ผ่าประเด็นร้อน
เริ่มเข้าสู่ไฟต์บังคับกันแล้วสำหรับเส้นทางอนาคตของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะจะมีกระบวนการถอดถอนพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง ในตอนแรกกำหนดไว้ว่าจะเป็นวันพุธที่ 12 พฤศจิกายนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติรับทราบหลังจากที่ประธาน สนช. พรเพชร วิชิตชลชัย ใช้ดุลพินิจบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเรียบร้อยแล้ว แต่ล่าสุดก็มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องเลื่อนออกไปอีก เนื่องทนายของยิ่งลักษณ์มายื่นให้เวลาออกไปอีก
อย่างไรก็ดี ก็ต้องว่ากันไปตามขั้นตอนที่เปิดช่องให้ แต่ถึงอย่างไรเมื่อพิจารณาชะตากรรมในเบื้องต้นของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีความแตกต่างไปจากกรณีของ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งสองคนนี้ถูกชี้มูลความผิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ สว.โดยมิชอบ เป็นการถูกน้องว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ และบังเอิญว่ารัฐธรรมนูญที่ทำผิดนั้นถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ฉีกทิ้งไปแล้ว ต่างจากยิ่งลักษณ์ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดจากโครงการรับจำนำข้าว ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต โดยไม่ระงับยับยั้ง ถูกร้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สรุปให้เข้าใจง่ายก็คือเป็นความผิดเกี่ยวกับกฎหมาย ป.ป.ช.ที่ คสช.ยังให้ใช้บังคับได้อยู่ ดังนั้น ในกรณีของ เธอจึงไม่ต้องมาถกเถียงดึงเกมกัยได้นานนัก อีกทั้งประธาน พรเพชร วิชิตชลชัย ก็ไม่มีทางเลือกเป็นอื่นต้องบรรจุเข้าระเบียบวาระ ซึ่งสมาชิก สนช.ก็รับทราบเท่านั้น
หลังจากสภารับทราบก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาถอดถอน หากเดินไปตามเส้นทางปกติ อาจจะมีการยื้อลากยาวไปบ้าง เต็มที่ก็คงราวๆ ต้นปี 58 ที่สนช.จะลงมติชี้อนาคตว่าจะถอดถอนหรือไม่ ตามขั้นตอนก็มีทั้งมีการแถลงของ เจ้าของเรื่องคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าได้ทำความผิดอย่างไร ทำให้เกิดความเสียหายกับชาติบ้านเมืองอย่างไรบ้าง จากนั้นก็จะเป็นฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาบ้าง อาจส่งตัวแทนหรือเจ้าตัวมาเอง เข้าสู่กระบวนการพิจาณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาเฉพาะ จนมาถึงขั้นตอนแถลงปิดคดี ก็ว่ากันมาแบบนี้แหละ ราวต้นปีหน้าอย่างที่ว่านั่นแหละ
นั่นเป็นขั้นตอนตามปกติ แต่ในความเป็นจริงถ้าจะเอากันถึงขั้นถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งทางการเมือง และถูกเว้นวรรคทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก หากพิจารณาจากเสียงของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะต้องใช้เสียงถึง 1 ใน 5 หรือ 132 เสียง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ สนช.ลงมติรับเรื่องพิจารณาถอดถอน สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นิคม ไวยรัชพานิช ที่รับจำนวน 87 ต่อ 75 เสียง เห็นแบบนี้แล้วมันก็ย่อมมองเห็นอนาคตได้ดีว่าผลจะออกมาแบบไหน นั่นคือ แทบมองไม่เห็นว่าจะมีเสียงพอจะถอดถอนใครได้เลยสักคนเดียว
ดังนั้นหากสรุปให้เห็นภาพก็คือ ไม่มีทางคาดหวังได้เลยว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นิคม ไวยรัชพานิช รวมทั้ง สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เพราะเสียงไม่พอ ขณะเดียวกันหากพิจารณาตามรูปการณ์ การรับพิจารณาถอดถอนคราวนี้เหมือนกับเป็นพิธีกรรมเพื่อลดแรงกดดันจากสังคมไปก่อนเท่านั้น เหมือนกับรู้เป้าหมายในอนาคตแล้วว่าเหลวเป๋ว
สรุปอีกทีก็คือคนพวกนี้อาจไม่ตายด้วยกระบวนการของสภา
แต่หากจะตั้งความหวังได้ก็เห็นแต่จะเป็นผลจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นกันอีกไม่กี่วันข้างหน้านี่แหละ ว่าจะเดินไปตาม “บัญญัติ 10 ประการ” ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 เพราะนอกจากมาตราดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายมาตราเช่น มาตรา 8 มาตรา 20 ในวงเล็บ 4 ที่ว่า “เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง” เป็นคุณสมบัติต้องห้าม ไม่ให้เข้าสู่สนามการเมืองตลอดชีวิต และหากพิจารณาเฉพาะตัวบุคคลทั้ง ยิ่งลักษณ์-สมศักดิ์-นิคม อาจจะรอดจากการถูกถอนเนื่องจากเสียงไม่เพียงพอ แต่ต้องไม่ลืมว่าทั้งสามคนเคยถูก ปปช.ชี้มูลความผิด ซึ่งจะเข้าข่าย มาตรา 35 (4) ที่ระบุถึง “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำทุจริตและประพฤติมิชอบ” อย่างนี้ถือว่าโป๊ะเชะไม่รอดแน่
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากจากข้อกำหนดดังกล่าวทำให้ทั้งสามคนดังกล่าวอาจจะรอดจากการถูกถอดถอนจาก สนช. แต่เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติต้องห้ามไม่ให้เข้าสู่สนามการเมืองตลอดชีวิตทำให้จบอนาคตทันที ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความสำคัญแล้วถือว่าสำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหัวใจสำคัญของ ระบอบทักษิณ หรือ ทักษิณ ชินวัตร หากเธอหมดอนาคต นั่นย่อมหมายความว่า “นอมิมี” สายตรงก็จบลงไปพร้อมกัน
ขณะเดียวกัน อย่าได้แปลกใจที่นับจากนี้จะมีการเคลื่อนไหวกันทุกทาง ทั้งข่มขู่หนักข้อขึ้นทุกวัน และเชื่อว่าเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อนั้นแหละจะได้เห็นฤทธิ์เดชกันแน่ เพราะนี่คือเดิมพันสูงจริงๆ!