ผ่าประเด็นร้อน
เริ่มขยับเปิดตัวออกมาแล้วสำหรับพลพรรคเพื่อไทย แกนนำมวลชนคนเสื้อแดงซึ่งก็คือเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร โดยคัดค้านการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติถอดถอน สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ สว.ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทั้งสองกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ได้ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องมาให้สนช.พิจารณาแล้ว
ซึ่งสนช.กำลังจะพิจารณาลงมติว่าจะมีอำนาจในการลงมติถอดถอนได้หรือไม่ แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียงกันในทางแง่มุมทางกฎหมายว่า ทำได้หรือเปล่า ในเมื่อคนพวกนี้ทำผิดรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉีกทิ้งไปแล้ว
หากพิจารณาเฉพาะด้านกฎหมายแบบเฉพาะเจาะจงล้วนๆก็อาจสรุปแบบรอดตัวไปได้หลายคน เพราะ นิคม ไวยรัชพานิช และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รวมไปถึงอดีต สส.และ สว.จำนวน39 คนที่กำลังถูก ปปช.ชี้มูลและส่งเรื่องตามมานั้นกระทำผิดเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับเก่า
แต่คนที่"น่าจะโดน"ก็คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากกว่า เพราะเธอถูกกล่าวหาและกระทำความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ยังใช้บังคับอยู่ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่บังคัลใช้อยู่ในปัจจุบันก็กำหนดให้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นสมาชิกรัฐสภา คือทำหน้าที่ทั้งเป็น สส.และสว.ในแบบ"ทูอินวัน"ดังนั้นในกรณีของ ยิ่งลักษณ์ หากพิจารณากันแบบพื้นๆแค่นี้ก็ต้องบอกว่า สนช.มีอำนาจ ในการพิจารณาถอดถอน
อย่างไรก็ดีสิ่งต้องพิจารณานอกเหนือจากนั้น โดยพิจารณาจากสาเหตุที่คนพวกนี้ต้องออกมาเคลื่อนไหวกดดันนั่นก็คือ กังวลต่อผลกระทบที่ตามมาหลังจากนี้ต่างหาก เพราะหากถูกถอดถอนจากตำแหน่งทางการเมือง แม้ว่าในเบื้องต้นพวกเขาได้พ้นจากตำแหน่งกันไปแล้วก็ตาม แต่ผลพวงหลังจากนี้สิเรื่องใหญ่ เพราะที่ผ่านมาเคยมีบรรดากูรูด้านกฎหมายเคยตั้งข้อสังเกตตรงกันโดยอธิบายให้เห็นภาพชวน"ขนหัวลุก"มาแล้ว คือจาก มาตรา 8(4) มาตรา 20(4) และมาตรา 35(4)
เริ่มจากมาตรา 8(4) ที่ระบุคุณสมบัติต้องห้ามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า"เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" ซึ่งเชื่อได้ว่าจะโยงไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะยกร่างกันใหม่จะต้องกำหนดให้ครอบคลุมไปถึง สส.สว.รวมทั้งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย หมายความว่าคนที่มีคุณสมบัติต้องห้ามแบบนี้จะถูกห้ามเข้าสู่การเมืองไปตลอดชีวิต
กลุ่มนักการเมืองที่จะต้องได้รับผลกระทบโดยตรงหากเป็นแบบนี้ก็คือพวกบ้านเลขที่ 111 พวกบ้านเลขที่ 109 ดังกล่าวข้างต้น นั่นก็หมายความว่าคนอย่าง ทักษิณ ชินวัตร บรรหาร ศิลปอาชา สุวัจน์ ลิปตพัลลภ พินิจ จารุสมบัติ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นต้น จะต้องถูกกันออกไป
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พศ.2557 ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศนี้อีกเช่นกันที่มีบทบัญญัติกำหนดกรอบบังคับการออกแบบรัฐธรรมนูญถาวรเอาไว้ในมาตรา 35 ที่เรียกกันว่าบัญญัติ 10 ประการ “The Ten Commandments” เพราะมีอยู่ 10 อนุมาตรา
ในมาตรา 35 (4) ระบุไว้ว่ารัฐธรรมนูญถาวรจะต้องมีบทบัญญัติดังนี้
"กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด"
กรอบตามมาตรา 35 (4) ตรงคำว่า “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย..” หากรวมถึงคำวินิจฉัยชี้มูลความผิดขององค์กรอิสระอย่างปปช.และกกต.ด้วยแล้ว ยังจะเป็นการตัดสิทธินักการเมืองไปได้อีกเป็นร้อยทีเดียว รวมทั้งอดีตประธานสภา 2 สภาและอดีตนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด แปลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ ป.ป.ช.มีคำสั่งชี้มูลความผิดแล้วก็จะถูกตัดสิทธิด้วยหรือไม่
ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งวางกรอบบังคับต่อเนื่องไปถึงรัฐธรรมนูญถาวรในปี 2558 มันย่อมส่งผลในทางหายนะกับพวกเขา และอย่าได้แปลกใจที่จะต้องออกมาแสดงท่าทางขัดขวางข่มขู่ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยยกเอาเรื่อง"ปรองดอง"นำหน้า และให้จับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะมีรายการเคลื่อนไหวหนักข้อกว่าเดิม ส่วนจะป่วนหรือไม่ แค่นี้ก็เห็นเค้าลางอยู่แล้ว !!