xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจ “รัฐบาลประยุทธ์” จะเดินตามรอยทุนพลังงาน หรือสร้างทางใหม่เพื่อประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

เดินหน้าเปิดศึกกับภาคประชาชนเต็มรูปแบบแล้ว สำหรับ ณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการประกาศให้มีการยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยอ้างความจำเป็นต้องเร่งสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต

“การที่ไทยจะเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ รวมถึงการจัดหาจากต่างประเทศสิ่งสำคัญก็คือ จะต้องให้ราคาที่จะจัดหาและนำเข้ามาคุ้มค่าและคุ้มทุน อย่างขณะนี้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ เอ็นจีวี ราคาปัจจุบันก็ต่ำเกินไป ไม่จูงใจจัดหาและนำเข้ามา เราก็ต้องชี้แจงเพื่อไม่ให้ขัดขวางการปรับราคาทั้งหลาย จะได้ไม่ต้องมาโต้เถียงกัน เพราะต้องเป็นราคาที่เป็นธรรม เอื้อให้มีการจัดหา และนำเข้ามาได้นอกเหนือจากที่เราประหยัดใช้แล้ว”

จากเหตุผลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า “ณรงค์ชัย” ไม่มีความคิดที่จะรอข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ที่อยู่ในระหว่างการวางกรอบกำหนดแนวทางการทำงานปฏิรูปในแต่ละด้าน โดยยังมิได้ลงรายละเอียดแม้แต่เรื่องเดียว แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มี ณรงค์ชัย เป็นหัวหอกขับเคลื่อน กลับเหยียบคันเร่งจนมิด ทั้งที่การจัดทำแผนที่ยังไม่สำเร็จ

นั่นย่อมตอกย้ำว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีธงในใจอยู่แล้วว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานอย่างไร

หากพิจารณาจากการบริหารตลอดห้าเดือนที่ผ่านมาก็จะเห็นทิศทางว่า นอกจากจะไม่แตกต่างอะไรกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ว รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเข้ามาต่อยอดในสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการขยับราคาพลังงานทั้งยวง การให้สัมปทานไปจนถึงการเจรจากับกัมพูชาในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งเดินเครื่องไปพร้อม ๆกันอย่างเร่งรีบ ไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนกับประชาชน ภาพที่ปรากฏจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องจับตามอง และตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

เพราะที่หวังไว้ว่า ยุคทหารเรืองอำนาจจะเข้ามาปัดกวาดเช็ดถูบ้านเมืองให้สะอาดสะอ้านนั้น อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวังไว้


สิ่งที่คนไทยควรหันไปมองย้อนดู คือ ในยุครัฐบาลขิงแก่ที่เกิดหลังการรัฐประหารปี 2549 มีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับนโยบายพลังงานของไทย และนโยบายเหล่านั้น ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม หรือเป็นการขยายเครือข่ายอำนาจทุนเข้าครอบงำกลไกรัฐทั้งระบบ จนมีแต่ผลประโยชน์เอกชนเข้ามาทับซ้อนสิทธิของประชาชน ที่ถูกเบียดบังไปโดยไม่ทันรู้ตัว

ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นช่วงเวลาที่ต้องมีการแบ่งแยกทรัพย์สินจากปตท.คืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติ จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่การคืนทรัพย์สินที่กำหนดหลักการ และนำเสนอเข้า ครม.ในขณะนั้น โดย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน ทำให้รัฐได้ท่อก๊าซคืนมูลค่าเพียงแค่กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจนถึงวันนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยังทวงถามติดตาม เนื่องจากการคืนสมบัติชาติยังไม่ครบถ้วน

ในขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ว่า นอกจากคืนทรัพย์สินไม่ครบแล้ว ปตท.และเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีพฤติกรรมสมคบกันประพฤติมิชอบในการรายงานเท็จต่อศาลปกครอง ทำให้ได้ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าว ไม่ได้รับการรับรองจาก สตง.


นอกจากนี้ รัฐบาลในยุค คมช.ยังมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 ลดหย่อนค่าภาคหลวงปิโตรเลียม แก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5 และ 6) พ.ศ. 2550 ออก พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งกฎหมายทั้งหมดมิได้มีเนื้อหาในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ แต่กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนพลังงานโดยเฉพาะ ปตท.

ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนจากการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี มีอำนาจให้สัมปทาน และลดหย่อนค่าภาคหลวงปิโตรเลียม โดยให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียม มีอำนาจให้โอนข้อผูกพันระหว่างแปลงสำรวจ หมายเลขที่ G6/50 G7/50 และ G8/50 ซึ่งเป็นของกลุ่มบริษัท ปตท.สผ.

รัฐบาลในขณะนั้น ยังมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 อนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ให้ต่ออายุสัมปทานแหล่งพลังงานในอ่าวไทยออกไปอีก10 ปี ให้กับกลุ่มบริษัทน้ำมันสองบริษัท ต่อมามีพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งยูโนแคล 123 ระหว่าง ปตท.กับกลุ่มผู้ขายก๊าซ (ปตท.สผ./เชฟรอน/มิตซุย ออยส์) โดยมีการรวมสัญญายูโนแคล 1 และ 2/3 ที่มีอยู่เข้าเป็นฉบับเดียวกัน

นอกจากนี้ยังให้กระทรวงพลังงานดำเนินการออกสัมปทานปิโตรเลียมของแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติมอีก 4 ฉบับ โดยให้อำนาจสิทธิขาด กับอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นผู้กำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจ จากนั้นก็มีพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากบริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือโครงการอาทิตย์ระหว่าง ปตท.กับ ปตท.สผ.

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มีความรีบเร่งในการบริหารจัดการเรื่องสัมปทานในช่วงเวลาที่การตรวจสอบทำได้ยาก เนื่องจากเป็นสถานการณ์หลังรัฐประหาร อีกทั้งประชาชนก็มิได้มีโอกาสติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ทำให้รัฐบาลดำเนินการได้อย่างสะดวกสบาย ไม่แตกต่างจากสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังฉกฉวยโอกาสเร่งรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 อยู่ในขณะนี้ โดยปราศจากข้อมูลที่ชัดเจนในการหักล้างคำโต้แย้งของภาคประชาชน ที่ระบุว่า การดำเนินการในรูปแบบเดิมเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนพลังงาน มากกว่าที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งมี ปิยสวัสดิ์ เป็น รมว.พลังงาน ยังให้ความเห็นชอบแผนแม่บทระบบส่งท่อก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544-2554 ส่งผลให้มีการจัดทำคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ และอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติใหม่ เปิดโอกาสให้ ปตท. ขยายอายุการใช้งานทางบัญชีทรัพย์สินของระบบท่อส่งก๊าซจาก 25 ปี เป็น 40 ปี และโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 3 จาก 15 ปี เป็น 25 ปี หน่วยที่ 4 จาก 15 ปี เป็น 20 ปี ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของ ปตท. พุ่งสูงขึ้นกว่าแสนล้านบาท โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

ในขณะเดียวกัน ยังมีการอนุมัติให้เพิ่มอัตราค่าบริการระบบท่อจาก 19.74 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 22.57 บาทต่อล้านบีทียู ทำให้คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ในขณะที่ปตท.เก็บกินสมบัติชาติที่ไม่ยอมคืนให้รัฐอย่างหน้าตาเฉย โดยมีอำนาจรัฐ และกลไกราชการ เป็นผู้จัดสำรับตั้งโต๊ะให้

ความไม่ถูกต้องอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลสุรยุทธ์ คือ การแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 ที่กำหนดว่า กรรมการของรัฐวิสาหกิจ ต้องไม่เป็นกรรมการ หรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดสรรหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานผู้ร่วมทุน หรือผู้มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เว้นแต่เป็นประธานกรรมการ หรือผู้บริหาร โดยการมอบหมายของรัฐวิสาหกิจ

การเปิดช่องของกฎหมายดังกล่าว ทำให้ข้าราชการไปเป็นกรรมการในบริษัทลูกของ ปตท. จนเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ข้าราชการไม่รักษาผลประโยชน์ชาติและประชาชน แต่มุ่งแสวงหากำไรให้กับ ปตท. ด้วยการกำหนดนโยบายเอื้อให้กับ ปตท. โดยอ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่กำไรที่ได้กลับคืนสู่รัฐเพียงแค่ 51% ที่เหลือกลายเป็นของผู้ถือหุ้น

เพราะนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีการแก้ไขในปี 2550 เอื้อให้เกิดการใช้ดุลพินิจตีความเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานทำให้มีการอาศัยช่องว่างนี้ สร้างสิทธิพิเศษให้กับ ปตท.ที่มีสภาพเป็นบริษัทกึ่งรัฐกึ่งเอกชน แต่คนที่เสียประโยชน์คือ คนไทยทั้งชาติ

เมื่อมาถึงยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องพิสูจน์กันว่าจะเดินตามรอยเท้าทุนพลังงานที่กอบโกยกันอย่างเต็มที่หลังการรัฐประหาร หรือจะสร้างทางเดินใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น