ชาวบ้าน 5 จังหวัดยื่นหนังสือ กสม.ขอตรวจสอบคัดค้านร่าง พ.ร.บ.แร่ หลัง ครม.เห็นชอบ ชี้่มิชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิ หลังเอกชนทำเหมืองในที่ดินชาวบ้าน แถมข้าราชการออกใบรับรองให้ทำประโยชน์ยกข้ออ้าง ปชช.ครองพื้นป่าจัดการ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้สำรวจ สงสัย รมว.อุตฯ เพิ่งนั่งเก้าอี้แต่ทำไมอนุมัติเร็ว มีก๊วนการเมืองแฝงหรือไม่ ชี้กฎหมายใหม่ทำให้อนุมัติยิ่งง่าย ด้าน “หมอนิรันดร์” ส่งคนแจ้งความหลังพบใบปลิวกุจ้างคนมาก่อม็อบ
วันนี้ (29 ต.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อเวลา 09.00 น. ตัวแทนชาวบ้าน 5 จังหวัดประกอบด้วย พิจิตร พิษณุโลก สระบุรี ลพบุรี และเพชรบูรณ์ ประมาณ 50 คน นำโดยนางวันเพ็ญ พรหมรังสรรค์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิ เพื่อขอให้ตรวจสอบคัดค้านร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2557 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ต.ค. เนื่องจากเห็นว่าไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย ละเมิดสิทธิของประชาชน
โดยนางวันเพ็ญกล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านใน 5 จังหวัด เดือดร้อนจากการที่บริษัท อัคราไมนิ่ง หรืออัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้าทำการสำรวจพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในที่ดินของชาวบ้าน โดยได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการบางแห่งออกใบรับรองเข้าทำประโยชน์ให้กับบริษัท โดยอ้างว่าที่ดินที่ชาวบ้านครอบครองมาแต่บรรพบุรษนั้นเป็นพื้นที่ป่า และเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วบริษัทดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรมให้เข้าทำการสำรวจพื้นที่ รวมถึงยังไม่ได้รับประทานบัตรเลย
นางวันเพ็ญยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า รมว.อุตสาหกรรมเพิ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่นาน แต่ทำไมจึงรีบอนุมัติประทานบัตรกับให้บริษัทเอกชนดังกล่าวจำนวนกว่า 100 แปลง เป็นเพราะมีแรงผลักดันจากกลุ่มการเมืองบางกลุ่มหรือไม่ เนื่องจากหากร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่บังคับใช้ก็จะไม่สามารถย้อนหลังไปเอาผิดกับการสำรวจและการได้รับประทานบัตรที่ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับปัจจุบันได้ อีกทั้งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ยังระบุให้การอนุมัติประทานบัตร เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด และอบต.แทนรัฐมนตรี ยิ่งจะทำให้การอนุมัติทำได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ก็พบว่ามีการเคลื่อนไหวของส่วนราชการบางแห่งอย่างผิดปกติ เช่น กรมป่าไม้ประกาศเวนคืนที่ดินของชาวบ้านโดยอ้างว่าที่ดินที่ชาวบ้านครอบครองเป็นพื้นที่ป่าตามมาตรา 4 (1) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่รู้กันของชาวบ้านว่าบริษัทเอกชนต้องการเข้ามาทำการสำรวจสายแร่ ดังนั้นเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการนำไปดำเนินการให้เอกชนประมูลเพื่อเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งต่อไปก็จะทำให้แร่กลายเป็นสิทธิของรัฐร่วมกับบริษัทเอกชนโดยผ่านการประมูล
ด้านนายคำเพลิน บุญธรรม ชาวบ้านหมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กล่าวว่า ที่ดินของตนเองจำนวน 9 ไร่ซึ่งบรรพบรุษใช้ทำกินมากว่า 40 ปี ปลูกต้นสักและยูคาลิปตัส โดยเสียภาษีบำรุงท้องที่มาตลอด แต่เมื่อปีต้นปี 2557 บริษัทเอกชนกลับใช้รถแมคโครเข้าไถที่ดินทำลายต้นไม้ที่ปลูกและไล่คนงานออกโดยอ้างว่าได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งตนไปร้องเรียนก็อ้างว่าที่ดินตรงนี้เป็นของรัฐ ไม่ใช่ที่ดินของตนเอง
ขณะที่ นพ.นิรันดร์กล่าวว่า การมาร้องเรียนของชาวบ้านครั้งนี้ถือเป็นการแสดงสิทธิในการมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพย์สินป่า ลุ่มน้ำ ทะเลชายฝั่ง สินแร่ ที่เป็นของแผ่นดินและเป็นของประชาชน โดยการเสนอนโยบายและกฎหมาย และเป็นการยืนยันว่าสิทธิชุมชนที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 67 มีอยู่จริง ไม่ได้มาเพื่อประท้วง หรือใช้ความรุนแรง และไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อกฎอัยการศึก ทาง กสม.ก็จะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อไป
“ยืนยันว่าตรงนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือมีความขัดแย้งรุนแรงแต่เกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชน ต้องยอมรับว่าทรัพยากรธรรมชาติ ป่า ลุ่มน้ำ สินแร่ ทรัพยากรชายฝั่งไม่ใช่สมบัติของรัฐบาล หรือรัฐมนตรีที่มาเดี๋ยวก็ไป แต่เป็นสมบัติของประชาชน 60 ล้านคน ย่อมต้องมีส่วนร่วมที่จะบอกว่าทองคำที่มีอยู่ที่พิจิตร ลพบุรี เลย เราควรจะจัดการอย่างไร ไม่ใช่ให้เอกชนมาจัดการโดยที่ประชาชนพื้นที่ไม่ได้อะไรเลย” นพ.นิรันดร์ กล่าว
นพ.นิรันดร์ยังกล่าวด้วยว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความในฐานะสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อสถานีตำรวจทุ่งสองห้อง เนื่องจากพบว่ามีการเผยแพร่ใบปลิวข้อความและใบเสร็จรับเงินในพื้นที่ จ.ลำปาง ระบุว่า กรรมการสิทธิจ่ายเงินให้กับชาวบ้านตำบลบ้านแหง จ.ลำปาง เป็นค่าประสานงานมวลชนจำนวน 12,000 บาท และค่าเดินทางให้กับชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหงใช้เดินทางไปอ.แม่เมาะจำนวน 150 คน เป็นเงิน 75,000 บาท โดยใบเสร็จมีการระบุชื่อบุคคลชัดเจน ซึ่งเมื่อตรวจสอบชื่อดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน กสม.แล้วไม่พบว่ามีชื่อคนดังกล่าว การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการใส่ความทำให้สำนักงานเกิดความเสื่อมเสียชื่อเสีย
“กรณีนี้เป็นเรื่องที่ผมได้ลงไปตรวจสอบเหมืองถ่านหิน ลิกไนต์ และตอนนี้ได้ทำรายงานสรุปเสร็จเตรียมที่จะเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าการเดินไปตรวจสอบและมีชาวบ้านมาให้ข้อมูล หมอนิรันดร์ ไม่จำเป็นต้องให้เงินชาวบ้านๆ มากันเอง ชาวบ้านมีตังค์ ข่าวดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง เป็นการกุข่าวทำลายความน่าเชื่อถือของ กสม. ยิ่งขณะนี้มีกระแสยุบกสม.ด้วยก็ไม่รู้ว่า เป็นการสร้างกระแสหรือไม่” นพ.นิรันดร์กล่าว