั้งต้นวันที่ 14 ตุลาคม ก็จะบรรจุไม่เกินวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 เป็นเงื่อนเวลาที่ชัดเจนอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่ส่งเอกสารให้คนที่เกี่ยวข้องโดยเร็วหลังได้รับสำนวนจาก ป.ป.ช. แต่กลับทอดเวลาออกไปถึง 13 วัน ก่อนที่จะแจกจ่ายเอกสารจนเกิดการโต้แย้งอยู่ในขณะนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการถอดถอนใน สนช.ทั้งหมดทั้งคดี นิคม-สมศักดิ์และยิ่งลักษณ์ จึงมีสาเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่บิดเบี้ยวด้วยความไม่กล้าหาญของ สนช.ทั้งสิ้น

และที่สำคัญคือต้นตอของปัญหาที่กำลังจะทำให้การถอดถอนล่ม คือ คสช.ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ 50 ทิ้ง แล้วไม่เขียนกฎหมายรองรับให้คดีถอดถอนที่ค้างอยู่เดินหน้าได้ จนเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การอ้างว่าถอดถอนไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญยกเลิกไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น