ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. พูดถึงการเยือนประเทศพม่า อย่างเป็นทางการ โฟกัสที่ ความคืบหน้าของ “เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย”
"ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้น เป็นเรื่องของพม่า เพราะเป็นประเทศของเขา ไทยเป็นเพียงประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องทำเท่าที่ทำได้ เพราะเป็นผลประโยชน์ของทุกประเทศโดยเฉพาะในอาเซียน ที่จะสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ พม่าจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจในโครงการต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีการลงทุนร่วมกันทั้งเฟส 1 เกี่ยวกับการก่อสร้างถนน และเฟส 2 ที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่"
"รัฐบาลยืนยันว่าเราทำด้วยความโปร่งใส หากมีการลงทุนใดก็ตาม ในส่วนของเราจะต้องตรวจสอบความทุจริตให้ได้ อย่าเอาของเดิมกับของใหม่มาปนกัน ของผมหลังวันที่ 22 พฤษภาคม ส่วนก่อนวันที่ 22 อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ว่ากันไป ไม่ไปก้าวล่วงตรงนั้น ส่วนของผมต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน เราไม่มีอำนาจไปลงโทษ กรุณาเข้าใจ"พล.อ.ประยุทธ์กล่าวไว้
กลับประเทศไทย ไม่กี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสพบปะทวิภาคีกับพล.อ. วิชัย กุมาร สิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เชิญชวนอินเดีย ให้เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการฯ
ขณะที่นายชิเกะคะสุ ซะโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ก็เข้าพบม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ทันทีภายหลังนายกฯไทยกลับมาจากการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป พร้อมย้ำว่า ทางญี่ปุ่นยังให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนในเฟสที่ 2 ของโครงการฯ ซึ่งไทยไม่ขัดข้อง แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางการพม่า
“ญี่ปุ่นยังสนใจที่จะตั้ง “สำนักงานทางการค้าภูมิภาคในประเทศไทย” เพื่อเป็นฐานให้บริษัทแม่จากญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนติดต่อประสานงาน”
อีกด้านสำนักข่าวต่างประเทศอ้างบทสัมภาษณ์ของ กระทรวงแรงงาน การจ้างงานและประกันสังคมของพม่า เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะดำเนินการโครงการวิจัยด้วยทุน 700,000 ดอลลาร์ ก่อนเข้าร่วมพัฒนาโครงการ ซึ่งโครงการวิจัยทั้งหมด 3 โครงการ มีกำหนดเริ่มในปลายเดือนตุลาคมนี้ และคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือน มีนาคม2558 ในวัตถุประสงค์ที่จะหาวิธีดำเนินการพัฒนาโครงการอุตสาหกรรม และพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ของพม่า
มิติการลงทุนกำลังเดินหน้า ทั้งฝ่ายไทย พม่า และญี่ปุ่น
อีกฝั่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับชาวพม่าจากทวาย พูดคุยกันเพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของชาวทวาย ประเทศพม่า กรณีได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่ประเทศไทยร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงในการพัฒนา มีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการ กสม. พร้อมด้วย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอนุกรรมการสิทธิชุมชนใน กสม.
วันนั้นมีตัวแทนจาก กระทรวงการต่างประเทศ สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ทวาย เอสดีแซด ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (SPV) และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด
ขณะที่ บริษัทอิตาเลี่ยนไทย หรือ ITD ซึ่งได้รับเชิญให้มาร่วมชี้แจงครั้งนี้ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้แล้ว”
มีการตั้งข้อสังเกต ว่า “อาจจะละเมิดสิทธิมนุษยชน”
เพราะตลอดโครงการ ตั้งแต่ เริ่มโครงการปี 2551 ต่อเนื่อง 2553 จนมาถึงปัจจุบัน ตามข้อมูลจากเวปไซด์ “คนชายขอบ” http://transbordernews.in.th ระบุไว้ว่า มีการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ต่ออภิมหาโครงการนี้ รวมถึงมีการเผยแพร่รายงานผลการศึกษาวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ “โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย” โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าใจถึงกระบวนการพัฒนาการของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และสิทธิของชาวบ้าน ว่าได้รับการปกป้องและเคารพโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการมากน้อยเพียงใด (http://transbordernews.in.th/home/?p=5589 /รายงานผลการศึกษาวิจัย “โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย”)
ตอนหนึ่งของผลการศึกษาวิจัย ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยและพม่า ควรร่วมมือดำเนินการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยความโปร่งใส มีความสม่ำเสมอ และทันท่วงทีต่อการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการยึดครองที่ดินและการบังคับขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดิน อันเป็นผลสืบเนื่องมากจากกิจกรรมหรือการดำเนินการของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่ดำเนินงานโดยบริษัทต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย และพม่า
ตามข่าวล่าสุด ภาคประชาชนในนาม สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association) ได้ทำหนังสือและออกแถลงการณ์ เพื่อยื่นต่อพล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างเดินทางเยือนพม่า เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม
โดยแถลงการณ์ระบุว่า การที่รัฐบาลไทยจะเดินหน้าสานต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของรัฐบาลชุดเดิมในทันทีเช่นนี้ จะนำมาสู่ปัญหามากมาย มีการเรียกร้องให้ทั้งสองรัฐบาลระงับการรื้อฟื้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจนกว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการจะได้รับการเยียวยาแก้ไขและหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสากลถูกนำมาใช้
ตอนหนึ่ง ระบุว่า จากข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับงานในอนาคตที่ต้องดำเนินการ ประมาณการณ์ว่าชาวบ้านจาก 20-36 หมู่บ้าน (ประมาณ 4,384-7,807 ครัวเรือน หรือ 22,000-43,000 คน) จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยว เนื่อง เช่น นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ ถนนเชื่อมต่อ อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องถูกโยกย้ายจากที่ตั้งโครงการ
กลับมาที่ประชุมร่วมระหว่าง ชาวพม่าจากทวาย กับอนุกรรมการ กสม. ตัวแทนจากสมาคมพัฒนาทวายได้ชี้แจงว่า โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายดำเนินการด้วยกระบวนการไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนพื้นฐานหลายประการ โดยชุมชนเข้าถึงข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและการอพยพได้อย่างจำกัด ไม่มีการปรึกษาหารือกับผู้ได้รับผลกระทบ มีผู้ให้ข้อมูลเพียง 27% ชาวบ้านเข้าร่วมประชุมเพียง 82% และไม่ได้มีส่วนร่วมในการพูดคุย และมีเพียง 8% ที่ยินยอมให้รัฐบาลก่อสร้างก่อนโครงการเริ่มขึ้น ขณะเดียวกันได้มีการนำเสนอแนะเชิงนโยบายให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวด้วย
ตัวแทนชาวบ้านทวายซึ่งได้รับผลประทบ ส่วนใหญ่อ้างว่าไม่มีใครเข้ามาคุยเรื่องการจ่ายค่าชดเชย ทั้งที่ดินในการสร้างถนน แถมยังถูกถูกสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ โดยทางบริษัทมีการเสนอว่าจะจ่ายเงินให้ แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับเงินชดเชย แถมที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการประชุมรับทราบข้อมูลการก่อสร้างและการดำเนินโครงการใดๆ การก่อสร้างเป็นเรื่องระหว่างนักธุรกิจกับรัฐบาลทั้งสองประเทศ
ตัวแทนจากสภาพัฒน์ ระบุว่าโครงการทวาย แบ่งออกเป็นหลายส่วน โดยระยะแรกนั้นมีการลงนามร่วม (MOU) กันระหว่างรัฐบาลไทย ทุนไทย และรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี 2555 โดยมีการตั้งคณะกรรมการระดับสูงร่วมกัน และมีคณะกรรมการย่อยอีกหลายส่วนเพื่อดำเนินการ ส่วนแรก คือ เรื่องการสร้างถนนเชื่อมต่อชายแดนไทย อุตสาหกรรมเล็ก ท่าเรือน้ำลึก และระบบคมนาคม ระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการใหญ่
ต่อมาเมื่อ ปี 2556 ได้มีการโอนข้อมูลให้กับบริษัท ทวาย เดเวลอปเมนท์ ลงทุนร่วมกับบริษัทอิตาเลี่ยนไทย (ITD) และเชิญนักลงทุนกับญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุน โดยที่คณะกรรมการระดับสูงที่ตั้งขึ้นมามีหน้าที่ให้คำปรึกษาและคัดเลือกนักลงทุนรายย่อยอื่นๆ ซึ่งมีการทำถนนบางส่วน โดยมี ITD ดำเนินการก่อสร้าง หลังจากนั้น ITD แจ้งกับสภาพัฒน์ ฯ และผู้ร่วมลงทุนว่าหมดงบประมาณในการดำเนินการ จึงระงับโครงการไว้
“ส่วนสัญญาที่ทำไว้นั้นเป็นแค่ ยังอยู่ในขั้นตอนของการเสนอเงื่อนไขการลงทุน ยังไม่มีการสร้างสัญญาสัมปทานเบ็ดเสร็จร่วมกัน จึงยังไม่ได้ดำเนินการมากมาย”
ส่วนรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ : EIA ) นั้น ITD ดำเนินการจัดหานักวิจัยมาดำเนินการพื้นฐานโครงสร้างการรองรับของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น การจ่ายค่าชดเชยที่ชาวบ้านเรียกร้อง สภาพัฒน์ฯ หรือรัฐไทย จึงไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าใครจะรับผิดชอบ
ตัวแทนจากสำนักงานร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อปี 2553 กรณีที่ทาง ITD มีการเซ็นสัญญาดำเนินการไปบ้างแล้วนั้น เป็นความตกลงกันระหว่างรัฐบาลพม่ากับบริษัทฯ ไม่ได้มีการตกลงระดับมหภาค เรื่องการจ่ายค่าชดเชย ต่อมาเมื่อยกเลิกสัญญาปี 2556 และกรณีการลงทุนใหม่ยังไม่ทราบว่าใครจะมารับผิดชอบ เพราะยังไม่มีการทำสัญญาใหม่กับบริษัทใหม่ ดังนั้นกรอบการรับผิดชอบจึงยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจน แต่คิดรัฐบาลพม่าที่มีการลงนามร่วมกัน น่าจะมีมาตรฐานสากลในการรับผิดชอบประชาชนของเขาเอง
ดร.กัลยา สุนทรวงศ์สกุล นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมทำอีไอเอ กล่าวว่า เรื่องการศึกษาผลกระทบมีการดำเนินการ 2 ครั้งในระยะแรก คือ การศึกษาผลกระทบจากการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างชายแดนไทยและโครงการทวาย (Road link) ทั้งด้านสังคม คุณภาพชีวิต โดยมีการรายงาน ITD รับทราบไปแล้ว ถึงข้อเสียและผลที่อาจเกิดขึ้น
โดยเบื้องต้นพบว่าการตัดถนนนั้นไม่ผ่านกติกาของธนาคารโลก (world Bank ) โดยมีเสียงต่อต้านจากชาวบ้านและมีการร้องเรียนข้อกังวลมาอย่างต่อเนื่อง จากการลงพื้นที่ศึกษาคุณภาพชีวิตและข้อกังวลระยะยาว ทราบด้วยว่า ชาวบ้านไม่ให้การยอมรับความเจริญของถนนที่อาจเกิดขึ้น เพราะส่วนมากชาวทวายพอใจกับการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม และยังกลัวว่าจะสูญเสียที่ดินการเกษตรอย่างมาก ทางทีมวิจัย ได้รายงานผลกระทบไปแล้ว (อ่านรายงานผลการศึกษาวิจัย “โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย”)
ขณะที่ นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า กสม.จะดำเนินงานในฐานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ตามปฏิญญาข้อตกลงร่วมกัน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1 สรุปแล้วว่ามีผลกระทบในพื้นที่จริง ทั้งนาข้าว ไร่หมาก นาเกลือ และประมง โดยจะทำหนังสือแจ้งต่อนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และบริษัท ITD ให้รับผิดชอบและเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยจะแจ้งให้ทราบภายใน 2 สัปดาห์
และ 2 ทำข้อเสนอให้รัฐบาลมองการพัฒนาในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ในการพัฒนาทุกด้าน ไม่ใช่การพัฒนาแค่ด้านเศรษฐกิจ และการลงทุน และจากกรณีการพบรัฐบาลพม่าของนายกฯ ต่อกรณีการเดินหน้าโครงการทวายนั้นน ทาง กสม.อยากเสนอให้เร่งศึกษา EHIA และ EIA ให้เรียบร้อย ตรงตามมข้อเท็จจริงและจัดให้มีร่วมภาคพื้นที่ ทุกๆ การลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยและพม่า
ทั้งหมดเป็นข้อมูลอีกด้าน ที่ไม่ใช่แค่มิติการลงทุน ใน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในยุคพล.อ. ประยุทธ์